นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว | ค่าจ้างระหว่างหยุดงาน

นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว | ค่าจ้างระหว่างหยุดงาน
การที่นายจ้างต้องหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวเพราะความจำเป็นนั้นนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างระหว่างประกาศหยุดงานร้อยละ 50 ของค่าจ้างสุดท้าย กรณีที่นายจ้างถูกลูกค้าระงับการสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากหากผลิตสินค้าต่อไปก็มีแต่จะขาดทุนจึงเป็นการจำเป็นแล้วที่นายจ้างต้องประกาศหยุดงานและนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนเพราะเป็นเหตุตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966-2406/2546

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 ให้สิทธิแก่นายจ้างที่ประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจให้สามารถหยุดการดำเนินกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ชั่วคราวเพื่อให้โอกาสแก้ไขวิกฤติการณ์ดังกล่าวให้หมดสิ้นหรือบรรเทาลงได้ เมื่อได้ความว่าลูกค้าของจำเลยที่ 1 ยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนมาก หากจำเลยที่ 1 ยังผลิตสินค้าต่อไปก็ไม่แน่นอนว่าจำเลยที่ 1 จะจำหน่ายสินค้าได้หรือไม่ การผลิตต้องมีเงินลงทุนย่อมเสี่ยงต่อการ ขาดทุนอันจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะทางการเงินและความคงอยู่ของกิจการจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในระหว่าง ฟื้นฟูกิจการ กรณีย่อมถือได้ว่าเป็นความจำเป็นตามความหมายของมาตรา 75 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ประกาศให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์หยุดงานรวม 4 ครั้ง เป็นเวลา 109 วัน เพื่อรอคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าหรือหาลูกค้ารายใหม่ทดแทนโดยจำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานแก่โจทก์ทั้งหมดแล้ว การประกาศหยุดงานจึงชอบด้วยมาตรา 75 จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติเต็มจำนวนแก่โจทก์

โจทก์ทั้งสี่ร้อยสี่สิบเอ็ดสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างค้างชำระตลอดเวลาที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์ทั้งหมดหยุดงานพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์ทั้งหมด

จำเลยทั้งสองทั้งสี่ร้อยสี่สิบเอ็ดสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 441 ในจำนวนเงินตามบัญชีท้ายคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหมด

จำเลยทั้งสองทั้งสี่ร้อยสี่สิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการ ชั่วคราวโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงานนั้น เป็นการให้สิทธิแก่นายจ้างที่ประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจให้สามารถหยุดการดำเนินกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ไว้ชั่วคราวเพื่อให้โอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไปหรือบรรเทาลงได้ ฉะนั้น เมื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 ยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนมาก หากจำเลยที่ 1 ยังคงผลิตสินค้าดังกล่าวต่อไป ก็ไม่แน่นอนว่าจำเลยที่ 1 จะจำหน่ายสินค้าดังกล่าวได้หรือไม่ และในการผลิตต้องมีเงินลงทุนทั้งในด้านวัตถุดิบและค่าแรงงาน ย่อมเสี่ยงต่อการขาดทุนอันจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะทางการเงินและความคงอยู่ของกิจการจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในระหว่างฟื้นฟูกิจการ กรณีย่อมถือได้ว่าเป็นความจำเป็นตามความหมายของมาตรา 75 แล้ว แม้ต่อมาภายหลังจำเลยที่ 1 จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายบางส่วนจากลูกค้าก็เป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับ จึงไม่เป็นการลบล้างความจำเป็นที่จำเลยที่ 1 มีอยู่แต่อย่างใดและบทบัญญัติแห่งมาตรา 75 ดังกล่าวเป็นการให้สิทธิแก่นายจ้าง โดยถือเป็นการคุ้มครองนายจ้างเพื่อให้กิจการของนายจ้างคงอยู่ได้ต่อไป และในขณะเดียวกันลูกจ้างก็จะได้รับประโยชน์ไปในตัวด้วย โดยได้รับการคุ้มครองให้ได้รับค่าจ้างในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานตลอดเวลาที่นายจ้างสั่งหยุดงาน บทกฎหมายดังกล่าวมิใช่มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครอง แต่เฉพาะลูกจ้างดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย ฉะนั้น เมื่อมีความจำเป็นที่จำเลยที่ 1 สามารถสั่งให้หยุดกิจการ ทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้ดังที่กล่าวมา การที่จำเลยที่ 1 ประกาศให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งหมด หยุดงานชั่วคราวรวม 4 ครั้ง เป็นเวลา 109 วัน เพื่อรอคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าหรือหาลูกค้ารายใหม่ทดแทน โดยจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานแก่โจทก์ทั้งหมดแล้ว การประกาศหยุดงาน ดังกล่าวชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 แล้ว จำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ต้องจ่าย ค่าจ้างตามปกติเต็มจำนวนแก่โจทก์ทั้งหมดดังที่ศาลแรงงานวินิจฉัย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด.
( อรพินท์ เศรษฐมานิต - พันธาวุธ ปาณิกบุตร - รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ )

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
มาตรา 75 ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุด กิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัยให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่า ร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน
ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบ ล่วงหน้าก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่ง

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US