สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งกระทำต่อหน้าศาล มิใช่เป็นการที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอย่างคดีธรรมดาที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลย ข้อตกลงอาจมีผลไม่ตรงหรือเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องก็ได้ เพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่ต้องห้ามมิให้พิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3191/2547
การทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งกระทำต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอย่างคดีธรรมดาที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้วจึงพิพากษาชี้ขาดข้อพิพาทไป ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงอาจมีผลไม่ตรงหรือเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องก็ได้ ถ้าข้อตกลงนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งต้องห้ามมิให้พิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมว่า ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 10 ต่อปี เกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ จึงหาเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 และ 138 (2) ไม่
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามเช็ครวม ๗ ฉบับ ที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๒๑,๑๓๑,๒๗๔ บาท และให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน ๒๐,๐๓๙,๔๔๙ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกัน ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๒
จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๒ อ้างว่า สัญญาประนีประนอมยอมความในส่วนที่จำเลยตกลงยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อปี ทำขึ้นโดยถูกโจทก์และทนายโจทก์ฉ้อฉล ดอกเบี้ยดังกล่าวในสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ในส่วนที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเมื่อจำเลยผิดนัดชำระหนี้เป็นอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นการพิจารณาที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในฟ้องดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ และขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๓๘ (๒) เห็นว่า กรณีที่โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งกระทำต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอย่างคดีธรรมดาที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้วจึงพิพากษาชี้ขาดข้อพิพาทไป ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงอาจมีผลไม่ตรงหรือเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องก็ได้ เพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ ซึ่งต้องห้ามมิให้พิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องดังที่จำเลยฎีกา ฉะนั้น การที่ศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่า ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อปี เกินกว่าอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามคำขอของโจทก์จึงหาเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ และขัดต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา ๑๓๘ (๒) ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน โจทก์ไม่ได้แก้ฎีกา จึงไม่มีกำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.
( วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์ - สายันต์ สุรสมภพ - สมชาย จุลนิติ์ )
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นายสุพจน์ กิตติรักษนนท์
ศาลอุทธรณ์ - นายพลภักดี สิริทิพากร