สัญญาซื้อขายอาจบังคับได้ตามบทกฎหมายว่าด้วยตัวแทน

การซื้อขายอาจบังคับได้ตามบทกฎหมายว่าด้วยตัวแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1137/2534

การที่ ศ. ซึ่งเคยเป็นกรรมการบริษัทโจทก์ลงชื่อในสัญญาซื้อขายโดยโจทก์ยอมรับเอาผลของนิติกรรมที่ ศ.ลงชื่อเป็นผู้ซื้อตลอดมามิได้ทักท้วงเท่ากับโจทก์ได้รับรู้ให้ ศ. เชิดตัวเองเพื่อให้จำเลยที่ 2 หลงเชื่อว่าเป็นตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขายนั้นแม้การลงชื่อของ ศ. ก็ตาม

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2524 ถึงวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2525 จำเลยทั้งสองร่วมกันสั่งซื้ออาหารไก่ไปจากโจทก์เป็นเงินจำนวน 1,725,105 บาท โจทก์ส่งมอบอาหารไก่ให้แก่จำเลยทั้งสองเรียบร้อยแล้วจำเลยทั้งสองตกลงว่าจะชำระเงินค่าอาหารไก่ให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสองได้รับอาหารไก่ไปจากโจทก์แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินค่าอาหารไก่นับจากวันถึงกำหนดชำระเงินจนถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน237,200 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน1,962,305 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,962,305 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน 1,725,105 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่าค่าอาหารไก่ที่โจทก์ฟ้องไม่ถูกต้อง ความจริงค่าอาหารไก่มีเพียงจำนวน 1,716,390 บาท เท่านั้น และโจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 2 ปี คดีขาดอายุความแล้ว แต่อย่างไรก็ตามค่าอาหารไก่ตามฟ้องตกอยู่ในบังคับข้อตกลงและเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายลูกไก่และไก่กระทงฉบับลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์2524 ซึ่งโจทก์ทำไว้กับจำเลยที่ 2 มีข้อตกลงกันว่าจำเลยที่ 2 จะต้องซื้ออาหารไก่จากโจทก์ และโจทก์จะต้องซื้อไก่ซึ่งจำเลยที่ 2 เลี้ยงโตแล้วไปจากจำเลยที่ 2แล้วหักกลบลบหนี้กันไป จำเลยที่ 1 ไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 รับอาหารไก่ไปจากโจทก์จริงแต่มีข้อตกลงกันตามสัญญาฉบับลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2524ซึ่งโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทำขึ้น มีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 2จะต้องซื้อลูกไก่จากโจทก์แต่ผู้เดียวไปเลี้ยงไก่โต เป็นไก่เนื้อแล้วขายให้แก่โจทก์แต่ผู้เดียว เงินค่าไก่ที่ขายให้โจทก์จะหักกลบลบหนี้กันกับเงินค่าอาหารไก่ซึ่งจำเลยที่ 2ซื้อไปจากโจทก์ ค่าอาหารไก่ตามฟ้องโจทก์คิดผิดเกินไป8,715 บาท ระหว่างวันที่ 10 ธันวาคม 2524 ถึงวันที่1 กุมภาพันธ์ 2525 ซึ่งโจทก์ขายอาหารไก่ให้จำเลยที่ 2 นั้นจำเลยที่ 2 ก็ได้ขายไก่เนื้อให้โจทก์ไปในระหว่างวันที่ 18ธันวาคม 2524 ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2525 คิดเป็นเงินจำนวน1,745,161 บาท ซึ่งโจทก์ยังไม่ได้ชำระให้จำเลยที่ 2เมื่อคิดหักหนี้ค่าอาหารไก่ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องชำระให้โจทก์1,716,390 บาท จำเลยที่ 2 จึงเป็นลูกหนี้โจทก์ 28,771 บาทซึ่งโจทก์จะต้องชำระให้จำเลยที่ 2 นอกจากนั้นโจทก์ยังได้ตัดราคาไก่เนื้อของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2ไม่ได้ยินยอมด้วย และโจทก์ได้ยอมชำระเงินค่าบรรทุกขนส่งไก่เนื้อให้แก่จำเลยที่ 2 อีกด้วย คิดแล้วเป็นเงิน 270,354 บาท รวมกับจำนวนเงิน 28,771 บาท ดังกล่าวข้างต้นแล้ว โจทก์จึงยังคงเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 2 รวม 299,125 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 299,125 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เมื่อระหว่างวันที่ 10 ธันวาคม 2524ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2525 และระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2524ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2525 จำเลยที่ 2 ไม่เคยส่งไก่เนื้อในราคาประกันตามสัญญาให้โจทก์ และไม่เคยแจ้งให้โจทก์ชำระหนี้ตามฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงิน 10,771 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งส่วนอื่นมากไปกว่านี้ให้ยก โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้โจทก์เกินกว่าจำนวนที่โจทก์ฟ้องและโจทก์ต้องชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่โจทก์ฎีกาอ้างว่าสัญญาซื้อขายลูกไก่และไก่กระทงตามเอกสารหมาย ล.1ไม่ผูกพันโจทก์เพราะนายศิริ มานะวุฒิเวช ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อกระทำการแทนโจทก์นั้น ได้ความจากนายกำธรศิวะเกื้อ พยานโจทก์ว่า นายศิริซึ่งลงชื่อในช่องผู้ซื้อในเอกสารหมาย ล.1 เคยเป็นกรรมการบริษัทโจทก์ นายซันเถียร แซ่จูนายสันติชัย เตียวสมบูรณ์กิจ ซึ่งลงชื่อเป็นพยานในเอกสารดังกล่าวเคยเป็นพนักงานของบริษัทโจทก์ ปัจจุบันนายซันเถียรก็ยังทำงานอยู่กับโจทก์ นายสุทธิ เกรียงชัยกฤกษ์ พยานโจทก์เบิกความสนับสนุนคำเบิกความนายกำธร ทั้งพยานโจทก์ก็ไม่ได้เบิกความปฏิเสธลายมือชื่อของบุคคลทั้งสามจึงรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ปรากฏว่าในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ในเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่โจทก์กล่าวในฟ้อง จำเลยที่ 2 ได้สั่งซื้ออาหารไก่จากโจทก์และพนักงานขายของบริษัทโจทก์ก็นำอาหารไก่ไปส่งให้จำเลยที่ 2ปรากฏตามเอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้องและโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ด้วย เห็นว่า จากพฤติการณ์ต่าง ๆ ฟังได้ว่า โจทก์ได้รับเอาผลของนิติกรรมที่นายศิริลงชื่อเป็นผู้ซื้อตลอดมามิได้ทักท้วงพฤติการณ์เท่ากับโจทก์ได้รับรู้ให้นายศิริเชิดตัวเองเพื่อให้จำเลยที่ 2หลงเชื่อว่าเป็นตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงต้องผูกพันต่อจำเลยที่ 2ในการกระทำของนายศิริ จะปฏิเสธความผูกพันตามเอกสารดังกล่าวหาได้ไม่ แม้เอกสารดังกล่าวจะไม่ได้ประทับตราของบริษัทและกรรมการบริษัทลงชื่อไม่ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในหนังสือรับรองก็ตาม สัญญาตามเอกสารหมาย ล.1 มีผลบังคับระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขาย ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2จะต้องจ่ายซื้ออาหารไก่ให้โจทก์โดยตรงไม่ใช่ด้วยการหักหนี้โดยจำเลยที่ 2 ส่งไก่ไปให้โจทก์ และหากจำเลยชำระเงินค่าอาหารไก่ให้แก่โจทก์จริง จำเลยจะต้องมีใบเสร็จรับเงินของโจทก์มาแสดงนั้นได้ความจากนายสุทธิพยานโจทก์ว่า จำเลยได้ส่งไก่ขายให้บริษัทไก่สดเซนทาโก จำกัด ตามเอกสารหมาย ล.7 บริษัทไก่สดเซนทาโก จำกัด มีสำนักงานอยู่แห่งเดียวกับโจทก์ และมีหมายเลขโทรศัพท์เดียวกันนายกำธรพยานโจทก์เบิกความว่า บริษัทไก่สดเซนทาโก จำกัดเป็นบริษัทในเครือเดียวกับบริษัทโจทก์ และนายศิริก็ยังเป็นกรรมการบริษัทไก่สดเซนทาโก จำกัด ด้วยจึงเป็นการยากที่บุคคลทั่วไปจะเข้าใจว่าเป็นคนละบริษัท นอกจากนี้ยังได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่านายศิริเป็นผู้สั่งให้บริษัทโจทก์ซึ่งมารับไก่ไปจากจำเลยที่ 2 นั้นนำเอาไก่ไปส่งให้บริษัทไก่สดเซนทาโก จำกัด ด้วย จึงเชื่อว่าการที่จำเลยที่ 2 ส่งไก่ให้บริษัทไก่สดเซนทาโก จำกัด เป็นการขายให้โจทก์ตามข้อตกลงในข้อ ก.3 ของเอกสารหมาย ล. 1 แล้วมีการหักหนี้กับค่าอาหารไก่ที่จำเลยที่ 2 ซื้อจากโจทก์ ตามข้อตกลงดังกล่าวจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ชำระค่าอาหารไก่ให้โจทก์แล้ว ที่โจทก์อ้างว่าใบรับไก่ของบริษัทไก่สดเซนทาโก จำกัด ตามเอกสารหมาย ล.7 มีการประทับตรายกเลิก เพราะบริษัทไก่สดเซนทาโก จำกัด ได้ชดใช้เงินแก่จำเลยที่ 2 แล้วนั้น โจทก์ไม่ได้มีพยานใดมาสืบสนับสนุนความดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อ ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ชำระหนี้ไม่มีใบเสร็จรับเงินจากโจทก์มาแสดง จำเลยที่ 2 ต้องมีภาระการพิสูจน์ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่นำนายฉัตรชัยพรอำนวนทรัพย์ มาเบิกความถึงการปฏิบัติการหักเงินจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้ชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว เห็นว่า ถ้าหากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าอาหารไก่ให้โจทก์แล้ว เจ้าหน้าที่ของโจทก์คงไม่มอบเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.6 (ใบสีเขียว) ให้จำเลยที่ 2 และโจทก์คงไม่ส่งอาหารไก่ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการปฏิบัติสืบเนื่องกันมา ตลอดจนโจทก์ก็ไม่ได้เรียกร้องให้จำเลยที่ 2ปฏิบัติตามสัญญาในเอกสารหมาย ล.1 ในทันทีที่จำเลยที่ 2 ไม่ส่งไก่ให้โจทก์ จึงฟังได้ว่ามีการหักหนี้ค่าอาหารไก่กับราคาไก่ที่จำเลยที่ 2 ขายให้โจทก์แล้วจำเลยที่ 2 กลับเป็นเจ้าหนี้โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4446/2545

การที่จำเลยที่ 2 ติดต่อขอซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1ส่งมอบรถยนต์ ณ สำนักงานของจำเลยที่ 2 หากมีลูกค้ามาติดต่อขอซื้อรถยนต์และจำเลยที่ 2 ขายได้แล้ว จำเลยที่ 2 จะส่งมอบเงินค่ารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่ลูกค้าผู้ซื้อ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ติดต่อขายรถยนต์ด้วยวิธีการดังกล่าวหลายครั้ง แสดงว่าขณะที่จำเลยที่ 2 ครอบครองรถยนต์พิพาทและเสนอขายให้แก่โจทก์นั้น กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ตลอดเวลาจนกว่าจำเลยที่ 2 จะได้รับชำระเงินค่ารถยนต์พิพาทจากโจทก์และนำเงินดังกล่าวมาชำระราคาค่ารถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว พฤติการณ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อและยอมให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิขายรถยนต์พิพาท เมื่อโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริต จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตมิให้ต้องเสื่อมเสียสิทธิอันเนื่องมาจากข้อตกลงของจำเลยทั้งสองเมื่อโจทก์ชำระราคาค่ารถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อรถยนต์กระบะซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จากจำเลยที่ 2ในฐานะตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ในราคา 280,500 บาท โดยในวันดังกล่าวโจทก์วางเงินจองไว้ 10,000 บาท ต่อมาโจทก์ชำระราคาที่เหลืออีกจำนวน 270,500 บาทให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยทั้งสองได้ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์ครอบครอง แต่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่าเดือนละ 30,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทพร้อมส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่โจทก์ได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินจำนวน 280,500 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ให้โจทก์ในอัตราเดือนละ30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนหรือใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ และไม่เคยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการจำหน่าย แต่จำเลยที่ 1 จำหน่ายรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ชำระราคารถยนต์พิพาทครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 รับรถยนต์พิพาทพร้อมเอกสารจากจำเลยที่ 1 แล้วไม่ชำระราคาจำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทหรือชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ยังครอบครองและใช้รถยนต์พิพาทมาตลอด ค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์พร้อมส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีและแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์พิพาทให้โจทก์ หากไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนให้โจทก์ได้ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ราคาจำนวน280,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 10 ตุลาคม 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะจดทะเบียนและส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนให้โจทก์หรือใช้ราคาแก่โจทก์ แต่ไม่เกิน 24 เดือน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 โอนทะเบียนรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า สีน้ำเงิน หมายเลขเครื่อง 2 แอล - 9420726 หมายเลขแชสซีแอลเอ็น 85 - 7101772 พร้อมส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่โจทก์ ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ได้ ให้จำเลยที่ 1 รับรถยนต์คันดังกล่าวคืนจากโจทก์และชำระเงินคืนจำนวน 280,500 บาท พร้อมด้วยดอกบเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์และส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์แก่โจทก์ หรือจนกว่าจะชำระเงินคืนเสร็จสิ้นแก่โจทก์ แต่ไม่เกิน 24 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยชำระราคารถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์พิพาท สมุดรับประกันภัย และบัตรตรวจสภาพรถยนต์ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ชำระราคาค่ารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่นายเกรียงไกร พิทักษ์ชัชวาลย์ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ให้ดำเนินคดีแทนเบิกความว่า เมื่อประมาณปลายปี 2539 จำเลยที่ 2 ติดต่อขอซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าจำนวน 3 คันจากจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ทั้งสามคันดังกล่าว ณ สำนักงานของจำเลยที่ 2 ที่กรุงเทพมหานคร หากมีลูกค้ามาติดต่อขอซื้อรถยนต์และจำเลยที่ 2 ขายรถยนต์ได้แล้ว จำเลยที่ 2 จะส่งมอบเงินค่ารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่ลูกค้าผู้ซื้อ จำเลยที่ 1 จึงได้มอบรถยนต์ใหม่ 3 คันรวมรถยนต์พิพาทให้แก่พนักงานของจำเลยที่ 2 ที่มารับรถ พร้อมสมุดรับประกัน และนายเกรียงไกรเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ติดต่อซื้อขายรถยนต์ด้วยวิธีการดังกล่าวหลายครั้ง การซื้อขายก่อนหน้านี้ จำเลยที่ 2 ชำระราคาค่ารถยนต์ให้จำเลยที่ 1 ทุกครั้ง แล้วจำเลยที่ 1 จะโอนทะเบียนรถยนต์ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อต่อไป ส่วนลูกค้าผู้ซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 2จะทราบข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ พยานไม่ทราบนายเกรียงไกรยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามติงว่า หากโจทก์ตรวจสอบสมุดรับประกันและพบที่อยู่ของจำเลยที่ 1 และสอบถามมาก็จะทราบถึงข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาเห็นว่า นายเกรียงไกรผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไปของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลการขาย บริการ และอะไหล่ รวมทั้งดูแลด้ารการเงินให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 2 ด้วยนายเกรียงไกรจึงย่อมจะต้องรู้ถึงข้อตกลงและวิธีการที่จำเลยที่ 1 และลูกค้าของจำเลยที่ 1 ยึดถือปฏิบัติระหว่างกันเป็นอย่างดีดังนั้น คำเบิกความของนายเกรียงไกร ข้างต้นจึงมีเหตุผลและมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า มีข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่นายเกรียงไกรเบิกความไว้จริง แสดงว่าขณะที่จำเลยที่ 2 ครอบครองรถยนต์พิพาทและเสนอขายให้แก่โจทก์นั้น กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ตลอดเวลาจนกว่าจำเลยที่ 2 จะได้รับชำระเงินค่ารถยนต์พิพาทจากโจทก์และนำเงินดังกล่าวมาชำระราคาค่ารถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่โจทก์ พฤติการณ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้างต้นถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อและยอมให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนทำการออกนอกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิขายรถยนต์พิพาท เมื่อโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุริต จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตมิให้ต้องเสื่อมเสียสิทธิ อันเนื่องมาจากข้อตกลงของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างว่าหากโจทก์ตรวจสอบพบชื่อของจำเลยที่ 1 ในสมุดรับประกันและสอบถามไปก็จะทราบถึงข้อตกลงระหว่างจำเลยทั้งสองได้ เมื่อโจทก์ชำระราคาค่ารถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ที่จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่ายังไม่ได้รับเงินค่ารถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 2 จึงไม่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้โจทก์ฟังไม่ขึ้น เพราะสิทธิหน้าที่ และความรับผิดระหว่างตัวการกับตัวแทนเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะต้องว่ากล่าวเอาเองอีกส่วนหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับความรับผิดที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

มาตรา 821 บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทน ของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็น ตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4547/2545

คำเสนอขายรถยนต์พิพาทมี ส. ลงชื่อโดยมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองแต่กรรมการของบริษัทมีเพียง ส. เท่านั้น ส. จึงมิได้เสนอขายเป็นส่วนตัว แม้จะมิได้ประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1ในคำเสนอขายแต่การที่จำเลยที่ 1 เข้ารับประโยชน์โดยส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่ อ. ผู้เช่าซื้อ และเป็นผู้รับชำระราคาจากโจทก์ แสดงว่า ส. ทำคำเสนอขายรถยนต์พิพาทต่อโจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันการกระทำของ ส. แล้ว การซื้อขายรถยนต์พิพาทจึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย และเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ตกเป็นของโจทก์เมื่อได้ตกลงซื้อขายและชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว แม้จะไม่ได้จดทะเบียนรถยนต์พิพาทเป็นชื่อของโจทก์ ก็หาทำให้การซื้อขายไม่สมบูรณ์ เพราะทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย เป็นเพียงหลักฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกในการควบคุมของเจ้าพนักงานเท่านั้น

การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทที่ขายให้โจทก์แล้วไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 อีกแม้จำเลยที่ 2 จะซื้อโดยสุจริตและจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบก ระบุชื่อจำเลยที่ 2เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ก็หาทำให้จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทไม่ เพราะกรรมสิทธิ์เป็นของโจทก์มิใช่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ที่จะโอนให้แก่ผู้ใดได้อีกและการที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 บัญญัติไว้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยทั้งสองยื่นคำขอต่อกรมการขนส่งทางบกได้ แต่จะขอให้เพิกถอนการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองไม่ได้เพราะจำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริต สัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองบังคับคู่สัญญาได้ เพียงแต่ไม่อาจใช้ยันโจทก์เท่านั้น

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2535 นายเอกภาพ พลซื่อ ได้ทำคำเสนอขอเช่าซื้อรถยนต์ต่อโจทก์ โดยขอให้โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเสนอขายรถยนต์พิพาทในราคา 1,350,000 บาท โจทก์ตกลงซื้อและนำรถยนต์พิพาทออกให้นายเอกภาพเช่าซื้อในวันเดียวกัน นายเอกภาพได้รับรถยนต์พิพาทแล้ว โจทก์จึงได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 และเข้าครอบครองรถยนต์พิพาทนับแต่วันดังกล่าว โดยมีนายเอกภาพเป็นผู้ครอบครองแทน ตามสัญญาเช่าซื้อจำเลยที่ 1 ตกลงจะดำเนินการออกหมายเลขทะเบียนและใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำแผ่นป้ายทะเบียนหมายเลข 8 อ-6414 กรุงเทพมหานคร มามอบให้โจทก์ แต่มิได้มอบใบคู่มือทะเบียนให้โจทก์ทวงถาม แต่จำเลยที่ 1 ผัดผ่อนเรื่อยมาประมาณเดือนสิงหาคม 2537 โจทก์ตรวจสอบที่กรมการขนส่งทางบกพบว่าจำเลยที่ 1ยื่นคำขอจดทะเบียนรถพิพาทในนามของจำเลยที่ 2 อ้างว่าขายรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 2เมื่อเดือนมีนาคม 2536 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังที่จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์แล้ว การซื้อขายรถยนต์พิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองจึงไม่สุจริต ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้ซื้อได้ ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองและแสดงว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2ให้เพิกถอนแบบคำขอจดทะเบียนรถยนต์พิพาทซึ่งจำเลยทั้งสองได้ยื่นต่อกรมการขนส่งทางบก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันยื่นแบบคำขอจดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และนายเอกภาพ พลซื่อ เป็นผู้ครอบครองรถยนต์พิพาทหากไม่ดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบใบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ หากไม่ส่งมอบ ให้กรมการขนส่งทางบกออกใบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ใหม่และเพิกถอนฉบับเดิม หากไม่อาจดำเนินการได้ไม่ว่ากรณีใด ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน1,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์พิพาทในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีแก่โจทก์ มิฉะนั้นให้ใช้ราคาแทนจำนวน1,350,000 บาท

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 และชำระราคาพร้อมทั้งได้รับการส่งมอบรถยนต์พิพาทแล้วโดยจำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์พิพาทออกให้นายสถาพร สิทธิสมบัติ เช่าซื้อและได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้นายสถาพรครอบครองแทนตามสัญญาเช่าซื้อ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2536 ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2536 ได้มีการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทต่อกรมการขนส่งทางบกได้หมายเลขทะเบียน 8 อ-6414 กรุงเทพมหานคร ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และนายสถาพรเป็นผู้ครอบครองตามสัญญาเช่าซื้อ ภายหลังนายสถาพรผิดสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกสัญญาและเข้าครอบครองรถยนต์พิพาทตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2536 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นโจทก์ได้ซื้อรถยนต์พิพาทจากนายสิระ เจนจาคะ หาได้ซื้อจากจำเลยที่ 1 ไม่ เพราะตามเอกสารการซื้อขายรถยนต์พิพาทนายสิระลงลายมือชื่อในสัญญาโดยไม่มีการประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่20 ธันวาคม 2535 นายเอกภาพ พลซื่อ ยื่นคำขอเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ ระบุขอให้โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 เพื่อนำมาให้นายเอกภาพ พลซื่อ เช่าซื้อตามคำเสนอขอเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5 และนายสิระ เจนจาคะ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.3 ทำคำเสนอขายรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ในราคา 1,350,000 บาท ตามคำเสนอของผู้ขายเอกสารหมายจ.6 โจทก์ตกลงซื้อรถยนต์พิพาทและชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยเช็คธนาคารเอเชียจำกัด (มหาชน) สาขาอัมรินทร์พลาซ่า ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.15 และใบสำคัญสั่งจ่ายเอกสารหมาย จ.11 จำเลยที่ 1 ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่โจทก์ตามใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี เอกสารหมาย จ.12 โจทก์นำรถยนต์พิพาทออกให้นายเอกภาพ พลซื่อเช่าซื้อ ในวันเดียวกันโดยมีนายสานิต ว่องสัธนพงษ์ และนายสิระ เจนจาคะ เป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10 และนายเอกภาพ พลซื่อ ได้รับรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์แล้ว ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1ในราคา 1,800,000 บาท และชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วนำออกให้นายสถาพรสิทธิสมบัติ เช่าซื้อกับส่งมอบรถยนต์พิพาทให้นายสถาพร สิทธิสมบัติ ในวันเดียวกันตามสัญญาเช่าซื้อใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี หนังสือเรื่องแจ้งการเช่าซื้อรถยนต์และคำขอเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.5 หลังจากนั้นวันที่ 1 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทไปจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกโดยระบุชื่อจำเลยที่ 2เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ นายสถาพร สิทธิสมบัติ เป็นผู้ครอบครองตามสัญญาเช่าซื้อและสำเนาใบคู่มือจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.13 หลังจากเช่าซื้อแล้วนายสถาพร สิทธิสมบัติชำระค่าเช่าซื้อเพียง 3 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระอีก จำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาแล้วยึดรถยนต์พิพาทคืนและครอบครองไว้จนปัจจุบัน

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2535 โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทโดยชอบ จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์พิพาทไปจากจำเลยที่ 1 อีกเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2536 เป็นเวลาภายหลังที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทแล้ว จำเลยที่ 2 จึงซื้อจากผู้ไม่มีสิทธิขาย แม้จำเลยที่ 2 จะสุจริตก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทเพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนนั้น เห็นว่า ตามคำเสนอขอเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5 ที่นายเอกภาพ พลซื่อ ขอให้โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทมาให้นายเอกภาพ พลซื่อ เช่าซื้อนั้นระบุชัดแจ้งว่าให้โจทก์ซื้อจากจำเลยที่ 1 หาได้ขอให้ซื้อจากนายสิระ เจนจาคะ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัวแต่อย่างใดไม่และเมื่อโจทก์ชำระราคารถยนต์พิพาท โจทก์ก็ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ออกหลักฐานการรับเงินให้ ตามใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีเอกสารหมาย จ.12มิใช่นายสิระ เจนจาคะ เป็นผู้ออกหลักฐานการรับเงินเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด ดังนั้น แม้คำเสนอขายรถยนต์พิพาทตามเอกสารหมาย จ.6 นายสิระ เจนจาคะ จะลงชื่อเป็นผู้เสนอขายโดยมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.3 ก็ตามแต่ตามหนังสือรับรองก็ระบุว่ากรรมการของบริษัทมีเพียง1 คน คือนายสิระ เจนจาคะ เท่านั้น มิได้มีผู้อื่นอีก จึงไม่มีเหตุจะให้รับฟังไปว่านายสิระเจนจาคะ เสนอขายรถยนต์พิพาทเป็นส่วนตัวตามที่ศาลล่างทั้งสองมีความเห็น ดังนั้นแม้จะมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ในคำเสนอขายเอกสารหมาย จ.6อันไม่ถูกต้องตามหนังสือรับรองก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 เข้ารับประโยชน์ตามคำเสนอขายดังกล่าวโดยส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่นายเอกภาพ พลซื่อ ผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ และเป็นผู้รับชำระราคารถยนต์พิพาทจากโจทก์ แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า นายสิระเจนจาคะ ทำคำเสนอขายรถยนต์ต่อโจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1และถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันการกระทำของนายสิระ เจนจาคะ แล้ว การซื้อขายรถยนต์พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย และเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทตกเป็นของโจทก์ เมื่อได้ตกลงซื้อขายและชำระราคารถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2535 แล้วแม้จะไม่ได้จดทะเบียนรถยนต์พิพาทเป็นชื่อของโจทก์ ก็หาทำให้การซื้อขายรถยนต์พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด เพราะการจดทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย เป็นเพียงหลักฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกในการควบคุมของเจ้าพนักงานเท่านั้น การที่รถยนต์พิพาทหลุดไปจากการครอบครองของนายเอกภาพ พลซื่อ ผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ได้ความจากคำเบิกความของนายเอกภาพ พลซื่อ ว่า รถยนต์พิพาทเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ จึงได้มอบรถยนต์พิพาทให้นายสิระ เจนจาคะ ที่บริษัทจำเลยที่ 1 เพื่อซ่อม โดยนายสิระ เจนจาคะบอกว่าจะซ่อมเสร็จภายใน 7 วัน แล้วไม่คืนรถยนต์พิพาทให้โดยขอผัดผ่อนตลอดมา ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 อีก แม้จำเลยที่ 2 จะซื้อโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้นำรถยนต์พิพาทไปจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบกระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็ตาม ก็หาทำให้จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทไม่ เพราะกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์มิใช่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทที่จะโอนให้แก่ผู้ใดได้อีก และการที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 บัญญัติไว้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยทั้งสองยื่นคำขอต่อกรมการขนส่งทางบกได้ แต่จะขอให้เพิกถอนการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองบังคับคู่สัญญาได้ เพียงแต่ไม่อาจใช้ยันโจทก์เท่านั้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในข้ออื่นอีกที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น"

พิพากษากลับว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทให้เพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทที่จำเลยทั้งสองยื่นคำขอต่อกรมการขนส่งทางบก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันดำเนินการจดทะเบียนให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท และนายเอกภาพ พลซื่อ เป็นผู้ครอบครองรถยนต์พิพาทต่อกรมการขนส่งทางบก แล้วส่งมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองให้จำเลยที่ 2 คืนรถยนต์พิพาทในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงิน 1,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

มาตรา 823 ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจ ก็ดีหรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการ เว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคล ภายนอกโดยลำพังตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้น ได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

มาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย และจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และ มีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วย กฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 493/2546


ที่ดินพร้อมตึกแถวเป็นของจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินและตึกแถวกับอ. ในระหว่างอายุสัญญาเช่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินและตึกแถวให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและตึกแถว แต่ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้เห็นยินยอมเชิดให้ อ. เป็นผู้ทำสัญญาเช่าแทน เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบอำนาจให้ อ. ทำสัญญาเช่ากับโจทก์และโจทก์ไม่ได้ให้การตั้งประเด็นเรื่องตัวแทนเชิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 ไว้ โจทก์จึงไม่สามารถนำสืบว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นยินยอมเชิดให้ อ. ทำสัญญาเช่าแทนตน ฉะนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวชอบที่จะขายทรัพย์สินดังกล่าวได้เมื่อโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินและตึกแถวให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เช่าตึกแถว 2 ชั้น จำนวน 1 คูหาซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 101712 และ 102847 ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2536 ซึ่งอยู่ระหว่างระยะเวลาตามสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 ได้ขายตึกแถวพร้อมที่ดินดังกล่าว โดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในราคา 1,500,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้อยู่ก่อนแล้วว่าจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงกับโจทก์ที่ต้องให้โอกาสโจทก์ซื้อตึกแถวและที่ดินพิพาทก่อนบุคคลอื่นและโดยมิได้แจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าอยู่ได้ทราบก่อน ถือเป็นการฉ้อฉลต่อโจทก์และเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนตามหนังสือสัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 101712 และ 102847 ตำบลถนนนครชัยศรี(สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) จังหวัดกรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 6กรกฎาคม 2536 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวพร้อมที่ดินทั้งหมดแก่โจทก์ในราคา 1,500,000 บาท โดยรับเงินจากโจทก์หรือโดยโจทก์วางเงินต่อศาล หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม

จำเลยทั้งสามให้การว่า นายอิทธิพล จารุพฤฒิพงศ์ เป็นผู้ทำสัญญาเช่ากับโจทก์มิใช่จำเลยทั้งสาม ดังนั้น จำเลยทั้งสามไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3ตั้งแต่มีสัญญาท้ายฟ้องฉบับแรก โดยไม่รับค่าตอบแทนหากเป็นไปตามความประสงค์ของมารดาของจำเลยที่ 1 ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่าเดิมที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทที่โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าจากนายอิทธิพลหรือธนเดช จารุพฤฒิพงศ์ เป็นของจำเลยที่ 1 ในระหว่างอายุสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินและตึกแถวระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ระบุว่า นายอิทธิพล จารุพฤฒิพงศ์ เป็นผู้ให้เช่าตึกแถวพิพาท และตามคำฟ้องของโจทก์ก็ไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทในขณะนั้นได้รู้เห็นยินยอมเชิดให้นายอิทธิพลเป็นผู้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทแทนตนเองซึ่งสอดคล้องเจือสมกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากจำเลยที่ 1 ว่าไม่เคยมอบอำนาจให้นายอิทธิพลไปทำสัญญาเช่า และไม่เคยรู้จักโจทก์มาก่อน ในเมื่อคดีนี้ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้ให้การตั้งประเด็นในเรื่องตัวแทนเชิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 821 ไว้ โจทก์จึงไม่สามารถจะนำสืบได้ว่า จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและตึกแถวพิพาทได้รู้เห็นยินยอมเชิดให้นายอิทธิพลทำสัญญาเช่าแทนตน ฉะนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทชอบที่จะจำหน่ายโอนขายทรัพย์สินดังกล่าวของตนได้ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 821 บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทน ของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็น ตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 824/2545

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินค้าคือโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ค้างชำระตามสัญญาซื้อขาย เป็นการที่โจทก์ในฐานะเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบให้แก่จำเลย แม้โจทก์ยินยอมให้จำเลยแบ่งชำระเป็นงวด ๆ ก็เป็นเพียงผ่อนชำระค่าสินค้าเป็นคราว ๆ เท่านั้น กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1)ซึ่งมีอายุความ 2 ปี หาใช่เป็นกรณีเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(2) ซึ่งมีอายุความ 5 ปีไม่ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2540 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์2544 เกินกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินค้าจำนวน 39,692.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 32,550 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 เมษายน2540 แล้วไม่ชำระ โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 จึงต้องฟ้องภายในอายุความ 2 ปี นับแต่มีสิทธิเรียกร้อง การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 ซึ่งพ้นกำหนดอายุความ 2 ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติในเบื้องต้นโดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าได้ขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แก่จำเลยที่ 1 ราคา37,200 บาท โดยให้จำเลยที่ 1 แบ่งชำระเป็น 24 งวด งวดละ 1,550 บาท เริ่มชำระงวดแรกเดือนมกราคม 2540 และงวดถัดไป ชำระภายในวันที่ 2 ของทุก ๆ เดือน มีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ 3 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระตั้งแต่งวดที่ 4 ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2540 จนถึงงวดที่ 24 และตามสัญญาซื้อขาย ข้อ 7 ระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดได้ทันที โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2540 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 มีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าสินค้าหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ค้างชำระตามสัญญาซื้อขาย จึงเป็นการที่โจทก์ในฐานะเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกค่าของคือโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วตามสัญญาซื้อขาย แม้โจทก์จะยินยอมให้จำเลยที่ 1 แบ่งชำระเป็นงวด ๆ ก็เป็นเพียงผ่อนชำระค่าสินค้าเป็นคราว ๆ เท่านั้น กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี หาใช่เป็นกรณีเงินต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(2) ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลชั้นต้นพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการ อย่างใดให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

มาตรา 193/33 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี
(1) ดอกเบี้ยค้างชำระ
(2) เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ
(3) ค่าเช่าทรัพย์สินค้าชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 193/34 (6)
(4) เงินค้างจ่ายคือเงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา
(5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี

มาตรา 193/34 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี
(1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออก ทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
(2) ผู้ประกอบเกษตรกรรมหรือการป่าไม้เรียกเอาค่าของที่ได้ ส่งมอบอันเป็นผลิตผลทางเกษตรหรือป่าไม้ เฉพาะที่ใช้สอยในบ้านเรือนของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
(3) ผู้ขนส่งคนโดยสารหรือสิ่งของหรือผู้รับส่งข่าวสาร เรียกเอาค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าเช่า ค่าธรรมเนียม รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(4) ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมหรือหอพัก ผู้ประกอบธุรกิจในการ จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มหรือผู้ประกอบธุรกิจสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการเรียกเอาค่าที่พัก อาหารหรือเครื่องดื่ม ค่าบริการหรือค่าการงานที่ได้ทำให้แก่ผู้มาพักหรือใช้บริการ รวมทั้ง เงินที่ได้ออกทดรองไป
(5) ผู้ขายสลากกินแบ่ง สลากกินรวบหรือสลากที่คล้ายคลึงกัน เรียกเอาค่าขายสลาก เว้นแต่เป็นการขายเพื่อการขายต่อ
(6) ผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ เรียกเอาค่าเช่า
(7) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (1) แต่เป็นผู้ ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำงานการต่างๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(8) ลูกจ้างซึ่งรับใช้การงานส่วนบุคคลเรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นเพื่อการงานที่ทำ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปหรือนายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
(9) ลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวหรือลูกจ้างรายวันรวมทั้งผู้ฝึกหัดงานเรียกเอาค้าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปหรือนายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
(10) ครูสอนผู้ฝึกหัดงานเรียกเอาค่าฝึกสอนและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นตามที่ได้ตกลงกันไว้รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(11) เจ้าของสถานศึกษาหรือสถานพยาบาล เรียกเอาค่าธรรมเนียมการเรียนและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ หรือค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(12) ผู้รับคนไว้เพื่อการบำรุงเลี้ยงดูหรือฝึกสอน เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(13) ผู้รับเลี้ยงหรือฝึกสอนสัตว์ เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(14) ครูหรืออาจารย์ เรียกเอาค่าสอน
(15) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์หรือผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาอื่น เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(16) ทนายความหรือผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย รวมทั้ง พยานผู้เชี่ยวชาญ เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออก ทดรองไป หรือคู่ความเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่าย ล่วงหน้าไป
(17) ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผู้สอบบัญชี หรือผู้ประกอบวิชาชีพอิสระอื่น เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวม ทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือผู้ว่าจ้างให้ประกอบการงานดังกล่าว เรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7385/2548

จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับเป็นผู้จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องปรับอากาศพร้อมอุปกรณ์และอะไหล่กับโจทก์โดยตกลงรับซื้อสินค้าดังกล่าวจากโจทก์เพื่อไปจำหน่ายอีกต่อหนึ่งและหนี้ค่าสินค้าตามฟ้องที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระ ก็เป็นหนี้ค่าเครื่องปรับอากาศอุปกรณ์และอะไหล่ที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง การซื้อขายดังกล่าวมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการค้าขายของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้นั้นเอง กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าสินค้าของโจทก์ จึงมีกำหนดอายุความห้าปีตามมาตรา 193/33 (5)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ "เทรน" ในประเทศไทย เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2536 โจทก์ทำสัญญาตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องปรับอากาศยี่ห้อดังกล่าวในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 จะสั่งซื้อเครื่องปรับอากาศจากโจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องชำระราคาสินค้าภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวเมื่อประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 ซื้อเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์และอะไหล่จากโจทก์หลายครั้งหลายรายการรวมเป็นเงิน 397,719 บาท โจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 เรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระราคาสินค้าภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้า ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 677,211.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 397,719 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันครบกำหนดชำระราคาสินค้า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องจึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การ และตามที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญารับเป็นผู้จำหน่ายเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ "เทรน" กับโจทก์โดยจำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะซื้อเครื่องปรับอากาศพร้อมอุปกรณ์และอะไหล่จากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่าย และตกลงจำชำระค่าสินค้าดังกล่าวภายใน 60 วัน นับจากวันที่จำเลยที่ 1 รับสินค้าที่ซื้อไป รายละเอียดปรากฏตามสัญญาตั้งผู้จำหน่ายเอกสารหมาย จ.5 และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2538 โจทก์ได้ส่งสินค้าเครื่องปรับอากาศตามคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งจะครบกำหนดชำระค่าสินค้าในวันที่ 29 สิงหาคม 2539 เมื่อถึงกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 ซื้อไปจากโจทก์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2543 เป็นคดีนี้

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สิทธิเรียกร้องค่าสินค้าดังกล่าวมีกำหนดอายุความห้าปีตามที่โจทก์ฎีกาหรือสองปีตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับเป็นผู้จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องปรับอากาศพร้อมอุปกรณ์และอะไหล่กับโจทก์โดยตกลงรับซื้อสินค้าดังกล่าวจากโจทก์เพื่อไปจำหน่ายอีกต่อหนึ่งตามสัญญาตั้งผู้จำหน่ายเอกสารหมาย จ.5 และหนี้ค่าสินค้าตามฟ้องที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระ ก็เป็นหนี้ค่าเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์และอะไหล่ที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง การซื้อขายดังกล่าวมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการค้าขายของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้นั้นเอง กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าสินค้าตามคำฟ้องของโจทก์ จึงมีกำหนดอายุความห้าปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) เมื่อหนี้ค่าสินค้าตามคำฟ้องครบกำหนดชำระในวันที่ 29 สิงหาคม 2538 และโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 5 เมษายน 2543 จึงยังอยู่ภายในกำหนดอายุความห้าปี สิทธิเรียกร้องค่าสินค้าตามฟ้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีกำหนดอายุความสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) และขาดอายุความแล้วนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องนั้น เนื่องจากคดียังมีประเด็นอื่นตามที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานไว้ซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัย เพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาในประเด็นที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยดังกล่าวก่อน"

พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาในประเด็นอื่นที่ยังมิได้วินิจฉัยตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2606/2539

คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงิน18,500บาทอันเป็นราคาเกียร์รถที่โจทก์ซื้อมาใหม่เนื่องจากจำเลยทั้งสองผิดสัญญาซื้อขายส่งเกียร์รถที่ชำรุดแล้วไม่ยอมซ่อมให้ทำให้โจทก์ต้องไปซื้อเกียร์รถมาใช้ใหม่จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยทั้งสองผิดสัญญาซื้อขายนั่นเองในกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายเรื่องอายุความบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะจึงมีอายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164เดิม

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 18,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2533 ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องเป็นเงิน1,560.93 บาท

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองได้ส่งมอบเกียร์เก่ารถยนต์นิสสัน เอ็นดี 6 ชุดพิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพดีไม่ชำรุดบกพร่องและสามารถใช้งานได้ทันที เนื่องจากได้มีการตรวจสอบสภาพเกียร์ชุดพิพาทก่อนที่โจทก์จะรับมอบสินค้า ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นตามที่โจทก์อ้างไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1เพราะเกียร์ชุดพิพาทได้อยู่ในความครอบครองของโจทก์ตลอดมาเป็นเวลานานถึง 2 ปี 8 เดือน โจทก์ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่องของเกียร์ชุดพิพาทเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2530 โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยทั้งสองภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้พบความชำรุดบกพร่องดังกล่าว เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2534 คดีจึงขาดอายุความ ค่าใช้จ่ายในการจัดซ่อมเกียร์พิพาทที่โจทก์อ้างสูงเกินความเป็นจริง หากโจทก์จะซ่อมเกียร์ชุดพิพาทให้ใช้งานได้จะเสียค่าใช้จ่ายไม่เกิน2,000 บาท โจทก์ควรซ่อมเกียร์ชุดพิพาทมากกว่าจะสั่งซื้อเกียร์ใหม่ ราคาเกียร์เก่ารถยนต์นิสสัน เอ็นดี 6 ที่โจทก์สั่งซื้อจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเซ่งฮงฮวดกลการ มีราคาสูงเกินกว่าราคาปกติ ราคาปกติจะไม่เกิน 8,500 บาท โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตและไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์ แต่ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยทั้งสองผิดสัญญาซื้อขาย จึงมีอายุความ 10 ปีนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงิน 18,500อันเป็นราคาเกียร์รถที่โจทก์ซื้อมาใหม่ เนื่องจากจำเลยทั้งสองผิดสัญญาซื้อขายส่งเกียร์รถที่ชำรุดแล้วไม่ยอมซ่อมให้ ทำให้โจทก์ต้องไปซื้อเกียร์มาใช้ใหม่ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยทั้งสองผิดสัญญาซื้อขายนั่นเอง ในกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายเรื่องอายุความบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164เดิม (มาตรา 193/30) คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และเนื่องจากศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 และข้อ 2เพื่อให้การพิจารณาและพิพากษาเป็นไปตามลำดับชั้นศาลจึงควรให้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเสียก่อน

พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 และข้อ 2แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2058/2549

โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 และตกลงซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนที่อยู่ติดกับที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2519 ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2521 จำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 ให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินอันเป็นการชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วน ถือเป็นการรับสภาพหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ระยะเวลาทีล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 สัญญาจะซื้อจะขายไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2521 ในวันที่ 27 ตุลาคม 2530 จำเลยทำหนังสือว่าได้รับเงินจำนวน 50,000 บาท จากโจทก์เป็นค่าที่ดินส่วนที่เป็นถนนตามสัญญาจะซื้อจะขายลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2519 ส่วนที่เหลือจะชำระให้ในวันที่ไปทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ ข้อความในหนังสือดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยรับว่ายังมีหนี้ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เป็นถนนให้แก่โจทก์อยู่อีก จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอีกครั้งหนึ่ง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2530 เป็นต้นไป ซึ่งนับถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2540 ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ จึงเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยก็ยังมีสิทธิที่จะยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง แม้ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของถนนในหมู่บ้านที่จำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรที่ดินและตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ก็ตาม แต่ภาระจำยอมนั้นเพียงแต่ทำให้เจ้าของภารยทรัพย์ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น และห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 และ 1389 เท่านั้น เจ้าของภารยทรัพย์ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ขายหรือจำหน่ายจ่ายโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด จำเลยในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทจึงมีสิทธิขายที่ดินพิพาทได้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นโมฆะ จำเลยจึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2519 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยโจทก์ตกลงซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 ตำบลวัดอรุณ (บางกอกใหญ่ฝั่งเหนือ) อำเภอบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ในราคาตารางวาละ 3,200 บาท เป็นเงิน 182,400 บาท กับตกลงซื้อที่ดินส่วนที่เป็นถนนซึ่งอยู่ติดกับที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 20 ตารางวา เป็นเงิน 64,000 บาท ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2521 จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 ให้แก่โจทก์ และส่งมอบที่ดินส่วนที่เป็นถนนเนื้อที่ประมาณ 20 ตารางวา ให้โจทก์ครอบครอง โจทก์จึงครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี วันที่ 27 ตุลาคม 2530 จำเลยรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เป็นถนนเป็นเงิน 50,000 บาท จากโจทก์ โดยจำเลยทำหนังสือการรับเงินไว้เป็นหลักฐานอ้างว่าจะไปดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ และยืนยันว่าเมื่อแบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จจะดำเนินการไถ่ถอนจำนองและแจ้งให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยได้แบ่งแยกโฉนดที่ดิน ส่วนที่เป็นถนนที่ขายให้โจทก์เสร็จเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2522 เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 19631 มีเนื้อที่ดินเพิ่มขึ้นอีก 7 ตารางวา โจทก์ได้มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ แต่จำเลยให้ทนายความมีหนังสือปฏิเสธการโอนและบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ชำระค่าที่ดินแล้ว 50,000 บาท คงเหลือเพียง 14,000 บาท เมื่อแบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จมีเนื้อที่ 27 ตารางวา ที่ดินมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นอีก 7 ตารางวา เป็นเงิน 22,400 บาท รวมเป็นเงิน 36,400 บาท แต่ปัจจุบันที่ดินดังกล่าวมีราคา 540,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้จำเลยส่งมอบโฉนดเลขที่ 19631 แก่โจทก์เพื่อดำเนินการและให้จำเลยรับเงินจำนวน 36,400 บาท จากโจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่ดินและค่าภาษีเงินได้จากการขายที่ดินของจำเลยหากไม่ชำระให้โจทก์ชำระแทนโดยให้จำเลยคืนเงินส่วนนี้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 19631 ตำบลวัดอรุณ (บางกอกใหญ่ฝั่งเหนือ) อำเภอบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ดิน 27 ตารางวา แก่โจทก์ และให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยโดยให้โจทก์และจำเลยชำระเงินค่าธรรมเนียมจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่ดินฝ่ายละเท่ากัน ให้จำเลยรับเงินค่าที่ดินจำนวน 36,400 บาท จากโจทก์
จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นบริษัทจำกัดประกอบกิจการจัดสรรที่ดิน โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2519 มีนายศรายุทธ อัศวทิพย์ไพบูลย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยผูกพันจำเลยได้ โจทก์เป็นลูกค้าซื้อที่ดินในโครงการ 1 ของจำเลย โดยเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2521 จำเลยได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินที่จัดสรรโฉนดเลขที่ 15658 ตำบลวัดอรุณ (บางกอกใหญ่ฝั่งเหนือ) อำเภอบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 57 ตารางวา ตามเอกสารหมาย จ.5 ให้แก่โจทก์ และโจทก์ยังได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทแปลงติดกันอีก 1 แปลง อันเป็นส่วนของที่ดินที่ขณะจำเลยจัดสรรแบ่งขายได้กันไว้เป็นถนนภายในหมู่บ้าน โดยด้านหนึ่งของที่ดินพิพาทจดคลองมอญ อีกด้านหนึ่งจดที่ดินที่โจทก์ซื้อจากจำเลยดังกล่าว ตามแผนผังเอกสารหมาย ล.1 (จ.24) ต่อมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2522 มีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทเป็นโฉนดเลขที่ 19631 ต่างหากออกมาจากที่ดินส่วนที่กันเป็นถนนเป็นเนื้อที่ 27 ตารางวา ตามเอกสารหมาย จ.10

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยได้รับเงินค่าที่ดินพิพาทจากโจทก์จำนวน 50,000 บาท ตามหนังสือการรับเงินเอกสารหมาย จ.9 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนางยุพา พุ่มคชา เป็นพยานเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของตัวโจทก์ว่า ลายมือชื่อผู้รับเงินตามหนังสือรับเงินเอกสารหมาย จ.9 เป็นลายมือชื่อของนายศรายุทธ อัศวทิพย์ไพบูลย์ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทจำเลย และเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลย แม้นางยุพาจะไม่รู้เห็นขณะมีการทำหนังสือรับเงินเอกสารหมาย จ.9 แต่นางยุพาเคยทำงานกับจำเลยและนายศรายุทธเชื่อได้ว่านางยุพาเคยเห็นและจำลายมือชื่อของนายศรายุทธได้ คำเบิกความของนางยุพาจึงไม่ใช่พยานบอกเล่า แต่เป็นความเห็นและรับฟังเป็นพยานได้ไม่ต่างจากประจักษ์พยาน เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบลายมือชื่อของนายศรายุทธในหนังสือการรับเงินเอกสารหมาย จ.9 กับลายมือชื่อของนายศรายุทธที่ปรากฏในเอกสารอื่น เช่น คำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.9 และใบรับรองเอกสารหมาย จ.20 เป็นต้นแล้ว ก็เห็นได้ว่ามีลักษณะการเขียนและลายเส้นเหมือนกัน นอกจากนี้โจทก์ยังมีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยโดยละเอียดแล้วซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก ฎีกาอื่นของจำเลยในปัญหานี้ล้วนเป็นข้อปลีกย่อยมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ แม้วินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้น้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์เสียไป ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยได้รับเงินค่าที่ดินพิพาทจากโจทก์จำนวน 50,000 บาท ตามหนังสือการรับเงินเอกสารหมาย จ.9 ชอบแล้ว

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.4 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2519 ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2521 จำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 ให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ.4 อันเป็นการชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วน ถือเป็นการรับสภาพหนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 สัญญาจะซื้อจะขายไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2521 ในวันที่ 27 ตุลาคม 2530 จำเลยทำหนังสือว่าได้รับเงินจำนวน 50,000 บาท จากโจทก์เป็นค่าที่ดินส่วนที่เป็นถนนตามสัญญาจะซื้อจะขายลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2519 ส่วนที่เหลือจะชำระให้ในวันที่ไปทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ ปรากฏตามหนังสือการรับเงินเอกสารหมาย จ.9 ข้อความในหนังสือดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยรับว่ายังมีหนี้ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เป็นถนนให้แก่โจทก์อยู่อีก จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอีกครั้งหนึ่ง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2530 เป็นต้นไป ซึ่งนับถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2540 ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในประเด็นนี้ชอบแล้ว

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ จึงเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จำเลยก็ยังมีสิทธิที่จะยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ในปัญหานี้แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของถนนในหมู่บ้านศิวาลัยเคหะ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่จำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรที่ดินและตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ก็ตาม แต่ภาระจำยอมนั้นเพียงแต่ทำให้เจ้าของภารยทรัพย์ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น และห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใดๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 และ 1389 เท่านั้น เจ้าของภารยทรัพย์ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใด ห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ขายหรือจำหน่ายจ่ายโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด จำเลยในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทจึงมีสิทธิขายที่ดินพิพาทได้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นโมฆะดังที่จำเลยกล่าวอ้างจำเลยจึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 172 โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้
ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ
มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ยให้ประกันหรือกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยาย ว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
(2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้
(3) เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
(4) เจ้าหนี้ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา
(5) เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี
มาตรา 193/15 เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ
เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น
มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือ กฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี
มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภารจำยอมอันเห็นเหตุ ให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงด เว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่ อสังหาริมทรัพย์อื่น
มาตรา 1389 ถ้าความต้องการแห่งเจ้าของสามยทรัพย์เปลี่ยนแปลงไป ท่านว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ให้สิทธิแก่เจ้าของสามยทรัพย์ที่จะทำให้เกิด ภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ได้

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US