การทำนากุ้งไม่ใช่การประกอบอาชีพกสิกรรม
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (12) จำคุก 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าท่อพีวีซีจำนวน 5 ท่อ เป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้ทำนากุ้ง ซึ่งเป็นผู้มีอาชีพกสิกรรม แต่การทำนากุ้ง ไม่ใช่การประกอบอาชีพกสิกรรม เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยปรับบทและแก้ไขโทษให้ถูกต้องได้ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) จำคุก 6 เดือน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13491/2553
พนักงานอัยการจังหวัดกระบี่ โจทก์
การทำนากุ้งไม่ใช่การประกอบอาชีพกสิกรรมตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (12) วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยปรับบทและแก้ไขโทษให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
________________________________
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 357
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (12) วรรคสอง ประกอบมาตรา 86 จำคุก 12 เดือน คำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลย การลักทรัพย์สำเร็จเสร็จสิ้นและเด็ดขาดไปแล้ว ไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกา วินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวมาแล้วและยังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยเดิม ฎีกาของจำเลยไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าท่อพีวีซีจำนวน 5 ท่อ เป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้ทำนากุ้ง ซึ่งเป็นผู้มีอาชีพกสิกรรมและศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 335 (1) (12) วรรคสอง เห็นว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต พ.ศ.2542 คำว่า “กสิกรรม” หมายความถึงการทำไร่ ไถนา การทำนากุ้ง ไม่ใช่การประกอบอาชีพกสิกรรมตามความหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าว และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยปรับบทและแก้ไขโทษให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
( วีระชาติ เอี่ยมประไพ - อาวุธ ปั้นปรีชา - สมชาย พันธุมะโอภาส )
ศาลจังหวัดกระบี่ - นายมานิตย์ ตันติวัชรพันธุ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายวิชิต ทัศนานุกูลกิจ
ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225
มาตรา 195 ข้อกฎหมายทั้งปวงอันคู่ความอุทธรณ์ร้องอ้างอิงให้แสดงไว้โดยชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์ แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น
--ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์ เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นก็ตาม
มาตรา 225 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา และว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง
ป.อ. มาตรา 335
มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์
(1) ในเวลากลางคืน
(2) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือ ในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะ อื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัย โอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัว ภยันตรายใด ๆ
(3) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใด ๆ
(4) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทาง คนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้
(5) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วย ประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้
(6) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน
(7) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สอง คนขึ้นไป
(8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้ บริการสาธารณที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ ในสถานที่นั้น ๆ
(9) ในสถานที่บูชาสาธารณ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยานที่จอดรถ หรือเรือสาธารณ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยาน สาธารณ
(10) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์
(11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง
(12) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาท ถึงหนึ่งหมื่นบาท
--ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะ ดังที่บัญญัติไว้ในอนุ มาตรา ดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุ มาตรา ขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่ สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
---ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกล หรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับ ประกอบกสิกรรมผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท
----ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวใน มาตรานี้ เป็นการกระทำ โดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทานและทรัพย์นั้นมีราคา เล็กน้อยศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 334 ก็ได้