ทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์

ทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียง 29,500 บาท ซึ่งไม่เกินห้าหมื่นบาท เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์เพื่อให้ได้รับค่าเสียหายมากขึ้นทุนทรัพย์จำนวนดังกล่าวจึงเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ที่ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง

ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติในคดีส่วนอาญามีแต่เพียงว่า โจทก์และจำเลยต่างกระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ ดังนั้นในการดำเนินคดีแพ่งทั้งโจทก์และจำเลยย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าใครประมาทมากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เพียงใด

การที่โจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าฝ่ายจำเลยประมาณมากกว่าและโจทก์เสียหายจากการประมาทมากกว่านั้นอย่างไร เพียงใด ที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยประมาทมากกว่า และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความร้ายแรงแห่งละเมิดที่โจทก์จำเลยต่างก่อขึ้นและค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องแล้วกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินรวม 29,500 บาท จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว

ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียง 29,500 บาท ซึ่งไม่เกินห้าหมื่นบาท เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์เพื่อให้ได้รับค่าเสียหายมากขึ้น ทุนทรัพย์จำนวนดังกล่าวจึงเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ที่ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่า ตามพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยมีความประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ -5391/2551

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2544 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา จำเลยขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กค-600 ปทุมธานี โดยประมาทเลี้ยวขวาอย่างรวดเร็วหน้าสถานสงเคราะห์บ้านกึงวิถี ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โดยไม่ดูให้ปลอดภัยและไม่ให้สัญญาณใดเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งขับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 3 ฮ-4315 ของโจทก์ ชนกับรถยนต์ที่จำเลยขับ โจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกสะบ้าด้านขวาและกระดูกหน้าแข้งขวาหักต้องรักษาโดยการผ่าตัด เสียค่ารักษาพยาบาล 6,654 บาท รถจักรยานยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเป็นเงิน 13,634 บาท โจทก์ซึ่งมีอาชีพรับจ้างก่อสร้างขาดรายได้ระหว่างรักษาตัวเป็นเงิน 90,000 บาท และขอเรียกค่าเสียหายจากการได้รับบาดเจ็บและขาไม่ปกติ 100,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 210,288 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 210,288 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 3ฮ-4315 เหตุเกิดจากความประมาทของโจทก์ฝ่ายเดียวที่เห็นอยู่ว่าจำเลยกำลังบังคับรถยนต์เลี้ยวขวาแต่ยังขับรถยานยนต์เบียดแซงขึ้นมาโดยไม่ให้สัญญาณใดๆ ทำให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของจำเลย ค่าซ่อมรถที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความจริง โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ อีกทั้งจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเสียหายให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าต่างถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นว่าขับรถด้วยความประมาท โจทก์และจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษทั้งโจทก์และจำเลยแล้ว คู่ความแถลงขอสืบพยานเฉพาะประเด็นค่าเสียหายเพียงประการเดียว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 29,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 มีนาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2544 จำเลยขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กค-600 ปทุมธานี เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 3ฮ-4315 ที่โจทก์ขับ บนถนนเข้าการเคหะรังสิต คลองหก ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องทั้งจำเลยและโจทก์เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น ทั้งจำเลยและโจทก์ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นปรับจำเลย 2,500 บาท และปรับโจทก์ 500 บาท รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย ล.1 คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว

มีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2739/2545 ของศาลชั้นต้นตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย ล.1 ที่วินิจฉัยว่าทั้งจำเลยและโจทก์ซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีดังกล่าวต่างให้การรับสารภาพว่าได้กระทำโดยประมาท ศาลพิพากษาลงโทษปรับทั้งจำเลยและโจทก์โดยคดีไม่มีการสืบพยาน ย่อมไม่อาจจะถือได้ว่าใครเป็นฝ่ายประมาทมากกว่ากัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยประมาทมากกว่าและกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ 29,500 บาท จึงไม่ชอบ พิเคราะห์แล้ว อุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายว่าเมื่อศาลในคดีส่วนอาญาได้วินิจฉัยแล้วว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างกระทำโดยประมาท โดยมิได้วินิจฉัยว่าใครประมาทมากกว่ากัน ศาลในคดีส่วนแพ่งย่อมต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเช่นนั้น ไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยประมาทมากกว่าแล้วกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จะบัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดั่งที่จำเลยอ้าง แต่ในกรณีคดีนี้ ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติในคดีส่วนอาญาคงมีแต่เพียงว่า ทั้งโจทก์และจำเลยต่างกระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ ดังนั้นในการดำเนินคดีแพ่งทั้งโจทก์และจำเลยย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าใครประมาทมากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เพียงใด เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ และบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดเป็นมูลหนี้ละเมิดขึ้นนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 วางหลักไว้ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 223 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร และมาตรา 438 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ดังนั้นการที่จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ย่อมเป็นความจำเป็นของโจทก์ที่ต้องพิสูจน์ว่าฝ่ายจำเลยประมาทมากกว่าและโจทก์เสียหายจากการประมาทมากกว่านั้นอย่างไร เพียงใด ที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยประมาทมากกว่า และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความร้ายแรงแห่งละเมิดที่โจทก์จำเลยต่างก่อขึ้นและค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องแล้วกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินรวม 29,500 บาท เป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อกฎหมายว่าศาลชั้นต้นเป็นศาลในคดีส่วนแพ่งมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์จำเลยใครเป็นฝ่ายประมาทมากกว่ากันไม่ขัดต่อคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบแล้วแต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยต่อไปว่า ตามพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยมีความประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นเป็นการก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น ซึ่งได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพราะศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียง 29,500 บาท ซึ่งไม่เกินห้าหมื่นบาท เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์เพื่อให้ได้รับค่าเสียหายมากขึ้นทุนทรัพย์จำนวนดังกล่าวจึงเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ที่ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นข้อนี้”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนที่วินิจฉัยข้อเท็จจริง ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 600 บาท
( สุรศักดิ์ กิตติพงษ์พัฒนา - ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช - วรพจน์ วิไลชนม์ )

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US