สัญญาซื้อขายที่มีหลักประกันเพื่อปฏิบัติตามสัญญา

สัญญาซื้อขายที่มีหลักประกันเพื่อปฏิบัติตามสัญญา

สัญญาซื้อขายตกลงส่งมอบสิ่งของเป็นงวด ๆ ผู้ขายตกลงจ่ายเงินในแต่ละงวดที่ส่งมอบสิ่งของถูกต้อง ถ้าผู้ขายผิดสัญญาผู้ซื้อบอกเลิกสัญญาได้ โดยสัญญามีธนาคารเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมอบไว้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อมีสิทธิริบหลักประกันได้เมื่อผู้ขายผิดสัญญา เมื่อผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้และผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้วธนาคารจึงต้องรับผิดชดใช้เงินแก่ผู้ซื้อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3974/2532

ตามสัญญาซื้อขายข้อ 3 มีใจความว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขายจะส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายตามสัญญาให้แก่โจทก์ผู้ซื้อภายในกำหนด 200 วัน นับแต่วันลงนามในสัญญาเป็นต้นไป โดยแบ่งการส่งมอบออกเป็น 4 งวด ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ และได้กำหนดจำนวนเงินค่าสิ่งของแต่ละงวดเอาไว้ด้วย นอกจากนี้ตามสัญญาข้อ 5 วรรคสองมีข้อความว่าการจ่ายเงินจะจ่ายให้ตามงวดที่ผู้ขายได้ส่งของถูกต้องครบถ้วนทุกรายการ และคณะกรรมการได้ทำการตรวจรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามสัญญาดังกล่าวจะเห็นว่าการตกลงให้ผู้ขายส่งมอบสิ่งของให้แก่ผู้ซื้อเป็นงวด ๆ มีกำหนดเวลาแน่นอน นับว่าเป็นสาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของสัญญา เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสิ่งของสำหรับงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ภายในกำหนด ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด 200 วันได้ สัญญาซื้อขายข้อ 7 มีข้อความว่า "ในวันทำสัญญานี้ผู้ขายได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นจำนวนร้อยละ10(สิบ) ของราคาสิ่งของทั้งหมดตามสัญญานี้คิดเป็นเงิน 1,085,480 บาท มามอบไว้แก่ผู้ซื้อเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญานี้..."และวรรคสองมีข้อความว่า "หลักประกันที่ผู้ขายนำมามอบให้ตามวรรคหนึ่ง ผู้ซื้อจะคืนให้เมื่อผู้ขายพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญานี้แล้ว" และสัญญาข้อ 8 วรรคสอง มีข้อความว่า "ในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7 เป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้ตามแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควร..." จากข้อความในสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่า การทำสัญญาระหว่างโจทก์ผู้ซื้อและจำเลยที่ 1 ผู้ขายนี้โจทก์ต้องการจะให้จำเลยที่ 1 มีหลักประกันมาวางเพื่อเป็นการปฏิบัติตามสัญญา และจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ริบหลักประกันได้ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา แต่หลักประกันที่จำเลยที่ 1 นำมาวางนี้เป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็ได้ทำสัญญากับโจทก์รับรองที่จะชำระเงินให้โจทก์ทันทีถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและโจทก์ใช้สิทธิริบหลักประกันดังที่ปรากฏในหนังสือค้ำประกันข้อ 1 วรรคสอง ซึ่งมีข้อความว่า "ข้าพเจ้า(จำเลยที่ 3) ยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีเสาวภาค (จำเลยที่ 1) ต่อกรมตำรวจ (โจทก์) เป็นวงเงินไม่เกิน 1,085,480 บาท กล่าวคือ หากห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีเสาวภาค ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายแผ่นป้ายอลูมิเนียม อัดวัสดุสะท้อนแสงและสีดำอบ แห้งที่ทำไว้กับกรมตำรวจหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดของสัญญาดังกล่าว ซึ่งกรมตำรวจมีสิทธิริบหลักประกันหรือค่าปรับหรือค่าเสียหายใด ๆ จากห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีเสาวภาค ได้แล้ว ข้าพเจ้ายอมชำระเงินแทนให้ทันทีโดยมิต้องเรียกร้องให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีเสาวภาค ชำระก่อน" เมื่อข้อสัญญาเป็นดังนี้ก็เห็นได้ว่าคู่สัญญามีความประสงค์ที่จะผูกพันกันว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดของสัญญา เป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญาและใช้สิทธิริบหลักประกันแล้วจำเลยที่ 3 รับรองที่จะใช้เงินจำนวน 1,085,480 บาท ให้แก่โจทก์ทันที สัญญาดังกล่าวนี้ย่อมมีผลใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยที่ 1ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้และโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้วจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวน 1,085,480 แก่โจทก์.

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายแผ่นอลูมิเนียมอัดวัสดุสะท้อนแสงและสีอบแห้งเป็นเงิน 10,854,800 บาท กำหนดส่งมอบภายในกำหนด 200 วัน นับแต่วันทำสัญญา โดยแบ่งส่ง 4 งวด ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม,9 มิถุนายน, 9 กรกฎาคม และ 18 สิงหาคม 2527 ตามลำดับ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสิ่งของให้โจทก์หรือส่งมอบไม่ถูกต้องหรือไม่ครบจำนวน โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ กรณีโจทก์บอกเลิกสัญญาจำเลยที่ 1 ยอมให้ริบหลักประกันหรือเรียกร้องเงินจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันภายในวงเงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกันกรณีโจทก์ไม่บอกเลิกสัญญาจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละศูนย์จุดสอง (0.2) ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบ นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันส่งมอบสิ่งของจนถูกต้องครบถ้วน ในระหว่างปรับถ้าโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์จะบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องเงินจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันกับเรียกให้ใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันความรับผิดจำเลยที่ 1 เป็นเงินไม่เกิน 1,085,480 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาหรือผิดสัญญาโจทก์มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ได้แล้ว จำเลยที่ 3 ยอมชำระเงินแทนทันทีโดยไม่ต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระก่อน ต่อมาเมื่อครบกำหนดงวดที่ 1 จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบสิ่งของให้โจทก์ เมื่อครบกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบสิ่งของงวดที่ 2 จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาอีกโจทก์เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้จึงได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 พร้อมสงวนสิทธิในการเรียกค่าเสียหายและค่าปรับแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับแก่โจทก์ นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญางวดที่ 1 คือวันที่ 11 พฤษภาคม 2527 ถึงวันทราบการบอกเลิกสัญญาคือวันที่ 19 มิถุนายน 2527 รวม 40 วัน คิดเป็นเงิน 868,384 บาทจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในเงินค้ำประกัน 1,085,480 บาท ต้องรับผิดชดใช้เงินในวงเงินดังกล่าว โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 แล้ว ต่างเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินให้โจทก์ 868,348 บาท และให้จำเลยที่ 3 ชดใช้เงินให้โจทก์ 1,085,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิด นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายแผ่นอลูมิเนียมอัดวัสดุสะท้อนแสงและสีดำอบแห้งกับโจทก์จริง ก่อนทำสัญญาได้ติดต่อผู้ผลิตให้ผลิตตามที่โจทก์ซื้อแต่ผู้ผลิตทำผิดขนาดความหนาและสีตามที่ตกลงกับจำเลย จำเลยจึงไม่รับและให้ผู้ผลิตแก้ไข จำเลยได้มีหนังสือแจ้งเหตุล่าช้าอันเป็นเหตุสุดวิสัยให้โจทก์ทราบแล้วและขอเลื่อนการส่งมอบช้ากว่ากำหนด 45 วัน ยอมให้โจทก์ปรับตามสัญญา ผู้ผลิตได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าจะส่งมอบสิ่งของภายในเดือนมิถุนายน 2527 จำเลยได้แจ้งโจทก์แล้วแต่โจทก์กลับใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาในวันที่ 18 มิถุนายน 2527 ก่อนที่สิ่งของจะมาถึง ทั้ง ๆ ที่โจทก์ทราบว่าบริษัทผู้ผลิตกำลังส่งสินค้าให้แก่จำเลย อันเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบเพราะวันครบกำหนดตามสัญญาวันสุดท้ายคือวันที่ 18 สิงหาคม 2528 (ที่ถูก2527) และไม่ปรากฏข้อความในสัญญาว่าหากจำเลยผิดนัดการส่งมอบงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 โดยถือว่าโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ก็ต้องเป็นหลังวันที่ 18 สิงหาคม 2528 ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจบอกเลิกสัญญาได้ และเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเรียกร้องเบี้ยปรับอันเป็นการบรรเทาความเสียหายที่ได้รับแล้วก็ไม่อาจริบเงินประกันจากจำเลยที่ 3 ได้ และเบี้ยปรับก็สูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้องโจทก์

จำเลยที่ 3 ให้การว่า ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันตามฟ้องจริง ตามสัญญาค้ำประกันเป็นการค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาเท่ากับเป็นการประกันด้วยบุคคลมิได้ประกันด้วยทรัพย์ และค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญา ไม่ได้ระบุให้นำเงินสดมาวางเป็นประกันจึงมิใช่การค้ำประกันแทนการวางเงินสด ดังนั้นข้อความในสัญญาที่ระบุให้โจทก์ริบหลักประกันจึงไม่มีผลบังคับ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง จำเลยที่ 3 มีความผูกพันค้ำประกันในการปฏิบัติตามสัญญา หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับค่าเสียหาย ถ้าหากมี เท่านั้น แต่โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงหาต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ไม่ โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ เพราะความล่าช้ามิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 และล่าช้าเฉพาะบางงวดเท่านั้น ขณะบอกเลิกสัญญายังไม่ครบ 200 วัน ตามสัญญา หากโจทก์ไม่รีบบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 สามารถส่งสิ่งของได้ตามสัญญาแน่นอน การบอกเลิกสัญญาจึงไม่ชอบ และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหาย ถ้าโจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเท่านั้นจึงจะปรับได้ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าปรับ เมื่อจำเลยที่ 1ไม่ต้องชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้อง จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องชี้สองสถานและสืบพยาน จึงให้งดแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา เหตุที่จำเลยที่ 1 อ้างไม่ใช่เหตุสุดวิสัย โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญา และโจทก์มีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 แต่เบี้ยปรับสูงเกินไปเห็นสมควรกำหนดให้เพียง 100,000 บาท ส่วนเรื่องริบหลักประกัน จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์ยอมให้ริบหลักประกันกรณีจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดของสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจนโจทก์บอกเลิกสัญญาและปรับจำเลยที่ 1 โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิริบหลักประกันซึ่งถือว่าเป็นมัดจำได้ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงิน 100,000 บาท จำเลยที่ 3 ใช้เงิน 1,085,480 บาท แก่โจทก์ทั้งนี้พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินที่แต่ละคนต้องรับผิดนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท(เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนในส่วนที่แต่ละคนถูกฟ้อง)

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 3 อยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดแทนจำเลยที่ 1 หนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดก็คือหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่อาจจะมากไปกว่านั้น และเห็นว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบ กับเห็นด้วยที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้ 100,000 บาท พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เสร็จ ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์เป็นพับ

โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อแรกมีว่าโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามสำเนาสัญญาท้ายฟ้องหมายเลข 2 ข้อ 3 มีใจความว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขายจะส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายตามสัญญาให้แก่โจทก์ผู้ซื้อภายในกำหนด 200 วัน นับแต่วันลงนามในสัญญาเป็นต้นไป โดยแบ่งการส่งมอบออกเป็น 4 งวด งวดที่ 1 ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2527 งวดที่ 2ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2527 งวดที่ 3 ภายในวันที่ 9 กรกฎาคม2527 และงวดที่ 4 ภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2527 และได้กำหนดจำนวนเงินค่าสิ่งของแต่ละงวดเอาไว้ด้วย ปรากฏตามสำเนาสัญญาข้อ 3, 3.1, 3.2, 3.3 และ 3.4 และตามสำเนาสัญญาข้อ 5 วรรคสอง มีข้อความว่า การจ่ายเงินจะจ่ายให้ตามงวดที่ผู้ขายได้ส่งของถูกต้องครบถ้วนทุกรายการ และคณะกรรมการได้ทำการตรวจรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามสัญญาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการตกลงให้ผู้ขายส่งมอบสิ่งของให้แก่ผู้ซื้อเป็นงวด ๆ มีกำหนดเวลาแน่นอน นับว่าเป็นสาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของสัญญา เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสิ่งของสำหรับงวดที่ 1 ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2527 และงวดที่ 2 ภายในวันที่ 9 มิถุนายน2527 ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในสัญญาแล้ว และในทางกลับกันถ้าจำเลยที่ 1 ส่งมอบสิ่งของสำหรับงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ให้โจทก์ถูกต้องครบถ้วนทุกรายการ และคณะกรรมการได้ทำการตรวจรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่โจทก์ไม่จ่ายเงินงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ก็ถือว่าโจทก์ประพฤติผิดสัญญาเช่นเดียวกัน จำเลยที่ 3 จะฎีกาเถียงว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาในขณะที่ยังไม่ครบ 200 วัน เป็นการไม่ชอบย่อมฟังไม่ขึ้น และได้ความว่าก่อนที่จะถึงกำหนดเวลาส่งมอบสิ่งของงวดที่ 1 โจทก์ได้มีหนังสือสอบถามจำเลยที่ 1 ว่าได้เตรียมการเกี่ยวกับการส่งมอบของไว้แล้วประการใด และได้ดำเนินการสั่งของจากต่างประเทศไปได้แค่ไหนเพียงใด จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉยเสีย ครั้นเมื่อพ้นกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญางวดที่ 1 แล้ว โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 จัดส่งหลักฐานการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไปยังบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ หรือหลักฐานการซื้อสิ่งของตามสัญญาอย่างอื่นให้แก่โจทก์เพื่อโจทก์จะได้พิจารณาว่าจำเลยที่ 1 อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้หรือไม่ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่จัดส่งเอกสารดังกล่าวให้โจทก์และอ้างเหตุที่ไม่ส่งมอบสิ่งของตามกำหนดว่าบริษัทผู้ผลิตสิ่งของทำสิ่งของผิดขนาดความหนาและสีตามที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 จึงให้ผลิตใหม่ให้ได้ขนาดและสีตามตัวอย่าง และจำเลยที่ 1 ขอขยายเวลาการส่งมอบสิ่งของออกไป 45 วัน โจทก์จึงแจ้งจำเลยที่ 1 ว่าเนื่องจากจำเลยที่ 1 ยังมิได้ส่งมอบหลักฐานการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตมาให้ จึงไม่อาจพิจารณาตามที่จำเลยที่ 1 ขอขยายเวลาการส่งมอบสิ่งของพร้อมกับเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบเอกสารหลักฐานตามที่โจทก์ต้องการ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แจ้งโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อขายกับผู้ผลิตในต่างประเทศโดยวิธีเดินทางไปซื้อถึงที่และแบบ ดี/พี คือจะชำระเงินเมื่อได้รับสินค้าจากต่างประเทศ จึงไม่มีหลักฐานการเปิด แอล/ซี คือเลตเตอร์ออฟเครดิตจำเลยที่ 1 ได้ส่งผู้จัดการของห้างเดินทางไปต่างประเทศ และจะกลับมาพร้อมหลักฐานนำมาแสดงต่อโจทก์ภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2527 แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่สามารถนำหลักฐานการซื้อขายมาแสดงต่อโจทก์ครั้นครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะต้องส่งมอบสิ่งของงวดที่ 2 คือวันที่ 9 มิถุนายน 2527 จำเลยที่ 1 ก็ไม่ส่งมอบสิ่งของตามสัญญาให้โจทก์ และหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์ขอผัดส่งสิ่งของภายในเดือนมิถุนายน และขอผัดส่งหนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2527 โจทก์เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จะเห็นได้ว่าตามพฤติการณ์ดังกล่าวมาแล้วนั้น โจทก์มีความประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบสิ่งของให้ตามสัญญาอย่างแท้จริง แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ส่งมอบสิ่งของให้โจทก์งวดที่ 1 โจทก์ก็ยังไม่บอกเลิกสัญญาในทันทีแต่ก็ให้โอกาสจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 เสนอหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการติดต่อเพื่อซื้อสิ่งของที่จะส่งมอบให้โจทก์จากต่างประเทศไปแล้วแค่ไหนเพียงใด แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่สามารถแสดงหลักฐานตามที่โจทก์ต้องการได้จนกระทั่งครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะต้องส่งมอบสิ่งของให้โจทก์งวดที่ 2 จำเลยที่ 1 ก็ยังคงไม่สามารถส่งมอบสิ่งของให้โจทก์ได้ โจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมหาได้เป็นการกลั่นแกล้งบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบและใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาแต่ประการใด ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 3 ในประเด็นที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์จะได้วินิจฉัยรวมกันไปกับฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์หรือไม่เพียงใด ตามสำเนาสัญญาซื้อขายเอกสารหมายเลข 2 ท้ายฟ้องข้อ 7 มีข้อความว่า "ในวันทำสัญญานี้ผู้ขายได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารเอเชีย จำกัด สาขาราชประสงค์ที่รส.21/2527 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 เป็นจำนวนร้อยละ10(สิบ) ของราคาสิ่งของทั้งหมดตามสัญญานี้คิดเป็นเงิน 1,085,480 บา(หนึ่งล้านแปดหมื่นห้าพันสี่ร้อยแปดสิบบาทถ้วน) มามอบไว้แก่ผู้ซื้อเป็นการประกันการปฏิบัติตามสัญญานี้ และมีอายุประกันตลอดระยะเวลาที่ผู้ขายต้องรับผิดชอบตามสัญญานี้" และวรรคสองมีข้อความว่า"หลักประกันที่ผู้ขายนำมามอบให้ตามวรรคหนึ่ง ผู้ซื้อจะคืนให้เมื่อผู้ขายพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญานี้แล้ว" และสัญญาข้อ 8 วรรคสอง มีข้อความว่า "ในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7 เป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ตามแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควร... ฯลฯ" จากข้อความในสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่าการทำสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 นี้ โจทก์ต้องการจะให้จำเลยที่ 1 มีหลักประกันมาวางเพื่อเป็นการปฏิบัติตามสัญญา และจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ริบหลักประกันได้ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา แต่หลักประกันที่จำเลยที่ 1 นำมาวางนี้เป็นหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3 สาขาราชประสงค์ ซึ่งจำเลยที่ 3 สาขาราชประสงค์ก็ได้ทำสัญญากับโจทก์รับรองที่จะชำระเงินให้โจทก์ทันทีถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและโจทก์ใช้สิทธิริบหลักประกัน ดังที่ปรากฏในหนังสือค้ำประกันของธนาคาร เอกสารหมายเลข 3 ท้ายฟ้อง ข้อ 1 วรรคสอง ซึ่งมีข้อความว่า "ข้าพเจ้า (ซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 3 สาขาราชประสงค์)ยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีเสาวภาค(หมายถึงจำเลยที่ 1) ต่อกรมตำรวจ (หมายถึงโจทก์) เป็นวงเงินไม่เกิน 1,085,480 บาท (หนึ่งล้านแปดหมื่นห้าพันสี่ร้อยแปดสิบบาทถ้วน) กล่าวคือ หากห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีเสาวภาคไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายแผ่นป้ายอลูมิเนียมอัดวัสดุสะท้อนแสงและสีดำอบแห้งที่ทำไว้กับกรมตำรวจหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดของสัญญาดังกล่าว ซึ่งกรมตำรวจมีสิทธิริบหลักประกันหรือค่าปรับหรือค่าเสียหายใด ๆ จากห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีเสาวภาคได้แล้วข้าพเจ้ายอมชำระเงินแทนให้ทันทีโดยมิต้องเรียกร้องให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีเสาวภาคชำระก่อน" เมื่อข้อสัญญาเป็นดังนี้ก็เห็นได้ว่าคู่สัญญามีความประสงค์ที่จะผูกพันกันว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดของสัญญา เป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญาและใช้สิทธิริบหลักประกันแล้วจำเลยที่ 3 สาขาราชประสงค์รับรองที่จะใช้เงินจำนวน 1,085,480 บาท ให้แก่โจทก์ทันทีสัญญาดังกล่าวนี้ย่อมมีผลใช้บังคับได้ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที 3 รับผิดเพียงในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์มากไปกว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท.

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 368 สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย

มาตรา 379 ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดีหรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดีเมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้นได้แก่งดเว้นการอันใดอันหนึ่งหากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใดก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น

มาตรา 380 ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้วก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป
ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้นท่านก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้

มาตรา 381 ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรเช่นว่าไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้เป็นต้นนอกจากเรียกให้ชำระหนี้เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นอีกด้วยก็ได้
ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 380 วรรคสอง
ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้วจะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้

มาตรา 386 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายการเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
การแสดงเจตนาดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่

มาตรา 388 ถ้าวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญานั้นว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้จะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการ ชำระหนี้ ณ เวลามีกำหนดก็ดีหรือภายในระยะเวลาอันใดอันหนึ่ง ซึ่งกำหนดไว้ก็ดีและกำหนดเวลาหรือระยะเวลานั้นได้ล่วงพ้นไปโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ชำระหนี้ไซร้ ท่านว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้ มิพักต้องบอกกล่าวดั่งว่าไว้ในมาตราก่อนนั้นเลย

มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US