หนังสือสัญญาแบ่งมรดกตกเป็นโมฆะหรือไม่?

หนังสือสัญญาแบ่งมรดกตกเป็นโมฆะหรือไม่?

โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของผู้ตาย ๆ จดทะเบียนสมรสใหม่กับจำเลย ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งทรัพย์มรดกโดยทำเป็นหนังสือสัญญาแบ่งมรดก โจทก์ขอเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยอ้างว่าได้ทำหนังสือสัญญาแบ่งมรดกโดย
โจทก์ทั้งสองกระทำหลอกลวงโดยฉ้อฉลจำเลยว่า ทรัพย์มรดกของผู้ตายมีเพียงเท่าที่โจทก์แจ้ง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยทราบถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายก่อนทำหนังสือสัญญาแบ่งมรดก ดังนั้นสัญญาแบ่งมรดกไม่ตกเป็นโมฆะ เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้กระทำการปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลจำเลยในการทำหนังสือสัญญาแบ่งมรดกดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ในการยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่มิได้ระบุว่าที่ดิน 2 แปลง ที่จังหวัดนครสวรรค์ด้วย ก็ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดที่บัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด จึงมิใช่เป็นการปิดบังทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวอันเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองถูกกำจัดมิให้ได้มรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2548

โจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยมิได้ระบุว่ามีที่ดิน 2 แปลงด้วย แต่ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดที่บัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด และตามคำร้องก็ระบุเพียงว่า ผู้ร้องไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อโอนซื้อผู้ครอบครองรถยนต์กระบะเป็นของทายาทตามเจตนาของเจ้าของมรดก แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อนเท่านั้นโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ระบุว่านอกจากทรัพย์สินดังกล่าว ผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกอื่นอีก จึงมิใช่เป็นการปิดบังทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองถูกกำจัดมิให้ได้มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605
________________________________

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประสิทธิ์ แสงศศิธร กับนางละออ แสงศศิธร ต่อมานายประสิทธิ์หย่ากับนางละออและจดทะเบียนสมรสใหม่กับจำเลยเมื่อวันที่ 22พฤศจิกายน 2538 นายประสิทธิ์ถึงแก่ความตายด้วยโรคตับแข็ง มีมรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 8257 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 66 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 7/2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 14744 ตำบลวังม้า อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ รวม 2 แปลง เนื้อที่ 40 ไร่เศษ รถยนต์ 1 คัน และเงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2538 โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงทำหนังสือสัญญาแบ่งมรดกโดยจำเลยขอรับทรัพย์มรดกบ้านพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 8257 ส่วนทรัพย์มรดกอื่นทั้งหมดนอกจากนนี้ให้ตกแก่โจทก์ทั้งสอง ทั้งยินยอมให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกเพื่อดำเนินการจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามสัญญา โจทก์ทั้งสองจึงได้จดทะเบียนสละมรดกบ้านพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 8257 ให้แก่จำเลยไปแล้ว ต่อมาศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครสววรค์ สาขาลาดยาว เพื่อขอรับโอนมรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 14743 และ 14744 ตำบลวังม้า อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ให้ที่ดินทั้งสองแปลงกลับเข้าสู่กองมรดกของผู้ตาย โดยให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขสารบัญจดทะเบียนที่ดินทั้งแปลงดังกล่าวให้กลับเป็นชื่อผู้ตายตามเดิม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงแก่โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกเพื่อจัดการมรดกตามสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายให้เสร็จสิ้นต่อไป

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือบ้านพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 8257 รถยนต์ 1 คัน เครื่องเสียงยี่ห้อยามาฮ่าชุดมินิเธียเตอร์ 1 เครื่อง เงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เงินกองทุนสำรองเสลี้ยงชีพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เงิบโบนัส เงินเดือนช่วยสวัสดิการ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ เงินหุ้นสหกรณ์และที่ดินโฉนดเลขที่ 14743 และ 14744 โจทก์ทั้งสองต่างทราบถึงการมีทรัพย์มรดกกล่าวนั้นทั้งหมด แต่ปกปิดทรัพย์มรดกในส่วนที่เป็นเงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์การปิโตรเลียมแห่งประเทศ เงิบโบนัส เงินเดือนช่วยสวัสดิการ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ เงินหุ้นสหกรณ์และที่ดินโฉนดเลขที่ 14743 และ 14744 ไม่ให้จำเลยรู้เป็นการปิดบังทรัพย์มรดกเป็นที่เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่นโจทก์ทั้งเสองจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ได้ปิดบังไว้ ดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2538 โจทก์ทั้งสองได้ทำหนังสือสัญญาแบ่งมรดกกับจำเลยโดยโจทก์ทั้งสองจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งความจริงห้ำเลยทราบว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 14743 และ 14744 จึงเป็นการกระทำโดยฉ้อฉลของโจทก์ทั้งสองและตกเป็นโมฆะ จำเลยรับโอนที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว ตามขั้นตอนการขอรับโอนมรดกของสำนักงานที่ดินทุกประการ มีหลักฐานครบถ้วน ไม่มีการหลอกลวงเจ้าพนักงาน ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองและพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองถูกกำจัดมิให้ได้มรดกของผู้ตายในส่วนที่ปกปิดไว้กับพิพากษาว่าหนังสือสัญญาแบ่งมรดกเป็นโมฆะ

โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยรู้ถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายรวมทั้งที่ดินโฉนเลขที่ 14743 และ 14744 โจทก์ทั้งสองไม่เคยปกปิดแลพไม่ได้กระทำการใดให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทอื่นโจทก์ทั้งสองจึงไม่อยู่ในฐานะต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกตามกฎหมายหนังสือสัญญาแบ่งมรดกได้ทำขึ้นเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นคู่สัญญาต่อหน้าพยานด้วยความสมัครใจและจำเลยเองเป็นฝ่ายเสนอให้แบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายด้วยเหตุจำเลยต้องการได้กรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 257 ซึ่งมีมูลค่าหลายล้านบาทเพียงอย่างเดียว ทรัพย์มรดกอื่นนอกจากนี้จำเลยไม่ต้องการ ประกอบกับจำเลยเป็นภริยาผู้ตายได้อยู่กินหลับนอนด้วยกันมานานย่อมต้องรู้ดีว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกเพียงใด หนังสือสัญญาแบ่งมรดกจึงสมบูรณ์ไม่ได้ถูกทำขึ้นโดยฉ้อฉลตามที่จำเลยกล่าวอ้างเมื่อจำเลยได้รับโอนมรดกตามที่หนังสือสัญญาแบ่งมรดกไปเรียบร้อยแล้วจำเลยไม่มีสิทธิที่จะรับทรัพย์มรดกของผู้ตายอีกต่อไป ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 14743, 14744 ตำบลวังม้า อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ รวม 2 แปลง ของจำเลย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 ให้ที่ดินทั้งสองแปลงกลับเข้าสู่กองมรดกของผู้ตาย โดยให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขสารบัญจดทะเบียนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้กลับเป็นชื่อของผู้ตายตามเดิม หากจำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และให้จำเลยส่งมอบเอกสารโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกเพื่อจัดการมรดกตามสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของนายประสิทธิ์ แสงศศิธร กับนางละออ แสงศศิธร ต่อมานายประสิทธิ์หย่ากับนางละออ และจดทะเบียนสมรสใหม่กับจำเลยเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2528 โดยไม่มีบุตรให้กัน นายประสิทธิ์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 มีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 8257 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมบ้านเลขที่ 7/2 หมู่ 14 หนึ่งหลัง รถยนต์กระบะ 1 คัน เครื่องเสียงยี่ห้อยามาฮ่า ชุดมินิเธียเตอร์ 1 ชุด บัตรฝากถอนเงินสดอัตโนมัติ (ATM) พร้อมสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ เงินกู้สวัสดิการ และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เงินโบนัสประจำปี 2537 และ 2538 เงินช่วยเหลือค่าทำศพจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 14743 กับ 14744 ตำบลวังม้า อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ รวม เนื้อที่ 40 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา และ 1 งาน 4 ตารางวา ตามเอกสารหมาย ล.8 และ ล.9 ตามลำดับ โจทก์ทั้งสองกับจำเลยทำหนังสือสัญญาแบ่งมรดกวันที่ 14 ธันวาคม 2538 ตามเอกสารหมาย จ.7 (ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ล.11) มีสาระสำคัญว่าจำเลยเป็นผู้รับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 8257 พร้อมบ้านเลขที่ 7/2 หมู่ที่ 14 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทรัพย์มรดกส่วนอื่นทั้งหมดนอกจากนี้ให้ตกเป็นของโจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองยอมรับผิดชอบหนี้สินของผู้ตายที่มีอยู่กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว ครั้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 จำเลยไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 14743 กับ 14744 ดังกล่าว เป็นของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.8 และ ล.9 โจทก์ที่ 1 จึงไปยื่นขออายัดที่ดินทั้งสองแปลงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ตามเอกสารหมาย จ.15 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าหนังสือสัญญาแบ่งมรดกลงวันที่ 14 ธีนวาคม 2538 ตามเอกสารหมาย จ.7 ตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า จำเลยกล่าวอ้างในคำให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองกระทำหลอกลวงโดยฉ้อฉลจำเลยว่า ทรัพย์มรดกของผู้ตายมีเพียงที่ดินโฉนดเลขที่ 8257 พร้อมบ้านเลขที่ 7/2 และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจำนวน 2,000,000 บาท แล้วให้จำเลยทำสัญญาแบ่งมรดกกับโจทก์ทั้งสองว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 8257 พร้อมบ้านเลขที่ 7/2 ให้แก่จำเลยส่วนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้แก่โจทก์ทั้งสอง ทรัพย์มรดกส่วนอื่นทั้งหมดนอกจากที่ระบุไว้ดังกล่าวให้ตกเป็นของโจทก์ทั้งสอง โดยโจทก์ทั้งสองรู้อยู่แล้วว่ามีทรัพย์มรดกอื่น ๆ อีก แต่ปกปิดไม่ให้จำเลยล่วงรู้ หนังสือสัญญาแบ่งมรดกจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นการกระทำโดยฉ้อฉลของโจทก์ทั้งสอง จำเลยจึงบอกล้างโมฆียะกรรมสัญญาแบ่งมรดกโดยคำให้การนี้ หนังสือสัญญาแบ่งมรดกจึงตกเป็นโมฆะซึ่งเท่ากับจำเลยกล่าวอ้างว่าจำเลยแสดงเจตนาทำหนังสือสัญญาแบ่งมรดกเพราะถูกโจทก์ทั้งสองกระทำโดยฉ้อฉลโดยจำเลยอ้างตนเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ทั้งสองปกปิดจำเลยเรื่องทรัพย์มรดกคือที่นา 2 แปลง ซึ่งหมายถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 14743 กับ 14744 ตำบลวังม้า อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่จะพึงได้รับจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ยกเว้นที่ดินโฉนดเลขที่ 8257 พร้อมบ้านเลขที่ 7/2 เครื่องเสียงยี่ห้อยามาฮ่า ชุดมินิเธียเตอร์ 1 ชุด รถยนต์กระบะ 1 คัน และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำเลยจึงทำหนังสือสัญญาแบ่งมรดกกับโจทก์ทั้งสอง เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2538 ตามเอกสารหมาย ล.11 แต่ต่อมาโจทก์ที่ 1 ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการโดยอ้างในบัญชีทรัพย์มรดกว่า มีที่ดิน 2 แปลง ดังกล่าวรวมอยู่ด้วย ตามเอกสารหมาย ล.12 ครั้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2539 สำนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ สาขาลาดยาว มีไปรษณียบัตร ตามเอกสารหมาย ล.23 แจ้งให้ผู้ตายไปรับโฉนดที่ดิน 2 แปลง ซึ่งตั้งอยู่ตำบลวังม้า ในวันที่ 22 พฟษภาคม 2539 จำเลยจึงเดินทางไปที่สำนักงานจังหวัดที่ดินดังกล่าวตามนัด และแสดงตัวเป็นทายาทเพื่อทำเรื่องขอรับมรดกที่ดินทั้ง 2 แปลง เป็นของจำเลย และตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านว่า จำเลยมีเพื่อนอยู่ที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และทราบว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยมีเงินประเภทต่าง ๆ ให้แก่พนักงาน ทั้งก่อนที่จะมีการทำหนังสือสัญญาแบ่งมรดก จำเลยกับโจทก์ทั้งสองได้มีการพูดคุยกันเรื่องทรัพย์มรดกมาแล้ว และทราบภายหลังว่าโจทก์ที่ 1 ไปจัดการชำระหนี้สินให้แก่การปิตรเลียมแห่งประเทศไทยโดยไม่ได้ใช้เงินส่วนตัวของโจทก์ที่ 1 แต่ใช้เงินมรดกของผู้ตาย นอกจากนี้จำเลยยังทราบว่าผู้ตายมีบิดาชื่อนายสงวน หลังจากผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับจำเลยแล้ว จำเลยเคยไปเยี่ยมนายสงวนที่จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งจากคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเชื่อได้ว่า ก่อนที่จำเลยจะทำหนังสือสัญญาแบ่งมรดก จำเลยทราบแล้วว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยมีเงินประเภทต่าง ๆ ให้แก่พนักงาน ทั้งจำเลยก็มีเพื่อนทำงานอยู่ที่ทำงานดังกล่าวด้วย หากจำเลยสงสัยก็ย่อมสอบถามเรื่องดังกล่าวจากเพื่อนของจำเลยได้ นอกจากนี้จำเลยยังเคยเดินทางไปที่จังหวัดนครสวรรค์ และพบกับนายสวงนบิดาของผู้ตาย ย่อมทราบถึงสถานที่อยู่และทรัพย์สิของบิดาของผู้ตาย การที่จำเลยทำหนังสือสัญญาแบ่งมรดกตามเอกสารหมาย จ.7 กับโจทก์ทั้งสองโดยข้อความในข้อ 2 ระบุ ทรัพย์มรดกส่วนอื่นทั้งหมดเช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ปตท. ฯลฯ เป็นต้น ให้ตกเป็นส่วนแบ่งของโจทก์ทั้งสอง และข้อ 3 ระบุว่าโจทก์ทั้งสองยอมรับผิดชอบหนี้สินของผู้ตายทั้งหมดที่มีอบยู่กับ ปตท. ได้แก่ เงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ ปตท. เงินกู้ธนวัฏของธนาคารกรุงไทย จำกัด และเงินกู้ของสวัสดิการ ปตท. แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกที่จำเลยได้รับนอกจากนี้ภายหลังจากที่จำเลยได้รับไปรษณียบัตรจากสำนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ สาขาลาดยาว ที่มีไปถึงผู้ตาย แจ้งให้ผู้ตายไปรับโฉนดที่ดิน หน้าสำรวจ 970 และ 971 ตามเอกสารหมาย ล.23 ซึ่งหมายถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 14743 และ 14744 ตำบลวังม้า อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ จำเลยก็มิได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบ แต่กลับเดินทางไปทำเรื่องขอรับมรดกที่ดินทั้ง 2 แปลง ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครสรรค์เป็นของจำเลยตามเอกสาร ล.8 และ ล.9 แม้ว่าสำนักงานที่ดินจังหวัดนครสรรค์จะมีประกาศตามเอกสารหมาย ล.24 ก่อนแล้ว และไม่มีผู้ใดคัดค้าน แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยตอบคำถามค้านว่า จำเลยรับรองบัญชีเครือญาติตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ว่าถูกต้อง โดยไม่มีชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเครือญาติ ซึ่งเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลยเองว่า มีเจตนาปกปิดเรื่องที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครสรรค์มีไปรษณียบัตรมายังผู้ตายมิให้โจทก์ทั้งสองล่วงรู้ แสดงว่าจำเลยรู้อยู่แล้วก่อนทำหนังสือสัญญาแบ่งมรดกอีกส่วนหนึ่งด้วย เมื่อภาระการพิสูจน์ในเรื่องหนังสือสัญญาแบ่งมรดกตกเป็นโมฆะหรือไม่ตกอยู่แก่จำเลย แต่พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบกลับเป็นพิรุธไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ตามที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้และฟ้องแย้งว่าหนังสือสัญญาแบ่งมรดกลงวันที่ 14 ธันวาคม 2538 ตามเอกสาร จ.7 นั้น จำเลยลงชื่อแสดงเจตนาเพราะการกระทำโดยฉ้อฉลของโจทก์ทั้งสองตึงตกเป็นโมฆียะและจำเลยขอบอกล้างโดยคำให้การและฟ้องแย้งอันถือได้ว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าสาเหตุที่ไม่ระบุที่ดิน 2 แปลง ที่จังหวัดนครสรรค์ลงในหนังสือสัญญาแบ่งมรดกเพราะจำเลยต้องการที่ดินโฉนดเลขที่ 8257 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมพบ้านเลขที่ 7/2 เท่านั้น มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของจำเลยได้ หนังสือแบ่งมรดกลงวันที่ 14 ธันวาคม 2538 จึงไม่ตกเป็นโมฆะ

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า โจทก์ทั้งสองถูกกำจัดมิให้ได้มรดกตามฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้กระทำการปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลของจำเลยในการทำหนังสือสัญญาแบ่งมรดกดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว และแม้ว่าในการยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายของโจทก์ที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.10 มิได้ระบุว่าที่ดิน 2 แปลง ที่จังหวัดนครสวรรค์ด้วย แต่ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดที่บัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดและตามคำร้องก็ระบุเพียงว่า ผู้ร้องไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อโอนชื่อผู้ครอบครองรถยนต์กระบะเป็นของทายาทตามเจตนาของเจ้ามรดก แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อน อันเป็นการที่โจทก์ที่ 1 อ้างเหตุที่ไม่สามารถโอนชื่อผู้ครอบครองรถยนต์กระบะได้ เป็นข้ออ้างที่โจทก์ที่ 1 ต้องมายื่นคำร้องให้ศาลตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น โจทก์ที่ 1 หาได้ระบุว่านอกจากทรัพย์สินดังกล่าวผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกอื่นอีกแต่ประการใดไม่ การที่โจทก์ที่ 1 มิได้อ้างถึงที่ดิน 2 แปลง ที่จังหวัดนครสวรรค์ว่าเป็นทรัพย์มรดกของผ้ตายด้วย จึงมิใช่เป็นการปิดบังทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวอันเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองถูกกำจัดมิให้ได้มรดกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605”

พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,000 บาท

( นันทชัย เพียรสนอง - สุมิตร สุภาดุลย์ - สดศรี สัตยธรรม )

มาตรา 1605 ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่า ส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อม ประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลยแต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตน จะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้าย หรือปิดบังไว้นั้น


มาตรานี้ มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรม ยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US