นายจ้างเลิกจ้างกับการจ่ายค่าชดเชย

การเลิกจ้างหมายความว่าการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใดและหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปแต่มิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาจะกระทำได้ สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตาม ฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้นซึ่งงานนั้นจะต้อง แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง
การเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

การเลิกจ้างหมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป ซึ่งหมายความว่า นายจ้างต้องกระทำการใดๆ เพื่อไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้จึงจะเป็นการเลิกจ้าง แต่ในสัญญาว่าจ้างกำหนดให้สัญญาจ้างสิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2548 บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)ซึ่งเป็นนายจ้าง ได้แจ้งขยายระยะเวลาว่าจ้างออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 นายจ้างจึงประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบและให้ลูกจ้างทั้งหมดเข้าทำสัญญาจ้างแรงงานกับนายจ้างในโครงการดังกล่าวต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)นายจ้าง ขยายออกไปคือจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 ลูกจ้างในโครงการดังกล่าวส่วนใหญ่ประสงค์จะทำงานต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 แต่ลูกจ้างซึ่งเป็นโจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้ทำบันทึกเสนอต่อฝ่ายบุคคลของนายจ้างว่าไม่ประสงค์ต่อสัญญากับนายจ้างและขอคืนบัตรพนักงานในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างของลูกจ้างหรือโจทก์ทั้งสิบเอ็ด สำหรับลูกจ้างหรือโจทก์ที่ 3 ยังได้ยื่นใบลาออกลงวันที่ 15 มกราคม 2548 ตามแบบพิมพ์ของนายจ้างแจ้งความประสงค์ขอลาออกเนื่องจากครบกำหนดสัญญาจ้างตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นไป ลูกจ้างทั้งสิบเอ็ดทำงานให้นายจ้างจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 แล้วไม่ได้ทำงานให้นายจ้างอีกต่อไป ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างไม่ประสงค์จะทำงานกับนายจ้างต่อไป จึงถือไม่ได้ว่านายจ้างเลิกจ้าง และต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8002 - 8012/2549

ก่อนที่สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกับจำเลยจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยได้ประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าบริษัท ก. ได้ขยายระยะเวลาว่าจ้างจำเลยออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 และให้ลูกจ้างทั้งหมดเข้าทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาที่บริษัท ก. ขยายออกไป แต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้ทำบันทึกเสนอต่อฝ่ายบุคคลของจำเลยว่าไม่ประสงค์ต่อสัญญากับจำเลยและคืนบัตรลูกจ้างในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างแล้วไม่ไปทำงานอีกเลย จำเลยมิได้กระทำการใดๆ เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ด

คดีทั้งสิบเอ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นดคีเดียวกัน โดยเรียกชื่อโจทก์ทั้งสิบเอ็ดสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งสิบเอ็ดสำนวนว่าจำเลย

โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องใจความทำนองเดียวกันว่า ระหว่างเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่พนักงานขับรถยกและช่างซ่อมบำรุง ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน ยกเว้นเฉพาะโจทก์ที่ 9 ซึ่งเป็นช่างซ่อมบำรุงเพียงผู้เดียวที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนในอัตราเดือนละ 6,744 บาท โดยสัญญาจ้างแรงงานที่จำเลยทำกับโจทก์ทั้งสิบเอ็ดนั้นมีกำหนดเวลาสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 ครั้นเมื่อสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลงตามกำหนดดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบเอ็ดและจำเลยไม่ได้ต่อสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวกันอีกต่อไป ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดแล้ว โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาเป็นระยะเวลาระหว่างครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ถึงครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี โจทก์ทั้งสิบเอ็ดจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงินตามจำนวนที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวนแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ด พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์แต่ละคน

จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2544 บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยเป็นผู้ทำการขนส่งและขนถ่ายสินค้า วัสดุ สิ่งของ ภายในกองคลังสินค้าของบริษัทดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 โดยตกลงให้จำเลยเป็นผู้จัดหารถยก (รถโฟร์คลิฟท์) พร้อมคนขับ ซึ่งจำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างพนักงานให้ทำงานในโครงการดังกล่าว 239 คน ซึ่งรวมโจทก์ทั้งสิบเอ็ดด้วย โดยตกลงให้สัญญาจ้างสิ้นสุดในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 แต่ก่อนที่สัญญาจ้างบริการระหว่างบริษัทดังกล่าวกับจำเลยจะสิ้นสุดลง บริษัทดังกล่าวได้ขยายระยะเวลาตามสัญญาจ้างบริการกับจำเลยออกไปอีกจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 จำเลยจึงแจ้งให้พนักงานทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสิบเอ็ดที่มีความประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไปตามกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างบริการที่ขยายระยะเวลาออกไปให้เข้าทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำลย ปรากฏว่าพนักงานส่วนใหญ่ได้เข้าทำสัญญาจ้างและทำงานกับจำเลยต่อไป เว้นแต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดที่กลับแจ้งแก่จำเลยว่าไม่ประสงค์จะทำสัญญาจ้างใหม่กับจำเลยต่อไปอีก โดยโจทก์ที่ 3 ได้ยื่นหนังสือลาออกจากงานแล้ว โจทก์ทั้งสิบเอ็ดก็ไม่ได้ทำงานให้จำเลยอีก กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ด จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการหลักในการให้เช่ารถยนต์ทุกประเภท เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2544 บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาจ้างบริการว่าจ้างจำเลยให้ทำการขนส่งและขนถ่ายสินค้า วัสดุ สิ่งของภายในกองคลังสินค้าของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มีกำหนดเวลาจ้าง 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยจึงได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเพื่อไปทำงานดังกล่าว โดยว่าจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 6 และที่ 10 เข้าทำงานวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2545 โจทก์ที่ 2 เข้าทำงานวันที่ 6 ธันวาคม 2545 โจทก์ที่ 3 เข้าทำงานวันที่ 26 เมษายน 2545 โจทก์ที่ 4 และที่ 5 เข้าทำงานวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 โจทก์ที่ 7 เข้าทำงานวันที่ 3 มีนาคม 2547 โจทก์ที่ 8 เข้าทำงานวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 โจทก์ที่ 9 เข้าทำงานวันที่ 22 มกราคม 2545 และโจทก์ที่ 11 เข้าทำงานวันที่ 6 เมษายน 2545 แต่ในสัญญาว่าจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกำหนดให้สัญญาจ้างสิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2548 บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งขยายระยะเวลาว่าจ้างจำเลยออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 จำเลยจึงประกาศแจ้งให้ลูกจ้างจำเลยทราบและให้ลูกจ้างทั้งหมดเข้าทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยในโครงการดังกล่าวต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ขยายออกไปคือจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 ลูกจ้างของจำเลยในโครงการดังกล่าวส่วนใหญ่ประสงค์จะทำงานต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 แต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้ทำบันทึกเสนอต่อฝ่ายบุคคลของจำเลยว่าไม่ประสงค์ต่อสัญญากับจำเลยและขอคืนบัตรพนักงานในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างของโจทก์ทั้งสิบเอ็ด สำหรับโจทก์ที่ 3 ยังได้ยื่นใบลาออกลงวันที่ 15 มกราคม 2548 ตามแบบพิมพ์ของจำเลยแจ้งความประสงค์ขอลาออกเนื่องจากครบกำหนดสัญญาจ้างตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นไป โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานให้จำเลยจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 แล้วไม่ได้ทำงานให้จำเลยอีกต่อไป มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง บัญญัติว่า "การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป" ซึ่งหมายความว่า นายจ้างต้องกระทำการใดๆ เพื่อไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้จึงจะเป็นการเลิกจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาได้ความว่า ก่อนที่สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกับจำเลยจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยได้ประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ขยายระยะเวลาว่าจ้างจำเลยออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 และให้ลูกจ้างทั้งหมดเข้าทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยในโครงการดังกล่าวต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ขยายออกไป แต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้ทำบันทึกเสนอต่อฝ่ายบุคคลของจำเลยว่าไม่ประสงค์ต่อสัญญากับจำเลยและคืนบัตรลูกจ้างในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างแล้วไม่ไปทำงานอีกเลย ทั้งโจทก์ที่ 3 ยังได้ยื่นใบลาออกลงวันที่ 15 มกราคม 2548 โดยลาออกตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นไป ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นได้ว่าจำเลยยังประสงค์จะให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานต่อไป แต่ฝ่ายโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเองที่ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไป จำเลยหาได้กระทำการใดๆ เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้แต่อย่างใดไม่ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.
( วิเทพ พัชรภิญโญพงศ์ - วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ - วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงษ์ )

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้
(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่ไม่ครบหนึ่งปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีแต่ไม่ครบหกปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปีแต่ไม่ครบสิบปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(5) ลูกล้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่าการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใดและหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น

การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้ สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตาม ฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้นซึ่งงานนั้นจะต้อง แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US