ลักษณะของสัญญาซื้อขาย การโอนกรรมสิทธิ์

ลักษณะของสัญญาซื้อขาย การโอนกรรมสิทธิ์

มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
* สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 138/2534

การซื้อขายพระพุทธรูปอันเป็นสังหาริมทรัพย์ย่อมสมบูรณ์เพียงเมื่อผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ขาย หาจำต้องทำเป็นหนังสือสัญญาหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือไว้แต่อย่างใดไม่ แม้การซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยที่ 1 จะมิได้ทำเอกสารหมาย จ.1 ไว้ก็ย่อมสมบูรณ์แล้ว ไม่ปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.1 มีระบุข้อความว่าให้จำเลยที่ 1มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และจำเลยที่ 1 ตกลงจะทำการดังนั้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 797 แห่ง ป.พ.พ. สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาซื้อขายมิใช่สัญญาตัวแทน

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือซื้อพระกำแพงศอก (ปางทุ่งเศรษฐี) เนื้อชินเงิน 1 องค์ราคา 90,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระราคา จำเลยที่ 1 ได้รับพระกำแพงศอกไปจากโจทก์แล้วในวันเดียวกัน โดยยังมิได้ชำระเงินแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระราคา จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายหน้าขายพระพุทธรูปจำเลยที่ 2 แนะนำให้จำเลยที่ 1 รู้จักกับโจทก์ โจทก์ตกลงมอบพระพุทธรูปตามฟ้องให้จำเลยที่ 1 ไปขายโดยจะให้ค่านายหน้าและให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาตามฟ้องไว้เพื่อเป็นประกันว่าจำเลยที่ 1 ขายพระพุทธรูปได้แล้วจะนำเงินมาชำระให้โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงิน 90,000 บาท จำเลยที่ 1 นำพระพุทธรูปของโจทก์ไปขายไม่ได้ จึงนำพระมาคืนโจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับคืน
จำเลยที่ 2 ให้การรับตามฟ้อง แต่ขอให้บังคับเอาจากจำเลยที่ 1 ก่อน

ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2ชำระแทน

จำเลยที่ 1 ฎีกา
นายทองดี จานสิบสี ยื่นคำร้องว่า โจทก์ถึงแก่กรรมแล้วผู้ร้องเป็นภรรยาของโจทก์ขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2528 จำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการซื้อขาย เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ได้มาตกลงเช่าซื้อพระกำแพงศอก 1 องค์ ราคา 90,000 บาท จากโจทก์โดยยังไม่ได้ชำระเงิน และจำเลยที่ 2 รับรองว่าหากจำเลยที่ 1ไม่นำเงินมาชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้รับใช้จำนวนเงินดังกล่าวแทน โจทก์ได้มอบพระกำแพงศอกให้จำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 นำพระกำแพงศอกมาคืนโจทก์ โจทก์ไม่ยอมรับคืน ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 1 ซื้อพระกำแพงศอกไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จากข้อความในเอกสารหมาย จ.1 ประกอบพฤติการณ์ที่โจทก์ได้มอบพระกำแพงศอกให้จำเลยที่ 1 ดังกล่าวเพียงพอให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ซื้อพระกำแพงศอกไปจากโจทก์แล้ว และการซื้อขายพระพุทธรูปอันเป็นสังหาริมทรัพย์ย่อมสมบูรณ์เพียงเมื่อผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ขาย หาจำต้องทำเป็นหนังสือสัญญาหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือไว้แต่อย่างใดไม่ ฉะนั้นแม้สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยที่ 1 จะมิได้ทำเอกสารหมาย จ.1 ไว้ก็ย่อมสมบูรณ์แล้วที่จำเลยฎีกาว่าสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นเพียงสัญญาตัวแทนเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำพระดังกล่าวไปขายที่กรุงเทพมหานครนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.1 ระบุข้อความว่าให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และจำเลยที่ 1 ตกลงจะทำการดังนั้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา797 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และหากจำเลยประสงค์ให้เอกสารดังกล่าวเป็นสัญญาตัวแทนจริง จำเลยก็น่าที่จะให้นายมนัส พรหมสุวรรณผู้เขียนได้เขียนข้อความเช่นนั้นให้ปรากฏในเอกสารหมาย จ.1 ด้วยแต่จำเลยก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาซื้อขาย หาใช่สัญญาตัวแทนดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาทรัพย์สินที่ซื้อขายแก่โจทก์จึงชอบแล้ว..."
พิพากษายืน.
( ราเชนทร์ จัมปาสุต - ชูศักดิ์ บัณฑิตกุล - วินัย กันนะ )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 797 อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดั่งนั้น
อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัด หรือโดย ปริยายก็ย่อมได้

ข้อสังเกต * ส่วนการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ มีบัญญัติไว้ในมาตรา 456 วรรคหนึ่ง
มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2548

ณ. ทำสัญญาแปลงหนี้เงินกู้เป็นการซื้อขายรถยนต์แทน เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคแรก แต่สัญญาซื้อขายรถยนต์มีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขว่าในระหว่างที่ผู้ขายยังไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อให้ถือว่ายังไม่มีการซื้อขาย ฉะนั้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่หนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดมีขึ้น หนี้เดิมยังไม่ระงับสิ้นไปตามมาตรา 351 จำเลยในฐานะทายาทของ ณ. จึงต้องรับผิดชดใช้หนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยา จำเลยที่ 2 เป็นบิดาของนายณรงค์ชัย วงศ์อารีย์ นายณรงค์ชัยกับจำเลยที่ 1 ร่วมกันกู้ยืมเงินจากโจทก์ เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ นายณรงค์ชัยจึงขายรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก 2013 พะเยา ให้โจทก์ในราคา 343,200 บาท แต่นายณรงค์ชัยไม่ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้โจทก์กลับร่วมกับจำเลยทั้งสองนำรถไปซุกซ่อน โจทก์ได้ยื่นฟ้องนายณรงค์ชัยกับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ต่อมานายณรงค์ชัยถึงแก่ความตาย โจทก์จึงถอนฟ้อง จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทและเป็นผู้ร่วมกันครอบครองรถยนต์ต้องส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่โจทก์หากไม่สามารถส่งมอบได้ ต้องร่วมกันคืนเงินหรือใช้ราคา 343,200 บาท ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก ? 2013 พะเยา ให้แก่โจทก์ หากส่งมอบไม่ได้ให้ร่วมกันคืนเงิน 343,200 บาทให้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า นายณรงค์ชัยไม่เคยทำสัญญาขายรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์ นายณรงค์ชัยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันและโจทก์ให้นายณรงค์ชัยลงชื่อในสัญญาซื้อขายที่ยังไม่ได้กรอกข้อความโดยมีข้อตกลงว่าสัญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันใดๆ สัญญาซื้อขายจึงเป็นเอกสารปลอม ในสัญญาซื้อขายข้อ 2 มีข้อความว่าระหว่างที่ยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ให้ถือว่ายังไม่มีการซื้อขาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2537 และของต้นเงิน 60,000 บาท นับแต่วันที่ 20 มกราคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้หักเงินที่มีผู้ชำระหนี้แทนเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม และ 2 กรกฎาคม 2539 ครั้งละ 10,000 บาท รวมจำนวน 20,000 บาทออก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนายณรงค์ชัย วงศ์อารีย์ ที่ตกทอดให้แก่ตน
จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายณรงค์ชัย วงศ์อารีย์ เป็นสามีของจำเลยที่ 1 และเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2537 นายณรงค์ชัยได้กู้ยืนเงินโจทก์จำนวน 200,000 บาทและมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก ? 2013 พะเยา ให้แก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน ตามสำเนาภาพถ่ายสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และสำเนาภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย จ.4 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2538 นายณรงค์ชัยได้กู้ยืมเงินโจทก์อีกจำนวน 60,000 บาท ตามสำเนาภาพถ่ายสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 หลังจากนั้นนายณรงค์ชัยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงรับจะชำระหนี้แทนและได้สั่งจ่ายเงินตามเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาพะเยา ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2538 จำนวนเงิน 343,200 บาท เพื่อชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยพร้อมทั้งค่าเสียหายมอบให้แก่โจทก์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินดังปรากฏหลักฐานตามสำเนาภาพถ่ายเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาวันที่ 15 เมษายน 2539 นายณรงค์ชัยได้ทำสัญญาขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก ? 2013 พะเยา ให้แก่โจทก์และได้มอบใบคู่มือจดทะเบียนรถให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันแทนการชำระหนี้ ดังปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.6 แต่หลังจากนั้นนายณรงค์ชัยไม่ได้ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงฟ้องนายณรงค์ชัยกับจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาในข้อหายักยอกทรัพย์ และนายณรงค์ชัยถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าว

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญากู้เป็นการวินิจฉัยนอกคำฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า การที่นายณรงค์ชัยทำสัญญาขายรถยนต์ให้แก่โจทก์แทนการชำระหนี้โดยแปลงหนี้เงินกู้เป็นการซื้อขายรถยนต์แทนนั้นถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคแรก แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อพิเคราะห์สำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์ตามเอกสารหมาย จ.6 แล้ว เห็นว่า มีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขระบุไว้ในสัญญาซื้อขายข้อ 2 ว่า ในระหว่างที่ผู้ขายยังไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อให้ถือว่ายังไม่มีการซื้อขาย ฉะนั้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่หนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดมีขึ้น หนี้เดิมคือหนี้เงินกู้ยืมตามสำเนาภาพถ่ายสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ยังหาระงับสิ้นไปไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 351 ซึ่งในกรณีนี้ถือได้ว่าโจทก์มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือมาแสดงแล้วและไม่เป็นกรณีที่จำต้องติดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยทั้งสองก็นำสืบยอมรับว่านายณรงค์ชัยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปรวม 2 ครั้ง เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 260,000 บาท จริง ดังนั้น จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทของนายณรงค์ชัยจึงต้องรับผิดชดใช้หนี้เงินกู้ของนายณรงค์ชัยให้แก่โจทก์ แต่ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600, 1601 ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกความรับผิดของนายณรงค์ชัยในเรื่องการกู้ยืมเงินมาวินิจฉัยอันเป็นการวินิจฉัยนอกคำฟ้องและนอกประเด็นนั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายให้เห็นโดยแจ้งชัดในเรื่องการกู้ยืมเงินเพื่อให้เห็นถึงมูลหนี้เดิมในคดีนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร อีกทั้งโจทก์ยังนำสืบให้เห็นว่าความจริงเป็นดังที่โจทก์บรรยายฟ้องและจำเลยทั้งสองเองก็ยอมรับ ฉะนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยความรับผิดของจำเลยทั้งสองในประเด็นนี้จึงไม่เป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์มานั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ
( ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล - สบโชค สุขารมณ์ - เรวัตร อิศราภรณ์ )

ป.พ.พ. มาตรา 349, 351
มาตรา 349 เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่
ถ้าทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขก็ดี เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เปลี่ยนเงื่อนไขก็ดี ท่านถือว่าเป็นอันเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้นั้น
ถ้าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้อง
มาตรา 351 ถ้าหนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดมีขึ้นก็ดี ได้ยกเลิกเสียเพราะมูลแห่งหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันมิรู้ถึงคู่กรณีก็ดี ท่านว่าหนี้เดิมนั้นก็ยังหาระงับสิ้นไปไม่

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US