ภาพร่างตามที่ปรากฏในเอกสารเป็นภาพร่างของลูกล้อทางเลื่อนที่ยื่นขอรับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร แล้ว ยังฟังไม่ได้ว่าภาพร่างนั้นเป็นต้นร่างหรือต้นฉบับภาพวาดหรือภาพร่างที่นายอูเว่ จัดทำขึ้นตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าเป็นงานจิตรกรรมและงานภาพร่างจริงหรือไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบให้ชัดเจน ลูกล้อทางเลื่อนดังกล่าวจึงไม่อาจถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7117/2552
กรณีมีข้อพิจารณาว่าลูกล้อรถเข็นที่ใช้สำหรับทางเลื่อนที่โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ผลิต และโจทก์ที่ 2 สั่งสินค้าดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เข้าองค์ประกอบของงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ โจทก์ทั้งสองไม่ได้นำบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานจิตรกรรม งานภาพร่าง หรือแบบจำลองมาเบิกความเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ดังกล่าวด้วยตนเอง (Originality) โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือความวิริยะอุตสาหะอย่างไร เป็นการแสดงออกซึ่งความคิด (Expression of idea) ของผู้สร้างสรรค์เช่นใด นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าลูกล้อตามวัตถุพยานจะเห็นว่าลูกล้อดังกล่าวมีลักษณะของวัตถุที่ใช้งานในการทำให้สิ่งของเคลื่อนที่ได้ โดยมีคุณประโยชน์พิเศษคือมีระบบการล็อกล้อพิเศษสำหรับทางเลื่อน ซึ่งรูปลักษณะของลูกล้อทางเลื่อนดังกล่าวเป็นไปตามข้อจำกัดของรูปแบบลูกล้อที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมและตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน รูปลักษณะที่ปรากฏจึงเป็นการสร้างลูกล้อเลื่อนขึ้นตามกรอบวัตถุประสงค์ของการใช้งาน แล้วจึงปรับปรุงรูปแบบของลูกล้อเลื่อนให้มีความสวยงามน่าดู เช่น กำหนดส่วนเว้าโค้ง ส่วนมุม และเลือกใช้สีต่าง ๆ โดยความสวยงามน่าดูตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างนั้นไม่อาจที่จะแยกต่างหากไปจากตัวสินค้าที่มุ่งประสงค์ต่อประโยชน์การใช้สอยได้เลย พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองจึงรับฟังไม่ได้ว่า ลูกล้อดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นจากงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในแง่ใดแง่หนึ่ง หรือเริ่มต้นจากงานที่มีความงาม (Aesthetic work) เป็นจุดเริ่มต้น แล้วนำงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการทำให้สิ่งของเคลื่อนที่ ลูกล้อทางเลื่อนดังกล่าวจึงไม่อาจถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ได้
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 48,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองหยุดการผลิตและจำหน่ายลูกล้อเลียนแบบโจทก์ที่ 1 หากไม่ดำเนินการให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินปีละ 16,000,000 บาท จนกว่าจำเลยทั้งสองจะหยุดการผลิตและจำหน่ายลูกล้อเลียนแบบโจทก์ที่ 1
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยทั้งสองคนละ 50,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ผลิตลูกล้อรถเข็นที่ใช้สำหรับทางเลื่อน รุ่น 2875 แซดเจพี 125 พี 30 และรุ่น 2875 แซดไอพี 125 พี 30 โจทก์ที่ 2 ได้สั่งสินค้าดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ลูกล้อผลิตโดยจำเลยที่ 2
ปัญหาที่เห็นควรวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการแรกมีว่า ลูกล้อทางเลื่อนของโจทก์ที่ 1 เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ในทำนองว่า ลูกล้อทางเลื่อนของโจทก์ที่ 1 เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ โดยเป็นงานศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรม งานภาพร่าง งานประติมากรรม และงานศิลปประยุกต์ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองมีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและคำเบิกความของนายแฟรงก์ มานำสืบในทำนองว่า โจทก์ที่ 1 ได้คิดค้น ออกแบบ ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ลูกล้อที่ทำจากเทอร์โมพลาสติกด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงาม โจทก์ที่ 1 ร่างภาพลูกล้อเลื่อน สร้างแบบจำลองในลักษณะของงานประติมากรรม แล้วจึงสร้างลูกล้อเลื่อนซึ่งเป็นงานศิลปประยุกต์ โดยนายอูเว่ วิศวกรของโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ออกแบบ การออกแบบเริ่มต้นด้วยการกำหนดรูปร่างที่จะต้องสอดคล้องกับน้ำหนักและขนาด กำหนดไปพร้อมกับส่วนเว้าโค้งของวัสดุที่นำมาประกอบเป็นลูกล้อ เป็นลักษณะของงานศิลปะอันละเอียดอ่อนประณีต กล่าวคือ มีการกำหนดส่วนเว้าส่วนโค้ง เพื่อให้ความรู้สึกอ่อนเบาเมื่อมองจากด้านข้าง เมื่อมองจากด้านบนเสมือนหนึ่งหุ้มด้วยเกราะเพื่อให้ดูแข็งแกร่งและกลมกลืนด้วยรูปลักษณะโค้งมน ไม่มีความเป็นเหลี่ยม ยกเว้นน็อตเป็นเหลี่ยมเพื่อเพิ่มความรู้สึกแข็งแกร่งบนความอ่อนเบา กำหนดสีสัน ขั้นตอนนี้ เลือกสีและระดับความเข้มอ่อนของสี เฉดสีต่างกันจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป ลูกล้อพิพาทถูกกำหนดเฉดลักษณะ “ทูโทน” (เลือกใช้ 2 สีเป็นหลัก) เพื่อให้สอดคล้องกับน้ำหนักสีที่เข้มอ่อน ในที่สุดเลือกสีเทา เหตุที่เลือกสีเทาเพราะเป็นสีมาตรฐานของโจทก์ที่ 1 สำหรับวัสดุที่ทำจากโพลิเอไมด์และโพลิยูรีเทน นอกจากนี้สีเทาทำให้รู้สึกแข็งแกร่ง ดูดี สง่า ภูมิฐาน เหล่านี้คือสิ่งที่เรียกว่า “สวยงาม” หรือ “สวยสง่างาม” อย่างไรก็ดี โจทก์ทั้งสองไม่ได้นำนายอูเว่ ซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานจิตรกรรม ภาพร่าง หรือแบบจำลองของลูกล้อทางเลื่อนตามที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาเบิกความเพื่อแสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ดังกล่าวด้วยตนเอง (Originality) โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือความวิริยะอุตสาหะของตนอย่างไร เป็นการแสดงออกซึ่งความคิด (Expression of idea) ของนายอูเว่ ผู้สร้างสรรค์เช่นใด อันเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับคดีนี้ เนื่องจากมีปัญหาข้อโต้แย้งที่ต้องพิจารณาว่า ลูกล้อทางเลื่อนของโจทก์ที่ 1 เข้าองค์ประกอบของงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ นอกจากนี้ ภาพร่างตามที่ปรากฏในเอกสารก็เป็นภาพร่างของลูกล้อทางเลื่อนที่ยื่นขอรับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร และภาพร่างที่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าคือ ลูกล้อทางเลื่อนทั้งสองรุ่นดังกล่าว เมื่อพิจารณาโดยสภาพของภาพร่างดังกล่าวประกอบกับเอกสารแนะนำสินค้าแล้ว ยังฟังไม่ได้ว่าภาพร่างนั้นเป็นต้นร่างหรือต้นฉบับภาพวาดหรือภาพร่างที่นายอูเว่ จัดทำขึ้นตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าเป็นงานจิตรกรรมและงานภาพร่างจริงหรือไม่ รวมทั้งภาพร่างตามที่ปรากฏจะเหมือนหรือแตกต่างจากต้นฉบับภาพร่างของนายอูเว่หรือไม่ อย่างไร เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบให้ชัดเจนเกี่ยวกับงานจิตรกรรม งานภาพร่างตลอดจนแบบจำลองที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าเป็นงานประติมากรรมแล้ว ข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสองในเรื่องนี้จึงมีน้ำหนักน้อย และเมื่อพิจารณาสินค้าลูกล้อทางเลื่อนของโจทก์ที่ 1 แล้วจะเห็นว่า ลูกล้อทางเลื่อนดังกล่าวมีลักษณะของวัตถุที่ใช้งานในการทำให้สิ่งของเคลื่อนที่ได้ โดยมีคุณประโยชน์พิเศษคือมีระบบการล็อกล้อพิเศษสำหรับทางเลื่อน ซึ่งรูปลักษณะของลูกล้อทางเลื่อนของโจทก์ที่ 1 เป็นไปตามข้อจำกัดของรูปแบบลูกล้อที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมและตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน รูปลักษณะที่ปรากฏจึงเป็นการสร้างลูกล้อเลื่อนขึ้นตามกรอบวัตถุประสงค์ของการใช้งาน แล้วจึงปรับปรุงรูปแบบของลูกล้อเลื่อนให้มีความสวยงามน่าดู เช่น กำหนดส่วนเว้าโค้ง ส่วนมุมและเลือกใช้สีต่าง ๆ ตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบ โดยความสวยงามน่าดูตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างนั้นไม่อาจที่จะแยกต่างหากไปจากตัวสินค้าที่มุ่งประสงค์ต่อประโยชน์การใช้สอยได้เลย พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองจึงรับฟังไม่ได้ว่า ลูกล้อทางเลื่อนของโจทก์ที่ 1 ถูกจัดทำขึ้นจากงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในแง่ใดแง่หนึ่ง หรือเริ่มต้นจากงานที่มีความงาม (Aesthetic work) เป็นจุดเริ่มต้นแล้วนำงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการทำให้สิ่งของเคลื่อนที่ได้ ลูกล้อทางเลื่อนของโจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ทั้งสองต่อไป เพราะไม่มีผลทำให้คดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.
( พรเพชร วิชิตชลชัย - พลรัตน์ ประทุมทาน - อร่าม เสนามนตรี )
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง - นายวิศิษฐ์ ศรีพิบูลย์
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
"ผู้สร้างสรรค์" หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใด อย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
"ลิขสิทธิ์" หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น
"วรรณกรรม" หมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้หมายความรวมถึง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย
"โปรแกรมคอมพิวเตอร์" หมายความว่า คำสั่ง ชุดคำสั่งหรือสิ่งอื่นใด ที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือเพื่อให้ได้รับผล อย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในลักษณะใด
"นาฏกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือ การแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว และให้หมายความรวมถึงการแสดงโดยวิธีใบ้ด้วย
"ศิลปกรรม" หมายความว่า งานอันมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือ หลายอย่างดังต่อไปนี้
(1) งานจิตรกรรม ได้แก่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้น แสง สี หรือสิ่งอื่น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุอย่างเดียว หรือหลายอย่าง
(2) งานประติมากรรม ได้แก่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตร ที่สัมผัสและจับต้องได้
(3) งานภาพพิมพ์ ได้แก่งานสร้างสรรค์ภาพด้วยกรรมวิธีทางการพิมพ์ และหมายความรวมถึงแม่พิมพ์หรือแบบพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ด้วย
(4) งานสถาปัตยกรรม ได้แก่งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง งานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอก ตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรือ การสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง
(5) งานภาพถ่าย ได้แก่งานสร้างสรรค์ภาพที่เกิดจากการใช้เครื่องมือ บันทึกภาพโดยให้แสงผ่านเลนซ์ไปยังฟิล์มหรือกระจก และล้างด้วยน้ำยาซึ่งมีสูตรเฉพาะ หรือด้วยกรรมวิธีใด ๆ อันทำให้เกิดภาพขึ้น หรือการบันทึกภาพโดยเครื่องมือหรือวิธีการ อย่างอื่น
(6) งานภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หรืองานสร้างสรรค์ รูปทรงสามมิติอันเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์
(7) งานศิลปประยุกต์ ได้แก่งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6) อย่างใด อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่า ของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า
ทั้งนี้ ไม่ว่างานตาม (1) ถึง (7) จะมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่ และให้ หมายความรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย
"ดนตรีกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลง หรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือมีทำนองอย่างเดียว และให้หมายความรวมถึง โน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว
"โสตทัศนวัสดุ" หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของภาพโดยบันทึก ลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างใด อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก โดยใช้เครื่องมือ ที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบงานนั้นด้วย ถ้ามี
"ภาพยนตร์" หมายความว่า โสตทัศนวัสดุอันประกอบด้วยลำดับของภาพ ซึ่งสามารถนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์หรือสามารถบันทึกลงบนวัสดุอื่น เพื่อนำออก ฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์ และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์นั้นด้วย ถ้ามี
"สิ่งบันทึกเสียง" หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของเสียงดนตรี เสียงการแสดง หรือเสียงอื่นใด โดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใด ๆ อันสามารถที่จะ นำมาเล่นซ้ำได้อีกโดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น แต่ทั้งนี้มิให้หมายความ รวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น
"นักแสดง" หมายความว่า ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และผู้ซึ่ง แสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด
"งานแพร่เสียงแพร่ภาพ" หมายความว่า งานที่นำออกสู่สาธารณชนโดย การแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์หรือ โดยวิธีอย่างอื่นอันคล้ายคลึงกัน
"ทำซ้ำ" หมายความรวมถึง คัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพ จากต้นฉบับ จากสำเนา หรือจากการโฆษณาในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับ ในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้หมายความถึง คัดลอกหรือทำสำเนา โปรแกรมคอมพิวเตอร์จากสื่อบันทึกใด ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
"ดัดแปลง" หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(1) ในส่วนที่เกี่ยวกับวรรณกรรม ให้หมายความรวมถึง แปลวรรณกรรม เปลี่ยนรูปวรรณกรรมหรือรวบรวมวรรณกรรมโดยคัดเลือกและจัดลำดับใหม่
(2) ในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้หมายความรวมถึง ทำซ้ำ โดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำขึ้นใหม่
(3) ในส่วนที่เกี่ยวกับนาฏกรรม ให้หมายความรวมถึง เปลี่ยนงานที่มิใช่ นาฏกรรมให้เป็นนาฏกรรม หรือเปลี่ยนนาฏกรรมให้เป็นงานที่มิใช่นาฏกรรม ทั้งนี้ ไม่ว่า ในภาษาเดิมหรือต่างภาษากัน
(4) ในส่วนที่เกี่ยวกับศิลปกรรม ให้หมายความรวมถึง เปลี่ยนงานที่เป็น รูปสองมิติหรือสามมิติ ให้เป็นรูปสามมิติหรือสองมิติ หรือทำหุ่นจำลองจากงานต้นฉบับ
(5) ในส่วนที่เกี่ยวกับดนตรีกรรม ให้หมายความรวมถึง จัดลำดับเรียบเรียง เสียงประสานหรือเปลี่ยนคำร้องหรือทำนองใหม่
"เผยแพร่ต่อสาธารณชน" หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน โดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและ หรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น
"การโฆษณา" หมายความว่า การนำสำเนาจำลองของงานไม่ว่าในรูป หรือลักษณะอย่างใดที่ทำขึ้นโดยความยินยอมของผู้สร้างสรรค์ออกจำหน่าย โดยสำเนา จำลองนั้นมีปรากฏต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรตามสภาพของงานนั้น แต่ทั้งนี้ไม่หมายความรวมถึง การแสดงหรือการทำให้ปรากฏซึ่งนาฏกรรม ดนตรีกรรม หรือภาพยนตร์ การบรรยายหรือการปาฐกถา ซึ่งวรรณกรรม การแพร่เสียงแพร่ภาพ เกี่ยวกับงานใด การนำศิลปกรรมออกแสดงและการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรม
"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการ ตามพระราชบัญญัตินี้
"อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามอบหมายด้วย
"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการลิขสิทธิ์
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 6 งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่งานสร้างสรรค์ ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ของผู้สร้างสรรค์ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด
*การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์