ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก | ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน | ผู้มีส่วนได้เสีย

ทายาทที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้นั้น หมายความถึงทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก หรือผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อมีทรัพย์สินได้มาในระหว่างนั้น ย่อมถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน แม้เป็นภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่ได้อยู่กินร่วมกันจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 615/2547

ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านต่างขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายคดีจึงมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยเพียงว่าสมควรตั้งผู้ร้องที่ 2 หรือผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่โต้เถียงกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตายนั้นศาลไม่อาจก้าวล่วงไปวินิจฉัยได้ ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านชอบที่จะไปดำเนินคดีเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ทั้งนี้ทายาทที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1713 หมายความถึงทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสีย แม้ผู้ร้องที่ 2 เป็นภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายแต่ได้อยู่กินร่วมกันจนผู้ตายถึงแก่ความตาย เมื่อมีทรัพย์สินได้มาในระหว่างนั้น ย่อมถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ผู้ร้องที่ 2 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 1713 ส่วนผู้คัดค้นซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายเป็นทายาทลำดับที่ 2 แต่ก็มีสิทธิรับมรดกเสมือนทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1630 วรรคสอง ศาลจึงตั้งบุคคลทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน เพื่อความเป็นธรรมแก่ทายาททุกฝ่าย

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นบุตรของผู้ร้องที่ 2 กับนายอดุลย์เดชผดุง ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และนายอดุลย์ได้รับรองผู้ร้องที่ 1 เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2538 นายอดุลย์ได้ถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกไว้ ในระหว่างมีชีวิตอยู่ผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 1 แปลงซึ่งผู้ตายและผู้ร้องที่ 2 นำไปจำนองไว้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์กรณีมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก จึงขอให้ศาลแต่งตั้งผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้ร้องที่ 2 ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางบุญเรือน มาลัยนาค (ที่ถูกควรเป็นนางสาวบุญเรือนมาลัยนาค) ผู้ร้องที่ 2 และนายจำลอง เดชผดุง ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของนายอดุลย์ เดชผดุง ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า นายอดุลย์ เดชผดุง ผู้ตายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้าน กับนางไอ เดชผดุง ผู้ร้องที่ 2 อยู่กินกันฉันสามีภริยากับผู้ตาย แต่มิได้จดทะเบียนสมรสกันและมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ผู้ร้องที่ 1 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2538 ผู้ตายได้ถึงแก่ความตายตามใบมรณบัตรเอกสารหมาย ร.6 หรือ ค.3 โดยผู้ตายและผู้ร้องที่ 2 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 158851 ตำบลบางเขน (สวนใหญ่) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.3 ซึ่งก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกไว้ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า ผู้คัดค้านสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องที่ 2 หรือไม่ โดยคดีนี้ผู้ร้องทั้งสองนำสืบว่า ระหว่างที่ผู้ร้องที่ 2 กับผู้ตายอยู่กินด้วยกันนั้น ได้ร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 158851 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.3 และร่วมกันปลูกสร้างบ้านบนที่ดินดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องที่ 2 และผู้ตายได้กู้ยืมเงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์มาซื้อบ้านและที่ดิน โดยนำที่ดินดังกล่าวจดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย ร.5 ซึ่งทั้งผู้ร้องที่ 2 และผู้ตายร่วมกันผ่อนชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเรื่อยมา ต่อมาในปี 2535 ผู้ตายประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์พลิกคว่ำจนพิการผู้ร้องที่ 2 จึงต้องรับภาระผ่อนส่งเงินให้แก่ธนาคารเพียงผู้เดียวจนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ร้องที่ 2 ก็ยังต้องรับภาระดังกล่าวอยู่ส่วนผู้คัดค้านนำสืบว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 158851 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.3 ที่ผู้ร้องที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ตายนั้น แท้จริงแล้วผู้ตายและนางละออ ซึ่งเป็นป้าผู้ตายร่วมกันออกเงินซื้อที่ดินดังกล่าว โดยผู้ตายออกเงินจำนวน 150,000 บาท นางละออออกเงินจำนวน 100,000 บาท แล้วตกลงแบ่งที่ดินกันโดยผู้ตายได้ที่ดินเป็นเนื้อที่ 25 ตารางวา ส่วนนางละออได้ที่ดินเป็นเนื้อที่ 20 ตารางวา สาเหตุที่ไม่มีชื่อนางละออในโฉนดที่ดินเพราะผู้ตายต้องการนำที่ดินไปจำนองเอาเงินปลูกสร้างบ้าน โดยตกลงว่าเมื่อผ่อนชำระเงินแก่ธนาคารหมดแล้วก็จะแบ่งที่ดินให้แก่นางละออ ก่อนที่ผู้ตายจะถึงแก่ความตายผู้ตายประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ ทำให้ร่างกายทุพพลภาพ ผู้คัดค้านจึงนำผู้ตายมาพักรักษาตัวที่บ้านของผู้คัดค้านโดยผู้ร้องที่ 2 ไม่ได้มาดูแล เพียงแต่มาเยี่ยมเดือนละ 2 ถึง 3 ครั้งและให้เงินครั้งละ 300 ถึง 400 บาท เท่านั้น ซึ่งผู้คัดค้านเพิ่งมาทราบภายหลังว่าเงินที่ผู้ร้องที่ 2 นำมาให้ผู้ตายเป็นเงินประกันสังคมของผู้ตาย ที่ผู้ตายมีสิทธิจะได้รับเดือนละประมาณ 3,000 บาท หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องที่ 2 ก็มีสามีใหม่โดยมีบุตรด้วยกัน 1 คน เห็นว่า การที่ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านต่างขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น มีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยเพียงว่า สมควรตั้งผู้ร้องที่ 2 หรือผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้หรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านยกขึ้นโต้เถียงเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตายนั้น ศาลยังไม่อาจก้าวล่วงไปวินิจฉัยได้โดยผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านชอบที่จะไปดำเนินคดีเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากคดีนี้ ทั้งนี้ทายาทที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 หมายความถึงทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก หรือผู้มีส่วนได้เสีย แม้ผู้ร้องที่ 2 เป็นภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่ได้อยู่กินร่วมกันจนผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อมีทรัพย์สินได้มาในระหว่างนั้น ย่อมถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ผู้ร้องที่ 2 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 ส่วนผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายแม้เป็นทายาทลำดับที่ 2 แต่ก็มีสิทธิรับมรดกเสมือนทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1630 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อผู้ร้องที่ 2 มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ส่วนผู้คัดค้านเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ประกอบกับผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านมีจุดประสงค์เดียวกันที่จะคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องที่ 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 จึงสมควรตั้งบุคคลทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน เพื่อความเป็นธรรมแก่ทายาททุกฝ่ายต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตั้งผู้ร้องที่ 2 เพียงผู้เดียวให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น

อนึ่ง ศาลชั้นต้นได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม และศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้แก้ไขเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนายจำลอง เดชผดุง ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกของนายอดุลย์ เดชผดุง ผู้ตายร่วมกับนางสาวบุญเรือน มาลัยนาค ผู้ร้องที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1"
( สดศรี สัตยธรรม - จำรูญ แสนภักดี - สุมิตร สุภาดุลย์ )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้อง ต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้
(1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์
(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก
(3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ
การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งตาม ข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่ข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อ ประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของ เจ้ามรดกแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
มาตรา 142 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสิน ตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่
(1) ในคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภท เดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่จำเลย ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเมื่อ ศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ คำสั่งเช่นว่านี้ให้ใช้ บังคับตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยที่อยู่บน อสังหาริมทรัพย์นั้น ซึ่งไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้
(2) ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่ พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้
(3) ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงิน พร้อมด้วยดอกเบี้ยจนถึง วันฟ้อง เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ย จนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษาก็ได้
(4) ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าหรือค่าเสียหายอันต่อเนื่อง คำนวณถึงวันฟ้อง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้ชำระค่า เช่าและค่าเสียหายเช่นว่านี้ จนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษา ก็ได้
(5) ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้นเมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะยกข้อเหล่านั้น ขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้
(6) ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ย ซึ่งมิได้มี ข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ เมื่อศาลเห็นสมควรโดยคำนึง ถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ศาล จะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิ ได้รับตามกฎหมาย แต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง หรือวันอื่นหลังจากนั้นก็ได้
_____________________________

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US