ผู้เสียหายไม่มาเบิกความเป็นพยานในศาล
ผู้เสียหายที่ถูกข่มขืนกระทำชำเราแม้ไม่มาเบิกความเป็นพยานในศาลในวันสืบพยาน ศาลย่อมรับฟังคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนประกอบพยานหลักฐานอื่นของพนักงานอัยการโจทก์ลงโทษจำเลยผู้กระทำความผิดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3511/2552
โจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายที่ 1 มาเบิกความเป็นพยาน เนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 ย้ายที่อยู่หาตัวไม่พบ คำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ในชั้นสอบสวนแม้เป็นพยานบอกเล่า แต่ผู้เสียหายที่ 1 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน นักจิตวิทยาและพนักงานอัยการโดยมีการบันทึกภาพและเสียงไว้ตามแถบวิดีทัศน์วัตถุพยานหมาย ว.จ.1 อันเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ศาลย่อมรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ได้เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ในชั้นพิจารณาของศาลประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้ายและมาตรา 226/3 วรรคสอง (2)
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 276, 284, 310, 318
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 284 วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 318 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา เพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยใช้กำลังประทุษร้าย อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยใช้กำลังประทุษร้าย อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 15 ปี รวมจำคุก 20 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก จำคุก 4 ปี จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลซึ่งน่าจะรู้ผิดชอบชั่วดีแล้ว จึงไม่สมควรลดมาตราส่วนโทษให้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ฐานร่วมกันพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย และฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งไม่ใช่ภริยาของตนอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 15 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุก 18 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายที่ 1 มาเบิกความเป็นพยานเนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 ย้ายที่อยู่หาตัวไม่พบแต่โจทก์มีคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ในชั้นสอบสวน ซึ่งยืนยันว่าผู้เสียหายที่ 1 ถูกจำเลยทั้งสองกับพวกข่มขืนกระทำชำเราในบ้านเกิดเหตุโดยมีพันตำรวจโทไพวรรณพนักงานสอบสวนมาเบิกความรับรองข้อเท็จจริงดังกล่าว คำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ในชั้นสอบสวนแม้เป็นพยานบอกเล่าแต่ผู้เสียหายที่ 1 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน นักจิตวิทยาและพนักงานอัยการโดยมีการบันทึกภาพและเสียงไว้ด้วยตามแถบวิดีทัศน์วัตถุพยานหมาย ว.จ.1 อันเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ ซึ่งศาลย่อมรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ได้เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ในชั้นพิจารณาของศาลประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย และมาตรา 226/3 วรรคสอง (2) ผู้เสียหายที่ 1 เคยรู้จักกับจำเลยทั้งสองมาก่อนเนื่องจากเรียนหนังสือที่วิทยาลัยเทคนิคราชบุรีด้วยกันประกอบกับ ผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยทั้งสองไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จึงเชื่อว่าผู้เสียหายที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามความเป็นจริง หลังเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 พาพันตำรวจโทไพวรรณไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ พันตำรวจโทไพวรรณรวบรวมเส้นผมและเส้นขนในห้องเกิดเหตุ ซึ่งตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย ป.จ.2 การตรวจพิสูจน์วัตถุพยานดังกล่าวได้กระทำตามหลักวิชานิติวิทยาศาสตร์โดยผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ห้องเกิดเหตุมิได้เป็นห้องพักอยู่อาศัยของจำเลยทั้งสอง การที่มีเส้นผมและเส้นขนบริเวณอวัยวะเพศของจำเลยทั้งสองอยู่ในห้องเกิดเหตุย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคดีนี้อันเป็นการสนับสนุนคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ในชั้นสอบสวนให้มีน้ำหนักในการรับฟัง จำเลยที่ 1 ก็นำสืบยอมรับว่าเป็นคนพาผู้เสียหายที่ 1 ไปบ้านเกิดเหตุ หลังจากผู้เสียหายที่ 1 ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจไปบ้านเกิดเหตุ และควบคุมตัวจำเลยทั้งสองกับพวกรวม 6 คน ซึ่งอยู่ในบ้านดังกล่าวมาให้ผู้เสียหายที่ 1 ดูตัวที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองราชบุรี ผู้เสียหายที่ 1ได้ชี้ตัวยืนยันว่าเฉพาะจำเลยทั้งสองเท่านั้นที่เป็นคนร้ายร่วมกับพวกข่มขืนกระทำชำเราตน ส่วนบุคคลอื่น 4 คน ผู้เสียหายที่ 1 แจ้งว่ามิใช่คนร้าย จึงแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายที่ 1 จำจำเลยทั้งสองได้อย่างแม่นยำ ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำสืบปฏิเสธว่ามิได้กระทำความผิดนั้น เห็นว่าไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ พยานหลักฐานโจทก์ประกอบกันมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
( พงษ์ศักดิ์ วีระเสถียร - สถิตย์ ทาวุฒิ - ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์ )
ศาลจังหวัดราชบุรี - นายสุพจน์ อินทิวร
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 - นายไมตรี ศิริเมธารักษ์