มิได้มุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น

มิได้มุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นในคดีล้มละลาย
ลูกหนี้ได้เปิดบัญชีกระแสรายวัน ระหว่างอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี อันเป็นระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายและภายหลังนั้นลูกหนี้ได้นำเงินเข้าบัญชีและเบิกถอนออกจากบัญชีไป ปัญหามีว่าการกระทำของลูกหนี้ดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นหรือไม่ ในระหว่างอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ลูกหนี้สามารถนำเงินเข้าฝากเพื่อหักทอนบัญชีและเบิกถอนต่อไปได้อันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด การที่ลูกหนี้นำเงินเข้าบัญชีจึงมีลักษณะเป็นการลดหนี้ลงชั่วคราวแล้วเบิกเงินใหม่ซึ่งกระทำตลอดเวลาของอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและไม่เป็นการชำระหนี้ทีเดียวเสร็จสิ้นกันไปเลย และเจ้าหนี้ไม่ทราบมาก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การนำเงินเข้าบัญชีของลูกหนี้จึงเป็นการชำระหนี้เพื่อก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นอันเป็นวิธีการเพื่อจะเบิกเงินจากเจ้าหนี้ได้มากยิ่งขึ้นตามประเพณีธนาคารในเรื่องบัญชีเดินสะพัดเท่านั้นการกระทำของลูกหนี้จึงมิได้มุ่งหมายให้เจ้าหนี้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นแม้ได้กระทำในระยะเวลาสามเดือนก่อนและหลังฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3919/2535

ลูกหนี้เปิดบัญชีกระแสรายวัน โดยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับผู้คัดค้านในวงเงิน 1,000,000 บาท ในระหว่างสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ภายหลังนั้นลูกหนี้นำเงินเข้าบัญชีให้แก่ผู้คัดค้าน เป็นเงิน 791,197 บาท และเบิกเงินออกจากบัญชีไป390,760 บาท การนำเงินเข้าบัญชีของลูกหนี้มีลักษณะเป็นการลดยอดหนี้ชั่วคราวแล้วเบิกเงินใหม่ ซึ่งได้กระทำตลอดเวลาของอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และไม่เป็นการชำระหนี้ทีเดียวให้เสร็จสิ้นกันไปเลย จึงเป็นการชำระหนี้เพื่อก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นอันเป็นวิธีการเพื่อจะเบิกเงินจากผู้คัดค้านได้มากยิ่งขึ้นตามประเพณีธนาคารในเรื่องบัญชีเดินสะพัดเท่านั้น การกระทำของลูกหนี้จึงมิได้มุ่งหมายให้ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 แต่อย่างใด.

คดีสืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2531 โจทก์ฟ้องลูกหนี้(จำเลย) ขอให้ล้มละลาย และต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ตามทางสอบสวนของผู้ร้องปรากฏว่าลูกหนี้ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 989 กับผู้คัดค้านสาขาทับสะแก ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2520 ลูกหนี้ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 1,000,000 บาท ระหว่างวันที่ 9ธันวาคม 2530 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2531 อันเป็นระยะเวลาภายใน 3 เดือนก่อนและหลังฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลาย ลูกหนี้ได้นำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งรวม 50รายการ (ที่ถูกเป็น 51 รายการ) เป็นเงิน 791,197 บาท โดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ซึ่งคดีนี้มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 5 ราย เป็นเงิน 4,483,655.51 บาท ผู้ร้องรวบรวมเงินเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้เพียง 1,000,000 บาทเศษ ขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115 และให้ผู้คัดค้านชดใช้เงิน 791,197 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การที่ลูกหนี้นำเงินเข้าบัญชีเป็นเพียงวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเดินสะพัดทางบัญชีตามปกติของธนาคารเนื่องจากลูกหนี้ได้ทำสัญญาเงินเกินบัญชีกับผู้คัดค้านตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2520 มีการนำเงินเข้าฝากบัญชีและเบิกถอนตลอดจนต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเรื่อยมา การที่ลูกหนี้นำเงินเข้าฝากบัญชีนั้น มีลักษณะเป็นการลดหนี้ลงชั่วคราว แล้วเบิกถอนเงินใหม่มีจำนวนรวมกันสูงกว่าเงินที่ลูกหนี้นำเข้าบัญชีตลอดมา การนำเงินเข้าฝากบัญชีของลูกหนี้เป็นวิธีการที่จะเบิกเงินจากผู้คัดค้านให้มากขึ้น หาใช่เป็นการชำระหนี้ทีเดียวเสร็จสิ้นไม่แต่เป็นการชำระหนี้เพื่อก่อหนี้ขึ้นใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายครั้งหลายคราว ดังนั้น การกระทำของลูกหนี้จึงไม่เป็นการมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น อีกทั้งผู้คัดค้านมิได้เข้าไปเกี่ยวข้องรู้เห็นเกี่ยวกับกิจการของลูกหนี้ จึงไม่อาจทราบถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้ได้ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านนำสืบรับกันว่า ลูกหนี้ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 989โดยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีผ่านบัญชีดังกล่าวกับผู้คัดค้าน สาขาทับสะแก ในวงเงิน 1,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย ร.1 ระหว่างอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2530 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2531 อันเป็นระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายและภายหลังนั้นลูกหนี้ได้นำเงินเข้าบัญชีให้แก่ผู้คัดค้านสาขาทับสะแก 51 รายการ รวมเป็นเงิน 791,197 บาทและเบิกถอนออกจากบัญชีไป 390,760 บาท ตามเอกสารหมาย ร.2ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องมีว่าการกระทำของลูกหนี้ดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นหรือไม่ เห็นว่า คดีปรากฏจากคำเบิกความของนายน้อย สมใจรักษ์ และนายมนูญ สอนเสริม พยานผู้ร้องว่าในการดำเนินกิจการของลูกหนี้นั้น ลูกหนี้ใช้เงินทุนจากการกู้มาจากผู้คัดค้านด้วยโดยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน1,000,000 บาท และเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้โดยมีการเบิกถอนและนำเงินเข้าบัญชีหักทอนกันเพื่อจะเบิกถอนต่อไปภายในวงเงินดังกล่าว ซึ่งในระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2530 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม2531 ก็เช่นเดียวกันคือมีทั้งการนำเงินเข้าบัญชีและเบิกถอนออกจากบัญชีด้วยและปรากฏว่าลูกหนี้เป็นหนี้ผู้คัดค้าน สาขาทับสะแกเพียงประมาณ 600,000 บาท ซึ่งก็ยังอยู่ในวงเงินที่ลูกหนี้ยังเบิกถอนต่อไปได้อันเจือสมกันกับคำเบิกความของนายวิริยะเปรมปราโมทย์ พยานผู้คัดค้าน นอกจากนี้นายน้อยพยานผู้ร้องยังเบิกความยืนยันว่า หลังจากเปิดบัญชีกระแสรายวันและทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้ว ได้มีการนำเงินเข้าฝากและถอนอยู่เป็นประจำและก่อนสัญญาครบกำหนดมีการต่ออายุสัญญากันทุกปี ดังนี้แสดงว่าในระหว่างอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ลูกหนี้สามารถนำเงินเข้าฝากเพื่อหักทอนบัญชีและเบิกถอนต่อไปได้อันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด การที่ลูกหนี้นำเงินเข้าบัญชีจึงมีลักษณะเป็นการลดหนี้ลงชั่วคราวแล้วเบิกเงินใหม่ซึ่งกระทำตลอดเวลาของอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและไม่เป็นการชำระหนี้ทีเดียวเสร็จสิ้นกันไปเลย ทั้งที่ตามสัญญาผู้คัดค้านสามารถเรียกให้ชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ทางนำสืบของผู้ร้องก็ยังไม่พอฟังว่าผู้คัดค้านได้ทราบก่อนแล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยลูกหนี้ได้ไปกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้รายอื่นด้วย แม้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ระบุให้ลูกหนี้ต้องแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบและต้องได้รับอนุญาตจากผู้คัดค้านก่อนก็ตาม นายวิริยะพยานผู้คัดค้านก็เบิกความปฏิเสธว่าผู้คัดค้านเพิ่งทราบหลังจากลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลายโดยผู้ร้องแจ้งให้ทราบ การนำเงินเข้าบัญชีของลูกหนี้จึงเป็นการชำระหนี้เพื่อก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นอันเป็นวิธีการเพื่อจะเบิกเงินจากผู้คัดค้านได้มากยิ่งขึ้นตามประเพณีธนาคารในเรื่องบัญชีเดินสะพัดเท่านั้นการกระทำของลูกหนี้จึงมิได้มุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115แต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 115 การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใดๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้
ถ้าเจ้าหนี้ผู้ได้เปรียบเป็นบุคคลภายในของลูกหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำตามวรรคหนึ่งที่ได้กระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US