บัญชีเดินสะพัด | บัญชีกระแสรายวัน

บัญชีเดินสะพัดนั้นเป็นบทบัญญัติใน บรรพ 3 ลักษณะ 19 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตั้งแต่มาตรา 856 ถึง มาตรา 860 รวม 5 มาตรา ด้วยกัน ปัญหาในเรื่องบัญชีเดินสะพัดมีมากพอสมควร เนื่องจากสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่นิติกรรมที่ก่อหนี้โดยตัวของมันเอง ทำนองเดียวกับเรื่องของตั๋วเงินซึ่งต้องมีหนี้กันมาก่อนไม่ว่าจะเป็นหนี้ตามนิติกรรมซื้อขาย หรือสัญญาอื่น ๆ หรือการกู้ยืมเงินก็ตาม แล้วจึงมาผูกพันเป็นนิติกรรมในเรื่องของสัญญาบัญชีเดินสะพัดอีกต่อหนึ่ง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคล สองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการใน ระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็น จำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

กรณีที่จะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดได้ต้องเป็นเรื่องของ บุคคลสองคน แต่สองคนในที่นี้อาจจะเป็นสองฝ่าย แต่ละฝ่ายมีหลายคนซึ่งมีกิจการเกี่ยวข้องกัน ไม่ใช่แปลว่าสองคนหมายถึง ก. กับ ข. เท่านั้น โดยต่างคนต่างต้องเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ซึ่งกันและกัน เพราะว่าถ้าหากเป็นเจ้าหนี้ฝ่ายเดียวหรือลูกหนี้ฝ่ายเดียวแล้วจะไม่เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด และการเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้กันและกันนั้น แทนที่จะแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กันเป็นคราว ๆ อย่างหนี้ธรรมดาก็มาตกลงวันว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงเมื่อเวลาที่กำหนดไว้หรืออาจจะไม่กำหนดเวลาไว้โดยกำหนดว่าตลอดไปจนกว่าจะบอกเลิกสัญญาก็ได้ให้มีการคิดหักกลบลบหนี้กันเป็นระยะ ๆ คือหนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างกันและกัน เมื่อเกิดขึ้นแล้วเอามาลงรายการในบัญชีเอาไว้พอครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ให้หักทอนบัญชีกัน เป็นการเอามาหักกลบลบหนี้กันนั่นเอง ในระหว่างที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่จะหักทอนบัญชี คือยังไม่ถึงระยะเวลาที่จะหักกลบลบหนี้บัญชีที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้หรือ ลูกหนี้ ก็ให้เอาลงบัญชีไว้ก่อนโดยไม่ต้องไปหักกลบลบหนี้กัน แต่เมื่อถึงกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ อาจจะเป็น 6 เดือน 1ปี หรือ 2 ปี ตามที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ก็เอามาหักกลบลบหนี้กัน แล้วดูว่าฝ่ายไหนเป็นเจ้าหนี้ฝ่ายไหนเป็นลูกหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952/2543

จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเพื่อใช้เป็นบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์เพียงบัญชีเดียว และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์รวม 2 ฉบับโดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สอง และยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าฝากและออกเช็คสั่งจ่ายเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้ง 2 ฉบับจากบัญชีกระแสรายวันซึ่งมีบัญชีเดียวตลอดมา โดยไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าหนี้จำนวนใดเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกหรือฉบับที่สอง กรณีจึงเป็นมูลหนี้เดียวกัน แม้ว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จะมีภาระในการชำระหนี้ไม่เท่ากันก็สามารถรวมฟ้องมาในคดีเดียวกันได้ ส่วนการที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยคนใดชำระหนี้เท่าใด หรือใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนกันอย่างไรก็แล้วแต่ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำนวนหนึ่ง และฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นหนี้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกฟ้องได้ให้โจทก์แยกฟ้องภายใน 15 วัน และเสียค่าขึ้นศาลให้ถูกต้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดไว้กับโจทก์ สาขานครพนม โดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเพื่อใช้เป็นบัญชีเดินสะพัดเพียงบัญชีเดียว ต่อมาจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์รวม 2 ฉบับ ฉบับแรกมีวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี 2,000,000 บาท ฉบับที่สองมีวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี 7,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สอง และยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าฝากและออกเช็คสั่งจ่ายเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้ง 2 ฉบับ จากบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวซึ่งมีบัญชีเดียวตลอดมา โดยไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าหนี้จำนวนใดเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกหรือฉบับที่สองแต่ในที่สุดเป็นหนี้จำนวน 12,361,110.64 บาท ปัญหาวินิจฉัยมีว่า โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งหกเป็นคดีเดียวกันจะได้หรือไม่ เห็นว่าหนี้จำนวน 12,361,110.64 บาท ใช้เบิกเงินจากบัญชีกระแสรายวันซึ่งเป็นบัญชีเดินสะพัดบัญชีเดียวกัน จึงไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามฉบับแรกเท่าใดและตามฉบับที่สองเท่าใด จึงเป็นมูลหนี้เดียวกัน แม้ว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จะมีภาระในการชำระหนี้ไม่เท่ากันก็สามารถรวมฟ้องมาในคดีเดียวกันได้ ส่วนการที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยคนใดชำระหนี้เท่าใด หรือใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนกันอย่างไรก็แล้วแต่ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องของโจทก์มาดำเนินการไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น"
พิพากษากลับ ให้รับฟ้องของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป

ข้อสังเกต
คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่าฝ่ายลูกหนี้อาจมีได้หลายคน เมื่อเป็นมูลหนี้เดียวกัน โจทก์ชอบที่จะฟ้องมาในคดีเดียวกันได้

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US