บริษัทผู้ร้อง เป็นผู้รับโอนสินทรัพย์มาจากโจทก์ ตาม พ.ร.ก. บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมาย และได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งคำร้องว่า “ผู้ร้องสวมสิทธิเข้ามาตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ มาตรา 7” ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทุกคนทราบการขายทอดตลาด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดโดยไม่แจ้งให้ผู้ร้องทราบ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7342/2552
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์
บริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด กับพวก ผู้ร้อง
พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องร้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีในศาลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ดังกล่าวเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน... และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้ว ก็ให้สวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น” ดังนั้น เมื่อผู้ร้องที่ 1 ได้รับโอนสินทรัพย์มาจากโจทก์แล้ว ผู้ร้องที่ 1 ย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมาย แม้ผู้ร้องที่ 1 จะไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิต่อศาลชั้นต้น แต่ก็ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติกำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อได้รับคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งให้ทราบซึ่งคำสั่งศาลและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนหรือโดยประการอื่น เมื่อผู้ร้องที่ 1 รับซื้อสินทรัพย์มาแล้ว การขายทอดตลาดได้ราคาต่ำหรือสูงย่อมมีผลต่อการได้รับชำระหนี้ของผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นสิทธิโดยชอบที่ผู้ร้องที่ 1 จะเข้ามาดูแลรักษาผลประโยชน์ของตนเองในวันขายทอดตลาด ถือว่าผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทราบถึงสิทธิของผู้ร้องที่ 1 แล้วก่อนวันขายทอดตลาด เพราะได้ความว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้สั่งคำร้องขอสวมสิทธิของผู้ร้องที่ 1 ที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า “ผู้ร้องสวมสิทธิเข้ามาตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ มาตรา 7” จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทุกคนรวมทั้งผู้ร้องที่ 1 ทราบ หาจำต้องรอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สวมสิทธิหรือมีคำสั่งศาลแจ้งมาเสียก่อนไม่ เพราะกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้แจ้งแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียจากทางทะเบียนหรือโดยประการอื่น กรณีไม่มีข้อยกเว้นตามกฎหมายไม่ต้องแจ้งกำหนดวันนัดขายทอดตลาดแก่ผู้ร้องที่ 1 ทราบ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งวันนัดขายทอดตลาดแก่ผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 306 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี และอาจต้องได้รับความเสียหายจากการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ 8,342,465.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,778,399.97 บาท นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวงเงิน 1,508,827.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 900,000 บาท นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จด้วย โดยจำเลยทั้งสามจะชำระหนี้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าเดือนละ 100,000 บาท และจะชำระให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน หากผิดนัดให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 139858, 139859 และ 92843 แขวงห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) เขตห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แทน ถ้าได้เงินไม่ครบให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขึ้นศาลในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนแก่โจทก์พร้อมค่าทนายความ 10,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดี ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดแก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปในราคา 3,630,000 บาท
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด
ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างไต่สวน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขายทอดตลาดว่า เป็นไปตามรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีลงวันที่ 26 มกราคม 2548 และคู่ความแถลงสละประเด็นข้อพิพาทอื่น โดยขอให้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งกำหนดวันนัดขายทอดตลาดแก่ผู้ร้องที่ 1 หรือไม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ค่าคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2547 โดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดใหม่ ให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย คืนเงินค่าซื้อทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ให้ครบถ้วน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งกำหนดนัดวันขายทอดตลาดแก่ผู้ร้องที่ 1 ก่อนทำการขายทอดตลาดหรือไม่ เห็นว่า พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องร้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ดังกล่าวเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน... และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้ว ก็ให้สวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น” ดังนั้น เมื่อผู้ร้องที่ 1 ได้รับโอนสินทรัพย์มาจากโจทก์แล้ว ผู้ร้องที่ 1 ย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมาย แม้ผู้ร้องที่ 1 จะไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิต่อศาลชั้นต้น แต่ก็ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติกำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อได้รับคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งให้ทราบซึ่งคำสั่งศาลและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนหรือโดยประการอื่น เมื่อผู้ร้องที่ 1 รับซื้อสินทรัพย์มาแล้ว การขายทอดตลาดได้ราคาต่ำหรือสูงย่อมมีผลต่อการได้รับชำระหนี้ของผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นสิทธิโดยชอบที่ผู้ร้องที่ 1 จะเข้ามาดูแลรักษาผลประโยชน์ของตนเองในวันขายทอดตลาด ถือว่าผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทราบถึงสิทธิของผู้ร้องที่ 1 แล้วก่อนวันขายทอดตลาด เพราะได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้สั่งคำร้องขอสวมสิทธิของผู้ร้องที่ 1 ที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า “ผู้ร้องสวมสิทธิเข้ามาตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ มาตรา 7” จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทุกคนรวมทั้งผู้ร้องที่ 1 ทราบ หาจำต้องรอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สวมสิทธิหรือมีคำสั่งศาลแจ้งมาเสียก่อนไม่ เพราะกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้แจ้งแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียจากทางทะเบียนหรือโดยประการอื่น กรณีไม่มีข้อยกเว้นตามกฎหมายไม่ต้องแจ้งกำหนดวันนัดขายทอดตลาดแก่ผู้ร้องที่ 1 ทราบ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งวันนัดขายทอดตลาดแก่ผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 306 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี และอาจต้องได้รับความเสียหายจากการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำร้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง จึงชอบที่ศาลจะต้องมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าว และให้ขายทอดตลาดใหม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ แต่ไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
( สมชาย จุลนิติ์ - มนตรี ยอดปัญญา - ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์ )
ศาลจังหวัดหลังสวน - นายโสภาค วงศ์อนันต์กิจ
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายภานุวัฒน์ ศุภะพันธ์