ผลของการปลดจากล้มล้มละลาย | หนี้สินก่อนล้มละลาย

ผลของการปลดจากล้มล้มละลายกับหนี้สินที่ได้เกิดขึ้นก่อนในคดีล้มละลาย
โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่โจทก์อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ปรากฏว่าเจ้าหนี้อื่นได้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้ แต่การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่นไปย่อมมีผลให้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้รายดังกล่าวไปใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่กองทรัพย์สินของจำเลย โจทก์จะนำหนี้ที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายซ้ำอีกคดีหนึ่งหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5369/2549

จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจาก บ. โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาไว้แก่โจทก์อีกว่า หากโจทก์ต้องชำระหนี้แก่ บ. แทนจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะชำระหนี้แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวันที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาไว้แก่โจทก์นั้นมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์อาจถูก บ. เรียกร้องให้ชำระหนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้ที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามสัญญารับจะชำระหนี้ในเวลาภายหน้าได้ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดโจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่โจทก์อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91, 94 และ 101 ปรากฏว่า บ. ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดแล้ว โจทก์จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 101 วรรคหนึ่งตอนท้าย แต่การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่ บ. ภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดและปลดจากล้มละลายแล้วมีผลให้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของ บ. ไปใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตามป.พ.พ. มาตรา 229 โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดมาฟ้องให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ล้มละลายซ้ำอีก

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ.2534 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือภารธุระอุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ.2534 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 มีหนังสือขอให้โจทก์ค้ำประกันสินเชื่อโครงการของจำเลยที่ 1 ที่ได้สินเชื่อจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยตกลงผูกพันตนตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการค้ำประกันสินเชื่อของโจทก์และจัดให้มีบุคคลมาค้ำประกันการชำระหนี้ที่โจทก์ต้องชำระให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแทนจำเลยที่ 1 ไป ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2539 โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไม่เกิน 1,807,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยวันที่คดีถึงที่สุดหลังจากนั้นโจทก์ได้ออกหนังสือค้ำประกันฉบับใหม่แทนฉบับเดิมอีก 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 และวันที่ 1 ตุลาคม 2543 หนังสือค้ำประกันฉบับใหม่มีเงื่อนไขว่าโจทก์จะจ่ายค่าประกันชดเชยต่อเมื่อบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ฟ้องจำเลยที่1 จนคดีถึงที่สุด มีการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ที่เป็นหลักประกันและทรัพย์สินที่เป็นของผู้ค้ำประกันเสร็จสิ้นแล้ว การที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไม่ว่าด้วยเหตุใดจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องชำระแทนจำเลยที่ 1 ไป จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทันทีตามจำนวนที่จ่ายไปพร้อมดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 เบิกใช้สินเชื่อแล้วไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่ต่อศาลแพ่ง และศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2545 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ง. 295/2545 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 25,236,446.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราตามประกาศธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินให้กู้แบบไม่มีระยะเวลา (เอ็มโออาร์) บวกร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงิน 15,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 50237, 50238 และ 11160 ตำบลบางโคล่ (บางขวาง) อำเภอยานนาวา (บางรัก) กรุงเทพมหานครและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบ กับให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยกำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท เมื่อคดีถึงที่สุดบรรษัทเงินอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จ่ายค่าประกันชดเชยแทนจำเลยที่ 1 และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้รับเงินจากโจทก์แล้วเป็นต้นเงินตามวงเงินที่ค้ำประกัน 1,807,000 บาท ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ยื่นคำขอรับเงิน 1,275,578.01 บาท รวมเป็นเงิน 3,082,578.01 บาท โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิในการใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสี่ให้ชำระหนี้ และมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ จำนวน 3,082,578.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2546 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์จ่ายเงินจนถึงวันฟ้อง 172,579.02 บาท รวมเป็นเงิน 3,255,057.03 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสี่ให้ชำระหนี้ 3 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้รับหนังสือไว้แล้วแต่เพิกเฉย ส่วนจำเลยที่ 1 ส่งหนังสือให้ไม่ได้ โดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์แจ้งว่าไม่มารับภายในกำหนด จำเลยทั้งสี่ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งถึงแก่ความตาย ขอให้มีคำสั่งให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483

ระหว่างพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำฟ้อง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเรียกทายาทจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นผู้แทนจำเลยที่ 2 คำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง และคำสั่งรับคำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 แล้วมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์ตามฟ้อง แต่โจทก์ไม่มีอำนาจนำหนี้ตามสัญญาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นบุคคลล้มละลายเพราะจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 มูลหนี้ที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 เกิดขึ้นตั้งแต่วันดังกล่าว ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2545 ในคดีหมายเลขแดงที่ 880/2545 และวันที่ 25 กันยายน 2545 ในคดีหมายเลขแดงที่ 1613/2545 ตามลำดับ โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีดังกล่าวภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91, 94 และ 101 แต่โจทก์ละเลยไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้จนกระทั่งศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นบุคคลล้มละลาย นอกจากนี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ไปให้การเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการทั้งหมดต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดถูกยึดและอายัดนำออกขายทอดตลาดจนหมดสิ้นแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำร้องขอปลดจากล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ปลดจากล้มละลายโดยมีเงื่อนไขเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2546 มีผลให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ แม้โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือคำสั่งปลดจากล้มละลายก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธินำมูลหนี้มาฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2539 โจทก์ทำหนังสือค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนลงวันที่ 13 กันยายน 2539 ไว้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยวงเงิน 1,807,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยถึงวันที่คดีถึงที่สุด หลังจากนั้น โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันฉบับใหม่แทนหนังสือค้ำประกันฉบับเดิมอีก 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 และวันที่ 1 ตุลาคม 2543 ตามเอกสารหมาย จ.8 จ.9 และ จ.10 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญารับจะชำระหนี้เกิดจากการที่โจทก์ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไว้แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 วันที่ 27 สิงหาคม 2545 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ง.295/2545 ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นตามสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนดังกล่าวและจำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระเงิน 25,236,446.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์ในคดีดังกล่าว คดีถึงที่สุด ตามเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขอรับเงินตามหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 จากโจทก์และได้รับเงินจากโจทก์เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2546 เป็นต้นเงิน 1,807,000 บาท ดอกเบี้ย 1,275,578.01 บาท รวมเป็นเงิน 3,082,578.01 บาท ตามเอกสารหมาย จ.18 ถึง จ.21 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2545 และวันที่ 25 กันยายน 2545 ตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.6 โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า โจทก์นำหนี้ที่ชำระให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ล้มละลายคดีนี้ได้หรือไม่ จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 ไว้แก่โจทก์สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 15,000,000 บาท เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปแล้ว โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และโจทก์ ทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่บรรษัทดังกล่าว ในส่วนของโจทก์ได้ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันไว้เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยในกรณีที่โจทก์ถูกเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันข้างต้น ที่มาแห่งมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันเกิดจากการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ซึงมีการรับเงินไปแล้ว หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์ต้องถูกเรียกร้องจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะไล่เบี้ยจำเลยที่ 3 และที่ 4 เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาค้ำประกันมิได้เกิดขึ้นเมื่อโจทก์จ่ายเงินให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในวันที่ 17 ตุลาคม 2546 เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนหนี้ที่โจทก์อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในเวลาภายหน้าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91, 94 และ 101 การที่โจทก์ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้มีผลให้โจทก์เสียสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 และไม่อาจนำหนี้ที่ถูกเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันมาฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้ล้มละลายนั้น เห็นว่า ได้ความจากสำเนาคำพิพากษาศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ ง.295/2545 เอกสารหมาย จ.15 ว่า หลังจากทำสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแล้วจำเลยที่ 1 เบิกเงินตามสัญญาไปเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 เป็นเงิน 15,000,000 บาท แล้วออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อถึงกำหนดใช้เงินในวันที่ 30 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ดังนี้ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2541 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญารับจะชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 มูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์อาจถูกเรียกร้องจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ชำระหนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 จ.9 และ จ.10 ข้อ 3 ที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตามเอกสารหมาย จ.17 เป็นว่า โจทก์จะจ่ายค่าประกันชดเชยต่อเมื่อสถาบันการเงินได้ฟ้องร้องผู้กู้จนคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามสัญญารับจะชำระหนี้ในเวลาภายหน้าได้ เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่โจทก์อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91, 94 และ 101 แต่ปรากฏว่าบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วตามเอกสารหมาย ล.8 และ ล.9 โจทก์จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 101 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย แต่การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไปย่อมมีผลให้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้รายดังกล่าวไปใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 โจทก์จะนำหนี้ที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดมาฟ้องให้จำเลยดังกล่าวล้มละลายซ้ำอีกคดีหนึ่งหาได้ไม่ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดมานั้น ศาลฎีกาเห็นไม่พ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นพับ.
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 27 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม

มาตรา 91 เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน
คำขอรับชำระหนี้นั้นต้องทำตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สิน และข้อความระบุถึงหลักฐานประกอบหนี้และทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของลูกหนี้ที่ยึดไว้เป็นหลักประกันหรือตกอยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้
มาตรา 94 เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่
(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้
(2) หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้

มาตรา 101 ถ้าลูกหนี้ร่วมบางคนถูกพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ร่วมคนอื่นอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว
บทบัญญัติในวรรคก่อนให้ใช้บังคับแก่ผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันร่วม หรือบุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้โดยอนุโลม

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US