ผู้จัดการมรดก | ทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก

ทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่บุคคลใดแล้ว บุตรชอบด้วยกฎหมายอื่นๆที่ไม่มีชื่อในพินัยกรรมย่อมถูกตัดไม่ให้รับมรดก แต่เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายคนใดเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและต่อผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมและซึ่งตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1099/2550 (ผู้จัดการมรดกกระทำผิดหน้าที่ อ่านต่อคลิ๊กที่นี่)

ถ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 ว. ซึ่งเป็นบุตรของ ถ. จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสอง ว. ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียของ ถ. ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ มาตรา 1713 แต่เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง ว. เป็นผู้จัดการมรดกของ ถ. แล้ว ว. ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและต่อผู้ร้องซึ่งตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่หาได้ไม่ การที่ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. และเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดแก่ผู้ร้องมาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัว ย่อมไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรม ให้ ว. มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ ถ. อันเป็นการต้องห้ามโดยแจ้งชัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างจึงยังคงเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องตามเดิมหาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. ไม่ เมื่อ ว. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแล้วก็ไม่มีสิทธินำไปจำนองแก่ผู้ใด การที่โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้จาก ว. ย่อมไม่เกิดผลให้โจทก์มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็หามีผลให้โจทก์กลับมีสิทธิตามนิติกรรมจำนองไม่ การจำนองจึงไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวรพรรณ์ชำระเงินแก่โจทก์ 4,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,173,550 บาท หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 12106 ตำบลตลาดขวัญ (บางซื่อ) อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบ จำเลยไม่ชำระหนี้โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอโดยขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนแก่ผู้ร้อง

โจทก์ให้การขอให้ยกคำร้องขอ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปล่อยที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนให้แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยกับนายวรพรรณ์ นายวรพรรณ์เป็นบุตรของจ่าสิบตำรวจถาวรกับนางลำไย เดิมที่ดินพิพาทเป็นของจ่าสิบตำรวจถาวร ซึ่งทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537 จ่าสิบตำรวจถาวรถึงแก่ความตายนายวรพรรณ์ร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอเป็นผู้จัดการมรดกจ่าสิบตำรวจถาวร วันที่ 26 พฤษภาคม 2537 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายวรพรรณ์เป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรตามคดีหมายเลขแดงที่ 797/2537 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2538 นายวรพรรณ์จึงนำคำสั่งศาลชั้นต้นไปจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นของตน ครั้นวันที่ 26 ธันวาคม 2538 นายวรพรรณ์จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้กู้ยืมเงินไว้แก่โจทก์ นายวรพรรณ์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2539 วันที่ 15 ธันวาคม 2540 นางสาวไมตรียื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวร จำเลยในฐานะส่วนตัว ผู้ร้องและเด็กหญิงพิมพ์มณี โดยนางปิยะนุช ผู้แทนโดยชอบธรรมได้ยื่นคำคัดค้าน และมีการส่งพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 ไปตรวจพิสูจน์ ศาลชั้นต้นเชื่อว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 เป็นพินัยกรรมที่แท้จริง จึงพิพากษาคำร้องขอของนางสาวไมตรีและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 496/2544 ของศาลชั้นต้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ผู้ร้องสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจ่าสิบตำรวจถาวรทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องตามพนัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 นายวรพรรณ์จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคสอง นายวรพรรณ์ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียของจ่าสิบตำรวจถาวร ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 แต่นายวรพรรณ์ไปร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรต่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้นายวรพรรณ์เป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 797/2537 ของศาลชั้นต้น แสดงว่าการร้องขอและการนำสืบกฎหมายพยานหลักฐานของนายวรพรรณ์เป็นไปโดยไม่สุจริตปกปิดข้อเท็จจริงทำให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายวรพรรณ์เป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรโดยหลงผิด แต่เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งนายวรพรรณ์เป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยสิบตรวจถาวร นายวรพรรณ์ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์กองมรดกและต่อผู้ร้องซึ่งตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่หาใดไม่ การที่นายวรพรรณ์ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องมาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัวโดยนายวรพรรณ์เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก แต่อาศัยคำสั่งศาลที่สั่งโดยหลงผิดเช่นนี้ย่อมไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรมให้นายวรพรรณ์มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรอันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล กิจการนั้นย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1575 ถึงเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นส่วนควบจึงยังคงเป็นมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องอยู่ตามเดิม หาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายวพรรณ์ไม่ เมื่อนายวรพรรณ์ไม่มีการรสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นส่วนควบเสียแล้ว นายวรพรรณ์ ก็ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปจำนองแก่ผู้ใด การที่โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้จากนายวรพรรณ์ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิจะจำนองได้ย่อมไม่เกิดผลให้โจทก์มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็หามีผลให้โจทก์กลับมีสิทธิตามนิติกรรมจำนองไม่ การจำนองจึงไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้
(1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไปหรืออยู่นอกราชอาณาเขตหรือเป็นผู้เยาว์
(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการหรือในการแบ่งปันมรดก
(3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ
การตั้งผู้จัดการมรดกนั้นถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่ข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
มาตรา 1719 ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไป ตามคำสั่งแจ้งชัด หรือ โดยปริยาย แห่งพินัยกรรมและเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือ เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก
มาตรา 1722 ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้ หรือ ได้รับอนุญาต จากศาล

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US