เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องตักเตือนเป็นหนังสือ

เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องตักเตือนเป็นหนังสือ
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้สิทธินายจ้างที่จะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุขาดสมรรถภาพ โดยมีสาระว่า “ในกรณีที่พนักงานไม่สามารถจะปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทโดยที่บริษัทได้ให้การอบรม หรือฝึกสอนแล้วก็ตาม หรือจากการขาดงานบ่อย ๆ หรือจากการขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจในงาน หรือได้รับการประเมินต่ำจากผู้บังคับบัญชาหลายครั้งและบริษัทได้ตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษอย่างอื่นมาแล้ว” จากการประเมินผลงานของลูกจ้างหลายครั้ง ผลงานของลูกจ้างก็ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและยังไม่ได้มาตรฐานของนายจ้าง อันเป็นกรณีลูกจ้างไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานได้ นายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่จำต้องตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษอย่างอื่นมาก่อน การที่นายจ้างเลิกจ้างแม้จะไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษลูกจ้างมาก่อนจึงชอบด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว และมีเหตุผลสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้ จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7096/2550

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ระบุให้สิทธินายจ้างที่จะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุขาดสมรรถภาพไว้ว่า “ในกรณีที่พนักงานไม่สามารถจะปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทโดยที่บริษัทได้ให้การอบรมหรือฝึกสอนแล้วก็ตาม หรือจากการขาดงานบ่อย ๆ หรือจากการขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจงาน หรือได้รับการประเมินต่ำจากผู้บังคับบัญชาหลายครั้ง และบริษัทได้ตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษอย่างอื่นมาแล้ว” สิทธิของนายจ้างที่จะเลิกจ้างดังกล่าวแยกได้เป็น 2 กรณี กล่าวคือ กรณีลูกจ้างไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของนายจ้างกรณีหนึ่ง และกรณีที่ลูกจ้างขาดงานบ่อย ๆ หรือขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจงาน หรือได้รับการประเมินต่ำจากผู้บังคับบัญชา โดยกรณีแรกนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ก็โดยนายจ้างให้การอบรมหรือฝึกสอนแล้วลูกจ้างก็ยังไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของนายจ้างได้ ซึ่งเป็นกรณีความสามารถของลูกจ้างที่ไม่อาจปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของนายจ้างได้ ส่วนในกรณีหลังซึ่งเป็นกรณีที่ลูกจ้างขาดงานบ่อย ๆ หรือขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจงาน หรือได้รับการประเมินต่ำจากผู้บังคับบัญชาหลายครั้ง ซึ่งเห็นได้ว่า เป็นกรณีเกี่ยวกับความประพฤติของลูกจ้างซึ่งสามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ในกรณีหลังนี้นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างเคยตักเตือนเป็นหนังสือหรือเคยลงโทษลูกจ้างมาแล้ว แต่ลูกจ้างไม่ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นจนเป็นที่พอใจของผู้บังคับบัญชา ดังนั้น ข้อที่ว่านายจ้างจะต้องตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษมาแล้วจึงหาเป็นบทบังคับไปถึงกรณีแรกด้วยไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จากการประเมินผลงานของโจทก์หลายครั้ง ผลงานของโจทก์ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและยังไม่ได้มาตรฐานของจำเลยอันเป็นกรณีโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานได้ จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษอย่างอื่นมาก่อน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แม้จะไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษโจทก์มาก่อน จึงชอบด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวข้างต้นแล้ว ทั้งเป็นกรณีที่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้ จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
________________________________

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยและให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม โดยนับอายุงานต่อเนื่องและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างครั้งสุดท้าย นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานคัดเลือกและบรรจุขวด อัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 6,774 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 15 และวันที่ 30 ของทุกเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2547 โดยให้เหตุผลว่า จำเลยได้ปรับปรุงเทคนิคและการทำงานใหม่ ศักยภาพตามใบประเมินผลงานของโจทก์ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยมีใบประเมินผลงานของโจทก์ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แม้โจทก์จะอ้างว่าตามหลักฐานของจำเลยก็ยังเห็นได้ว่าผลงานของโจทก์ดีขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและยังไม่ได้มาตรฐานของจำเลย ทั้งปรากฏว่าโจทก์ได้รับการประเมินผลงานต่ำจากผู้บังคับบัญชา 3 ครั้ง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก็โดยอาศัยข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หมวดที่ 9 การเลิกจ้าง ข้อ 26.3 การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ชอบด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างข้อ 26.3 หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างข้อ 26.3 แม้โจทก์จะได้รับการประเมินผลงานต่ำจากผู้บังคับบัญชาหลายครั้ง แต่จำเลยต้องตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือหรือลงโทษอย่างอื่นมาแล้วจึงจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ ทั้งตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างข้อ 23.1.3 ก็ให้สิทธิจำเลยในการตักเตือนเป็นหนังสือหากพนักงานได้รับการประเมินผลงานต่ำ และการตักเตือนก็เพื่อให้โจทก์รู้ตัวว่าอาจถูกเลิกจ้างได้ เมื่อโจทก์ไม่เคยถูกตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษอย่างอื่น การเลิกจ้างจึงไม่ชอบด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างข้อ 26.3 และไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ พิเคราะห์แล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหมวดที่ 9 ระบุให้สิทธินายจ้างที่จะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุขาดสมรรถภาพไว้ในข้อ 26.3 ว่า “ในกรณีที่พนักงานไม่สามารถจะปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทโดยที่บริษัทได้ให้การอบรม หรือฝึกสอนแล้วก็ตาม หรือจากการขาดงานบ่อย ๆ หรือจากการขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจในงาน หรือได้รับการประเมินต่ำจากผู้บังคับบัญชาหลายครั้งและบริษัทได้ตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษอย่างอื่นมาแล้ว” เมื่อได้พิจารณาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างข้อนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า สิทธิของนายจ้างที่จะเลิกจ้างลูกจ้างข้อนี้แยกออกได้เป็น 2 กรณี กล่าวคือ กรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของนายจ้างกรณีหนึ่งและกรณีที่ลูกจ้างขาดงานบ่อย ๆ หรือขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจในงานหรือได้รับการประเมินผลงานต่ำจากผู้บังคับบัญชาอีกกรณีหนึ่ง โดยในกรณีแรกนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ก็โดยนายจ้างให้การอบรมหรือฝึกสอนแล้ว ลูกจ้างก็ยังไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของนายจ้างซึ่งเป็นกรณีความสามารถของลูกจ้างที่ไม่อาจปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของนายจ้างได้ ส่วนในกรณีหลังซึ่งเป็นกรณีที่ลูกจ้างขาดงานบ่อย ๆ หรือขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจในงานหรือได้รับการประเมินต่ำจากผู้บังคับบัญชาหลายครั้ง ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นกรณีเกี่ยวกับความประพฤติของลูกจ้างซึ่งสามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ โดยในกรณีหลังนี้นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างเคยตักเตือนเป็นหนังสือหรือเคยลงโทษลูกจ้างมาแล้ว แต่ลูกจ้างก็ไม่ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นจนเป็นที่พอใจของผู้บังคับบัญชา ดังนั้นข้อที่ว่านายจ้างจะต้องตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษมาแล้วจึงหาเป็นบทบังคับไปถึงกรณีแรกด้วยไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จากการประเมินผลงานของโจทก์หลายครั้ง ผลงานของโจทก์ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและยังไม่ได้มาตรฐานของจำเลย อันเป็นกรณีโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานได้ จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษอย่างอื่นมาก่อน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แม้จะไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษโจทก์มาก่อนจึงชอบด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างข้อ 26.3 แล้ว ทั้งเป็นกรณีที่มีเหตุผลสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้ จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

( พิทยา บุญชู - พิชิต คำแฝง - จรัส พวงมณี )
ศาลแรงงานกลาง - นายประเวศ อัศวรัตน์

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US