เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้

ห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียน, สินค้าต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน
จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวกที่ 5 เช่นเดียว แต่เป็นคนละประเภทสินค้ากัน กล่าวคือ สินค้าประเภทที่เป็นยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรมไว้รักษาและป้องกันโรคผมร่วงหรือโรคหัวล้าน ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือ เป็นยาทำลายหรือต่อต้านเชื้อแบคทีเรียสำหรับใช้ในการรักษาสัตว์ แม้จะเป็นยาเหมือนกันแต่ก็ใช้รักษาโรคในคนและสัตว์แตกต่างกันผู้ใช้จึงเป็นคนละกลุ่มกัน แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองจะคล้ายกันแต่ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิด จึงเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7831/2549

โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวกที่ 5 เช่นเดียวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบริษัท ค. แต่สินค้าของโจทก์เป็นคนละประเภทกับสินค้าของบริษัทดังกล่าว กล่าวคือ สินค้าของโจทก์เป็นยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรมไว้รักษาและป้องกันโรคผมร่วงหรือโรคหัวล้าน แต่สินค้าของบริษัท ค. เป็นยาทำลายหรือต่อต้านเชื้อแบคทีเรียสำหรับใช้ในการรักษาสัตว์ แม้จะเป็นยาเหมือนกันแต่ก็ใช้รักษาโรคในคนและสัตว์แตกต่างกันผู้ใช้จึงเป็นคนละกลุ่มกัน แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองจะคล้ายกันแต่ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่ายาของโจทก์เป็นยาของบริษัท ค. หรือมีแหล่งกำเนิดจากบริษัทดังกล่าว เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนภายใต้กฎหมายอังกฤษใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Glaxo Group Limited มีวัตถุประสงค์ในการประกอบอุตสาหกรรมผลิตยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ จำเลยที่ 1 เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจและหน้าที่ในการกำหนดกฎระเบียบในการยื่นและการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเป็นผู้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการกำกับดูแลการคัดค้านและอุทธรณ์คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอีกด้วย จำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับบัญชาของนายทะเบียนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ถึงจำเลยที่ 12 เป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงในการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน โจทก์ได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "ZYSTAR" อ่านว่า ซีสตาร์ หรือ ไซสตาร์ ซึ่งเป็นคำประดิษฐ์และไม่มีความหมาย โดยโจทก์ประสงค์ที่จะใช้กับสินค้ายาของโจทก์จำพวกที่ 5 ซึ่งได้แก่ยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรมเพื่อป้องกันโรคผมร่วงหรือโรคหัวล้าน ต่อมาในวันที่ 4 พฤษภาคม 2544 โจทก์ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "ZYSTAR" อ่านว่า ซีสตาร์ หรือ ไซสตาร์ สำหรับสินค้าจำพวกที่ 5 ตามคำขอเลขที่ 452594 ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวของโจทก์ โดยให้เหตุผลว่าคำขอของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว คือเครื่องหมายการค้า คำว่า "ZYZAR" อ่านว่า "ไซตาร์" ตามคำขอเลขที่ 226577 ทะเบียนเลขที่ ค. 668 โจทก์จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เพื่อให้พิจารณารับจดทะเบียนตามคำขอของโจทก์ ต่อมาหลังจากที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาแล้ว ได้มีคำวินิจฉัยยกคำอุทธรณ์ของโจทก์และไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ โดยคณะกรรมการวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายลงท้ายด้วยอักษรตัว TAR เช่นเดียวกัน มีเสียงเรียกขานได้ใกล้เคียงกันว่า ไซสตาร์ และ ไซตาร์ จึงเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดสินค้า โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ทั้งนี้เพราะรูปลักษณะและเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายแตกต่างกัน กล่าวคือ เครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" ของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมันพิมพ์ใหญ่รวมทั้งสิ้น 6 ตัว ได้แก่ อักษรตัว Z, Y, S, T, A และ R สามารถออกเสียงได้ว่า "ซีสตาร์" หรือ "ไซสตาร์" มีเสียงเรียกขานเป็นสามพยางค์เรียกขานได้สองแบบคือ "ซี-สะ-ตาร์" หรือ "ไซ-สะ-ตาร์" ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนนั้นประกอบด้วยอักษรโรมันพิมพ์ใหญ่ซึ่งมีจำนวนเพียง 5 ตัว ได้แก่อักษรตัว Z, Y, T, A และ R สามารถออกเสียงได้ว่า "ไซตาร์" มีเสียงขานดังกล่าวเป็นคำสองพยางค์เรียกขานว่า "ไซ ตาร์" ซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน และสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นสินค้าคนละประเภทกัน โดยโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" เพื่อเป็นที่หมายสำหรับ "ยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรมใช้รักษาและป้องกันโรคผมร่วงหรือโรคหัวล้าน" ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนนั้น ผู้ได้รับการจดทะเบียนได้ใช้เพื่อเป็นที่หมายสำหรับ "ยาทำลายหรือต่อต้านเชื้อแบคทีเรียสำหรับใช้ในการรักษาโรคสัตว์" ซึ่งถึงแม้รายการสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายดังกล่าวจะเป็นรายการสินค้าในจำพวกสากลเดียวกัน แต่สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ และสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียน เป็นสินค้าที่มีวัตถุประสงค์ในการรักษาโรคที่ต่างประเภทและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีที่มาแตกต่างไปจากสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียน เนื่องจากสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีที่มาจากประเทศอังกฤษ ส่วนสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนมีที่มาจากประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งถ้าหากจะพิจารณาถึงสถานที่จำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" ของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนจะเห็นว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายย่อมไม่ถูกจัดวางให้ปะปนกันและโดยทั่วไปแล้วสินค้าที่มีวัตถุประสงค์ในการรักษาโรคของมนุษย์และโรคของสัตว์ ดังเช่นสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายข้างต้นย่อมมีสถานที่ในการจำหน่ายที่แตกต่างกันประกอบกับสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ เป็นยาและสารที่เตรียมขึ้นทาเภสัชกรรมใช้รักษาและป้องกันโรคผมร่วงหรือโรคหัวล้าน ซึ่งสาธารณชนผู้ซื้อต้องพิจารณาถึงสรรพคุณของสินค้าอย่างรอบคอบก่อนใช้ อีกทั้งสินค้ายาดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เฉพาะทางและเภสัชกรอย่างใกล้ชิด ซึ่งสินค้าดังกล่าวนี้สาธารณชนมิได้มีโอกาสในการเลือกซื้อเองแต่แพทย์เฉพาะทางจะเป็นผู้สั่งยาให้ตามอาการของโรคที่ตรวจพบและออกใบสั่งยาเพื่อให้เภสัชกรเป็นผู้จ่ายให้ และในการที่เภสัชกรจัดจ่ายยาถือได้ว่าเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของตัวสินค้าก่อนที่สาธารณชนผู้ซื้อจะได้รับสินค้าประเภทนั้นๆ เหตุนี้การที่แพทย์ผู้ที่ทำการสั่งจ่ายจะเกิดความสับสนหรือหลงผิดระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนจนเป็นเหตุให้เกิดการสั่งจ่ายยาผิดประเภทย่อมไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นเครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" ของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะ และไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า นอกจากนี้โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" สำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์ยาป้องกันโรคผมร่วงในต่างประเทศมาเป็นเวลานานแล้ว โจทก์ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศต่างๆ กว่า 60 ประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ.2543 และในหลายประเทศดังกล่าวเครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" ของโจทก์ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นโจทก์จึงใช้เครื่องหมายการค้า คำว่า ZYSTAR มาก่อนเครื่องหมายการค้าคำว่า ZYTAR ของผู้ได้รับการจดทะเบียน นับว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า ZYSTAR ดีกว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า ZYTAR ของผู้ได้รับการจดทะเบียนอาศัยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังที่ได้กล่าวไว้ทั้งหมดข้างต้น เครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" ตามคำขอเลขที่ 452594 ของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะครบถ้วนอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 ขอให้ศาลพิพากษาว่า เครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" ตามคำขอเลขที่ 452594 ของโจทก์ ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า "ZYTAR" ตามคำขอเลขที่ 226577 ทะเบียนเลขที่ ค.668 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า และขอให้ศาลพิพากษายกคำสั่งปฏิเสธของจำเลยที่ 2 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 โดยขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 452594 ของโจทก์

จำเลยทั้งสิบสองให้การว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2535 บริษัทโซลเวย์ จำกัด ซึ่งมีภูมิลำเนาและจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศเบลเยี่ยม ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "ZYTAR" ในสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า "ยาทำลายหรือต่อต้านเชื้อแบคทีเรียสำหรับใช้ในการรักษาโรคสัตว์" นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้า "ZYTAR" ดังกล่าว ไม่เหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าผู้อื่นในจำพวกเดียวกันจึงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "ZYTAR" ไว้ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 226577 เลขทะเบียนที่ ค.668 ต่อมาเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2541 บริษัทโซลเวย์ จำกัด ได้ขอจดทะเบียนโอนเครื่องหมายการค้า "ZYTAR" ให้แก่บริษัทดิมมินาโค เอจี ซึ่งมีภูมิลำเนาและจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บริษัทแกล็กโซ กรุ๊ป ลิมิเต็ด โจทก์ในคดีนี้ได้ยื่นขอจดทะเบียนการค้า "ZYSTAR" ในสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า "ยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรมใช้รักษาและป้องกันโรคผมร่วงหรือโรคหัวล้าน" ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2544 ตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ เลขที่ 452594 จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "ZYSTAR" ที่ยื่นขอจดทะเบียนดังกล่าวไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เพราะมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้ว และอาจทำให้หลงผิดได้ ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 จึงมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" ของโจทก์ โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2544 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของโจทก์ โดยพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำว่า "ZYSTAR" กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่รับจดทะเบียนไว้แล้ว คำว่า "ZYTAR" ทะเบียนเลขที่ ค.668 (คำขอจดทะเบียนเลขที่ 226577) แล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำว่า "ZYSTAR" เป็นคำสามพยางค์ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ZY" และลงท้ายด้วยคำว่า "TAR" เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว คำว่า "ZYTAR" แตกต่างกันเพียงเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษร "S" เพิ่มขึ้นมาในตำแหน่งที่ 3 อีก 1 ตัวเท่านั้น เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า "ไซสตาร์" ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วเรียกขานได้ว่า "ไซตาร์" นับว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองมีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกันเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อยื่นขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันจึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ส่วนหลักฐานแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศที่โจทก์นำส่งนั้น มิใช่หลักฐานที่แสดงว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้มาเป็นเวลานาน หรือมีความแพร่หลายแล้วในประเทศไทย คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนและให้ยกอุทธรณ์โจทก์ ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเนื่องจากเครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" ของโจทก์ที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วคือเครื่องหมายการค้า "ZYTAR" ทั้งรูปลักษณะตัวอักษร เสียงเรียกขานตลอดจนการยื่นขอจดทะเบียนในสินค้าจำพวกเดียวกัน (จำพวก 5) จึงอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามิอาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ ตามมาตรา 6, 13 และ 16 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือที่ พณ 0704/2001 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2544 ตามคำขอเลขที่ 452594 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 903/2545 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "ZYSTAR" ตามคำขอเลขที่ 452594 ของโจทก์ต่อไป โดยให้จำกัดรายการสินค้าในจำพวก 5 เฉพาะยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรมใช้รักษาและป้องกันโรคผมร่วงหรือหัวล้าน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสิบสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนภายใต้กฎหมายอังกฤษใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Glaxo Group Limited มีวัตถุประสงค์ในการประกอบอุตสาหกรรมผลิตยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ โจทก์มอบอำนาจให้บริษัทติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ/หรือนายธเนศ เปเรร่า เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงพาณิชย์มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดกฎและระเบียบเกี่ยวกับการยื่นและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เป็นผู้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกจากนี้ยังมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการคัดค้านและอุทธรณ์คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับบัญชาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 การดำเนินการเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในคดีนี้อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และควบคุมของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงในการพิจารณารับหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 เป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงในการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "ZYSTAR" เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2544 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 5 รายการสินค้า ยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรม ได้แก่ยาใช้บำบัดรักษาโรคผมร่วงหรือหัวล้าน ตามคำขอเลขที่ 452594 ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.6 และคำขอแก้ไขรายการสินค้าตามเอกสารหมาย จ.7 จำเลยที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยให้เหตุผลว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วคือเครื่องหมายการค้าคำว่า "ZYTAR" ตามคำขอเลขที่ 226577 ทะเบียนเลขที่ ค.668 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2535 ตามเอกสารหมาย จ.9 เพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะคำและเสียงเรียกขานคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันและมีรายการสินค้าครอบคลุมถึงกันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ จึงปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ตามเอกสารหมาย จ.10 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 ในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาอุทธรณ์โดยเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "ZYSTAR" กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วคือ คำว่า "ZYTAR" ตามทะเบียนเลขที่ ค.668 ตามคำขอเลขที่ 226577 เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำสามพยางค์ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ZY" และลงท้ายด้วยคำว่า "TAR" เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วคำว่า "ZYTAR" แตกต่างกันเพียงเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษร "S" เพิ่มขึ้นในตำแหน่งที่ 3 อีกหนึ่งตัวเท่านั้น เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานไว้ว่า "ไซสตาร์" ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วเรียกขานได้ว่า "ไซตาร์" นับว่าเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายมีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกัน เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเมื่อยื่นขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และสำหรับหลักฐานที่โจทก์นำส่งซึ่งแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.19 นั้น คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเห็นว่ามิใช่หลักฐานที่แสดงว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้มาเป็นเวลานานหรือมีความแพร่หลายแล้วในประเทศไทย จำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 ในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงมีมติในการประชุมครั้งที่ 24/2545 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2545 ยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนและให้ยกอุทธรณ์โจทก์

ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของจำเลยทั้งสิบสองมีว่า เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "ZYSTAR" ตามคำขอเลขที่ 452594 ของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันตามคำขอเลขที่ 226577 ของบริษัทคิมมินาโค เอจี ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามทะเบียนเลขที่ ค.668 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองมีความหมายคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องตัวอักษรและสำเนียงเรียกขานปัญหาคงมีว่าความคล้ายกันนั้นอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวกที่ 5 เช่นเดียวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทคิมมินาโค เอจี แต่สินค้าของโจทก์เป็นยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรมไว้รักษาและป้องกันโรคผมร่วงหรือโรคหัวล้าน แต่สินค้าของบริษัทคิมมินาโค เอจี เป็นยาทำลายหรือต่อต้านเชื้อแบคทีเรียสำหรับใช้ในการรักษาสัตว์ แม้จะเป็นยาเหมือนกันแต่ก็ใช้รักษาโรคในคนและสัตว์แตกต่างกัน ผู้ใช้จึงเป็นคนละกลุ่มกัน ทั้งได้ความจากคำเบิกความของนางสาวเยาวเรศ ปิ่นแหลม พยานโจทก์ว่าโดยทั่วไปยารักษาโรคในคนจะมีจำหน่ายตามโรงพยาบาล คลินิกและร้านขายยา แต่ยารักษาโรคในสัตว์จะมีจำหน่ายในโรงพยาบาลรักษาสัตว์ คลินิกรักษาสัตว์ และร้านเคมีเกษตร ยาทั้งสองประเภทประชาชนจะใช้ความละเอียดถี่ถ้วนในการเลือกซื้อ ยารักษาโรคในคนจะเป็นบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก ในขณะที่ยารักษาโรคในสัตว์จะเป็นบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยาที่ใช้เฉพาะทางบุคคลทั่วไปไม่อาจซื้อหามาใช้เองได้ต้องมีแพทย์เป็นผู้สั่งและเภสัชกรเป็นผู้จ่าย พยานปากนี้สำเร็จปริญญาตรีทางด้านเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรและทำงานด้านยาตลอดมา ทั้งเป็นพยานผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ คำเบิกความของพยานปากนี้จึงมีน้ำหนักมากกว่าคำเบิกความของนายพันธุ์สวัสดิ์ พรหมรส นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า นายกนก ฌายีเนตร นิติกรและผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและนายรุจิระ บุนนาค กรรมการเครื่องหมายการค้าและจำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นพยานจำเลยทั้งสิบสองที่เบิกความลอยๆ ว่า ยาทั้งสองประเภทมีจำหน่ายในร้านเดียวกัน ประชาชนสามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป คำเบิกความของนางสาวเยาวเรศจึงรับฟังได้เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อที่ว่าสินค้าของโจทก์เป็นคนละประเภทกับสินค้าของบริษัทอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวมาข้างต้น จึงเห็นว่าแม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองจะคล้ายกัน แต่ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่ายาของโจทก์เป็นยาของบริษัทคิมมินาโค เอจี หรือมีแหล่งกำเนิดจากบริษัทดังกล่าว ความคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ฉะนั้นเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อไปของจำเลยทั้งสิบสองมีว่าโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า แม้ก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์จะมิได้แถลงแก่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยที่ 1 ว่ามีเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังที่จำเลยทั้งสิบสองอ้างก็ตาม เพียงข้อเท็จจริงดังกล่าวจะถือว่าโจทก์ไม่สุจริตไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับให้โจทก์ต้องกระทำเช่นนั้นก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสองฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
มาตรา 6 เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
(2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ และ
(3)ไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้ว

มาตรา 13 ภายใต้บังคับ มาตรา 27 ในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนั้นนายทะเบียนเห็นว่า
(1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือ
(2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

ถ้าเป็นการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน ห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียน

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US