อายุความมรดก | ข้อต่อสู้ | แบ่งมรดกไม่เป็นธรรม

ภายหลังจากการรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งมรดก ทายาทต่างเข้าครอบครองที่ดิน มีผลให้การจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว แม้ต่อมาผู้จัดการมรดกได้แบ่งมรดกใหม่แล้วโอนให้ทายาทบางคนตามที่แบ่งใหม่ซึ่งไม่เป็นธรรมกับทายาทบางคน เมื่อแบ่งมรดกเสร็จแล้วความเป็นทายาทสิ้นสุดลงจึงไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้ซึ่งกันและกันในฐานะทายาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6383/2551

เมื่อทายาทต่างเข้าทำประโยชน์ที่ดินตามส่วนที่มีการรังวัดจริง และต่างเข้าครอบครองที่ดินตามที่แบ่งแยก แสดงว่าเมื่อรังวัดเสร็จแล้วได้มีการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทโดยการครอบครองเป็นส่วนสัดกันแล้ว การแบ่งมรดกจึงมีผลสมบูรณ์ เมื่อต่อมาผู้จัดการมรดกได้ แบ่งที่ดินพิพาทใหม่แล้วโอนที่ดินพิพาทตามส่วนแบ่งใหม่แก่ทายาทบางคนและกระทำการโต้แย้งสิทธิของทายาทบางคนและมีการออกโฉนดที่ดินตามส่วนที่แบ่งใหม่ จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ ศาลมีอำนาจเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าวได้ ปัญหาเรื่องอายุความมรดกนั้น เมื่อได้มีการแบ่งมรดกสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ต้น ดังนั้นทายาททุกคนไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินมรดกอีกย่อมสิ้นความเป็นทายาทในส่วนที่ดินพิพาทที่แบ่งปันกันแล้วจึงไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้ซึ่งกันและกันในฐานะทายาท แต่ทายาทที่ถูกโต้แย้งสิทธิในที่ดินฟ้องผู้จัดการมรดกให้แบ่งที่ดินให้ตนตามส่วนแบ่งเดิมได้และไม่ขาดอายุความ

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามไปดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 20963, 20964, 20965 และ 20966 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1367 กลับเป็นทรัพย์มรดกของนายเสนาะ ตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 975 เช่นเดิม โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม แล้วให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันแบ่งที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 975 ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามลำดับ โดยแบ่งให้โจทก์ที่ 1 ทางด้านทิศเหนือของที่ดินแปลงดังกล่าวจำนวน 11 ไร่ 1 งาน 19 ตารางวา และโจทก์ที่ 2 ทางด้านทิศเหนือถัดจากโจทก์ที่ 1 ลงมาทางด้านทิศใต้ จำนวนเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 17 ตารางวา และห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินเฉพาะของโจทก์ทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามได้ตกลงแบ่งที่ดินกันจริงโดยแบ่งให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 9 ไร่ ก่อน ส่วนที่เหลือจึงแบ่งกันสี่คน ส่วนจำเลยที่ 3 สละสิทธิ์ในการรับส่วนแบ่ง เมื่อตกลงแบ่งกันแล้วจึงไปยื่นคำร้องขอรับมรดกและรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งแยก แล้วนายวิเชียร เจ้าหน้าที่ที่ดินได้ออกไปรังวัดเพื่อแบ่งแยกที่ดินพิพาทโดยรังวัดแบ่งแยกตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามตกลงกันตามแผนที่รังวัด โดยการออกไปรังวัดนี้โจทก์ทั้งสอง และนางประจิม กำนันที่ออกไประวังแนวเขตในการรังวัดต่างเบิกความว่า จำเลยทั้งสามต่างอยู่ด้วยในขณะที่มีการรังวัด ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความว่าไม่รู้เห็นการรังวัดของนายวิเชียรมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าทายาทของนายเสนาะทุกคนต่างรับรู้การรังวัดแบ่งแยกที่ดินของนายวิเชียรด้วย และโจทก์ทั้งสองเบิกความโดยมีนางประจิม นายประเสริฐ นายสมพงษ์และนายบุญเลิศเบิกความสนับสนุนว่า เมื่อรังวัดแบ่งแยกแล้ว โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างเข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามที่แบ่งแยกกันซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เบิกความรับว่า เมื่อรังวัดแล้วระหว่างรอการประกาศของสำนักงานที่ดินโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างเข้าทำประโยชน์ที่ดินตามส่วนที่มีการรังวัดจริง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เมื่อนายวิเชียรรังวัดที่ดินเสร็จแล้ว โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างเข้าครอบครองที่ดินตามที่แบ่งแยก ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่รับฟังมาแล้วว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามตกลงแบ่งที่ดินพิพาทกันตามที่นายวิเชียรออกไปรังวัดจริง จากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่กล่าวมาแล้วย่อมแสดงว่าเมื่อรังวัดเสร็จแล้วได้มีการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทโดยการครอบครองเป็นส่วนสัดกันแล้ว การแบ่งมรดกจึงมีผลสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทั้งสามไม่ยอมโอนที่ดินตามที่โจทก์ทั้งสองครอบครองให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองแล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น

ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด ตามมาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ดังที่วินิจฉัยข้างต้นแล้วเช่นนี้ ก็ไม่ขาดอายุความมรดกเพราะโจทก์ทั้งสองได้ที่ดินพิพาทตามที่เข้าครอบครองเป็นของตนโดยเด็ดขาดแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาที่ดินพิพาทให้ผิดไปจากที่ได้แบ่งปันกันไปแล้วหาได้ไม่ รวมทั้งไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินพิพาทเช่นนี้ย่อมสิ้นความเป็นทายาทในส่วนที่ดินพิพาทที่แบ่งปันกันแล้วจึงไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองได้ เพราะมิใช่บุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายดังเช่นคดีนี้ ถือว่าเป็นผู้แทนของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาท จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองได้ก็แต่ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ในคดีจัดการมรดก เท่านั้น แต่คดีนี้เป็นคดีมรดกจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก หาอาจยกอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทหาได้ไม่ คดีของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกตามฟ้อง การที่จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินพิพาทใหม่แล้วโอนที่ดินพิพาทตามส่วนแบ่งใหม่แก่จำเลยทั้งสามและมีการออกโฉนดที่ดินตามส่วนที่แบ่งใหม่ จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ ศาลมีอำนาจเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าวและห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเกี่ยวข้องได้ แต่ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยทั้งสามแบ่งที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิใช่ผู้จัดการมรดก จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่อาจขอบังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ คงฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกแบ่งที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น แต่สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่วนนี้ให้หักจากกองมรดกทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1739 (1)

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามไปดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 20963, 20964, 20965 และ 20966 ตำบลบ้านน้อย อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร กับ น.ส. 3 ก. เลขที่ 1367 กลับเป็นทรัพย์มรดกของนายเสนาะ ตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 975 โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเพิกถอน หากจำเลยทั้งสามเพิกเฉยให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามแล้วให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 975 ดังกล่าวทางด้านทิศเหนือแก่โจทก์ที่ 1 จำนวนเนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 19 ตารางวา และทางด้านทิศเหนือถัดลงมาจากโจทก์ที่ 1 แก่โจทก์ที่ 2 จำนวนเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 17 ตารางวา โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้หักจากกองมรดก หากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกเพิกเฉยให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามศาลสำหรับโจทก์ที่ 1 จำนวน 8,000 บาท สำหรับโจทก์ที่ 2 จำนวน 2,000 บาท.
( กีรติ กาญจนรินทร์ - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล - ศิริชัย วัฒนโยธิน )
ศาลจังหวัดพิจิตร - นายไพบูลย์ ศรีธูป
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 - นายสุพจน์ ธำรงเวียงผึ้ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1750 การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่าง เข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้ว เอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท
ถ้าการแบ่งปันมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญาจะ ฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่ง อย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ให้นำ มาตรา 850,มาตรา 852 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วย ประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม
ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียก ร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้ นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้อง ร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US