สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาหลายฝ่าย

สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาหลายฝ่าย
สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาหลายฝ่าย จึงตกอยู่ในบังคับบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยความสมบูรณ์ของการแสดงเจตนา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 257/2537

จำเลยซื้อที่ดินโดยหลงเชื่อตามที่โจทก์ฉ้อฉลว่าที่ดินติดถนนสาธารณะ ไม่มีที่ดินแปลงอื่นคั่นอยู่ ความจริงที่ดินมิได้อยู่ติดถนนสาธารณะ ถือว่าจำเลยแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่จะซื้อ ทำให้สัญญาซื้อขายที่ดินตกเป็นโมฆียะ

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 168, 163324,163325, 163326, 149687, 149688, 159168, 159170,159172, 52109 และ 159167 แขวงประเวศ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร ซึ่งติดต่อเป็นผืนเดียวกันแก่จำเลย โดยจำเลยเข้าใจว่าที่ดินอยู่ติดถนนอ่อนนุช หลังจากจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันแล้ว โจทก์ชี้แนวเขตที่ดินให้จำเลยถมดินและทำรั้วแต่ชี้แนวเขตไม่ติดถนนอ่อนนุช จำเลยจึงทราบว่าที่ดินพิพาทไม่ติดถนนอ่อนนุช และถือเป็นมูลเหตุฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระนครใต้ ในข้อหาฉ้อโกง ศาลฎีกาพิพากษาว่าโจทก์กระทำผิดฐานฉ้อโกงโดยได้วินิจฉัยว่า จำเลยเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทโดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินอยู่ติดถนนอ่อนนุชดังนี้โจทก์เห็นว่าเป็นการสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมสัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยกับบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์และไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 11 แปลง คืนโจทก์ จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยกับบริวารรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทพร้อมทั้งทำที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมแล้วส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ ให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 11 แปลง คืนโจทก์หากจำเลยไม่ไปให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยแทน

จำเลยให้การว่า ได้ซื้อที่ดินพิพาททั้ง 11 แปลง จากโจทก์โดยโจทก์ทำกลฉ้อฉลหลอกลวงให้จำเลยหลงเชื่อรับซื้อที่ดินพิพาทในราคาสูงกว่าที่เป็นจริงในขณะนั้น สัญญาซื้อขายที่จำเลยกระทำเพราะถูกโจทก์หลอกลวงนั้นไม่ถึงขั้นตกเป็นโมฆะคงเป็นเพียงโมฆียะเท่านั้น คู่สัญญาฝ่ายที่มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมได้แก่จำเลยฝ่ายเดียว กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้ง 11 แปลง โอนมาเป็นของจำเลยแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์คืนและไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้เหตุที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยคืนที่ดินพิพาท 11 แปลง แก่โจทก์โดยอ้างว่าเป็นการสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะสืบเนื่องมาจากจำเลยฟ้องโจทก์ฐานฉ้อโกงในการที่โจทก์หลอกลวงจำเลยว่า ที่ดินพิพาทอยู่ติดถนนอ่อนนุช ทำให้จำเลยเข้าทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์โดยสำคัญผิด คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาลงโทษโจทก์ เห็นว่า การที่จำเลยซื้อที่ดินพิพาทโดยหลงเชื่อตามที่โจทก์ฉ้อฉลว่าที่ดินพิพาทติดถนนอ่อนนุชไม่มีที่ดินแปลงอื่นคั่นอยู่ซึ่งความจริงที่ดินพิพาทมิได้อยู่ติดถนนอ่อนนุชถือว่าจำเลยแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่จะซื้อทำให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆียะซึ่งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายมีสิทธิบอกล้างได้บอกล้างนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์อันจะเป็นผลให้นิติกรรมเป็นโมฆะแต่แรกซึ่งคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมที่โจทก์อ้างว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะเพราะเป็นการสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมจึงไม่อาจรับฟังได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว"
พิพากษายืน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7670/2543

การที่โจทก์ส่งใบโปรฟอร์มาอินวอยซ์ไปถึงจำเลยที่ 1 มีรายละเอียดของสินค้าราคาและวิธีการชำระหนี้ ย่อมเป็นคำเสนอขายสินค้าเสนอต่อจำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการอาวุโสฝ่ายจัดซื้อของจำเลยที่ 1 ลงชื่อในช่องผู้ซื้อในเอกสารดังกล่าวแล้วส่งคืนให้โจทก์ย่อมเป็นการแสดงเจตนาสนองรับซื้อแทนจำเลยที่ 1 สัญญาซื้อขายเม็ดพลาสติกรายนี้จึงเกิดขึ้นมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 ยอมรับรู้ให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการซื้อสินค้าจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า การค้าขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1มุ่งเอาการที่จำเลยที่ 1 เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้โจทก์ก่อนจึงจะถือว่าการซื้อขายสำเร็จไปแต่ละรายการ แต่จำเลยที่ 1 มิได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าเสียหายทุกรายการไม่ชอบเพราะโจทก์ยังนำสืบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้ดังที่กล่าวไว้ในคำฟ้อง จำเลยที่ 1 อ้างขึ้นลอย ๆ ว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ โดยมิได้ยกเหตุผลใด ๆ มาประกอบข้ออ้างเลยว่า โจทก์นำสืบอย่างไรจึงถือว่านำสืบไม่ได้ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน25,166,971.22 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 23,451,428.02 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายรายการที่ 1 เป็นเงิน 8,721,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2539จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าเสียหายรายการที่ 2 เป็นเงิน 2,308,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กันยายน 2538จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าเสียหายรายการที่ 3 เป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของค่าสินค้า 6,771,600 บาท 8,464,500 บาท และ5,643,000 บาท นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน, 17 มิถุนายน และ 10กรกฎาคม 2538 ถึงวันที่ 22 มกราคม 2539 ตามลำดับ ค่าเสียหายรายการที่ 4 เป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าสินค้า5,643,000 บาท นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2538 ถึงวันที่ 10กันยายน 2538 ค่าเสียหายรายการที่ 6 เป็นเงิน 4,626,470.20 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มกราคม2539 จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าเสียหายรายการที่ 7 เป็นเงิน 20,000บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางคงมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นข้อแรกว่า จำเลยที่ 1ซื้อเม็ดพลาสติกจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2538นายซุง มินฮอง ผู้จัดการทั่วไปของสำนักงานตัวแทนของโจทก์ในประเทศไทยได้ส่งใบโปรฟอร์มา อินวอยซ์ ตามเอกสารหมาย จ.14 ให้จำเลยที่ 1ทางโทรสาร และจำเลยที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการอาวุโสแผนกจัดซื้อของ จำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อในเอกสารดังกล่าวในช่องผู้ซื้อ แล้วส่งเอกสารดังกล่าวไปให้นายซุง มินฮอง ในวันที่ 23 เดือนเดียวกัน ตามเอกสารหมาย จ. 15 ในเอกสารดังกล่าวมีข้อความแสดงว่าโจทก์เป็นผู้ส่งเอกสารถึงจำเลยที่ 1 แจ้งว่ามีสินค้าเม็ดพลาสติกชนิดวิสต้า5385 จำนวน 1,000 เมตริกตัน และเม็ดพลาสติกชนิดเวสต์เลค 1230 จำนวน 500 เมตริกตัน เสนอขายในราคาเมตริกตันละ 1,100ดอลลาร์สหรัฐ มีเงื่อนไขการชำระราคาโดยเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตชนิดเพิกถอนไม่ได้ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 ซึ่งตามเอกสารหมายจ.15 มีการแก้ไขเป็นภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2538 ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน2538 โจทก์ได้ส่งใบโปรฟอร์มา อินวอยซ์ ไปให้จำเลยที่ 1 อีก 6 ฉบับแยกตามจำนวนสินค้าที่ทยอยส่งให้จำเลยที่ 1 เป็นงวด ๆ ตามเอกสารหมายจ.17 ถึง จ.22 จำเลยที่ 1 ได้รับสินค้างวดที่ 1 และงวดที่ 4 และชำระราคาให้โจทก์แล้ว ส่วนสินค้างวดอื่น ๆ จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับ โจทก์ต้องนำสินค้าดังกล่าวออกขายให้แก่บุคคลอื่นในราคาต่ำกว่าที่ขายให้แก่จำเลยที่ 1ดังนี้ เห็นว่า การที่โจทก์ส่งใบโปรฟอร์มาอินวอยซ์ เอกสารหมาย จ.14ไปถึงจำเลยที่ 1 มีรายละเอียดของสินค้าราคาและวิธีการชำระหนี้ย่อมเป็นคำเสนอขายสินค้าเสนอต่อจำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการอาวุโสฝ่ายจัดซื้อของจำเลยที่ 1 ลงชื่อในช่องผู้ซื้อในเอกสารดังกล่าวแล้วส่งคืนให้โจทก์ตามเอกสารหมายจ.15 ย่อมเป็นการแสดงเจตนาสนองรับซื้อแทนจำเลยที่ 1 สัญญาซื้อขายเม็ดพลาสติกรายนี้จึงเกิดขึ้นมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 แล้วที่จำเลยที่ 1 อ้างในอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องนำใบโปรฟอร์มาอินวอยซ์เสนอต่อนายอำนวย กรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 พิจารณาก่อนว่าจะซื้อสินค้าหรือไม่ หากจะซื้อจำเลยที่ 2 จะจัดทำใบสั่งซื้อให้นายอำนวยลงชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 1 หรือทำสัญญาซื้อขายกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 อ้างและนำสืบเอาลอย ๆ เอกสารเกี่ยวกับการซื้อขายครั้งก่อน ๆ ที่เป็นไปตามข้ออ้างดังกล่าว จำเลยที่ 1ก็มิได้นำมาแสดง จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังทั้งการสั่งซื้อสินค้ามาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องให้กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 กระทำเองเสมอไป จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานชั้นผู้ใหญ่อาจกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้ ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 ลงชื่อในเอกสารหมาย จ.14 เป็นการแจ้งให้สำนักงานใหญ่ของโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้รับใบโปรฟอร์มาอินวอยซ์ แล้วนั้นไม่มีเหตุผลสนับสนุน เพราะจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานชั้นผู้ใหญ่ย่อมมีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะทราบว่าการลงชื่อรับเอกสารกับการลงชื่อสั่งซื้อสินค้าย่อมมีข้อแตกต่างกัน หากจำเลยที่ 2 จะลงชื่อรับเอกสารจริงก็ควรเขียนข้อความระบุไว้เช่นนั้น หรือลงชื่อในบริเวณอื่นที่มิใช่ช่องผู้ซื้อ การที่จำเลยที่ 2 ลงชื่อในช่องผู้ซื้อแล้วส่งเอกสารดังกล่าวคืนให้โจทก์จึงเป็นการแสดงเจตนาซื้อสินค้าตามเอกสารนั้นจากโจทก์แทนจำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนที่โจทก์จัดส่งใบโปรฟอร์มาอินวอยซ์ ตามเอกสารหมาย จ.17 ถึง จ.22 ไปให้จำเลยที่ 1 อีกครั้งเป็นเพียงการแยกสินค้าที่ตกลงซื้อขายกันเป็นส่วน ๆ ตามที่จะจัดส่งเป็นงวด ๆเท่านั้น อันเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากใบโปรฟอร์มาอินวอยซ์ เอกสารหมายจ.15 นั่นเอง และการติดต่อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 บางครั้งจำเลยที่ 2ก็ได้ลงชื่อในเอกสารต่าง ๆ ที่มีไปถึงโจทก์โดยที่จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิเสธด้วยเช่น ตามหนังสือแจ้งให้แยกทำใบเสนอราคาและการขนส่ง เอกสารหมายจ.31 หนังสือแจ้งกำหนดการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ตามเอกสารหมาย จ.33 และหนังสือขอแก้ไขข้อความในหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.35 ซึ่งเอกสารเหล่านี้ย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ต่าง ๆ เท่ากับจำเลยที่ 1ยอมรับรู้ให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการซื้อสินค้าจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์

ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า การค้าขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1มุ่งเอาการที่จำเลยที่ 1 เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้โจทก์ก่อนจึงจะถือว่าการซื้อขายสำเร็จไปแต่ละรายการนั้น จำเลยที่ 1 มิได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ซื้อเม็ดพลาสติกจากโจทก์ตามฟ้องนั้นชอบแล้ว

ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าเสียหายทุกรายการไม่ชอบเพราะโจทก์ยังนำสืบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้ดังที่กล่าวไว้ในคำฟ้องนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 1 อ้างขึ้นลอย ๆ ว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ โดยมิได้ยกเหตุผลใด ๆมาประกอบข้ออ้างเลยว่า โจทก์นำสืบอย่างไรจึงถือว่านำสืบไม่ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 361 อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ
ถ้าตามเจตนาอันผู้เสนอได้แสดงหรือตามปกติประเพณีไม่จำเป็นจะต้องมีคำบอกกล่าวสนองไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเกิดเป็นสัญญาขึ้นในเวลาเมื่อมีการอันใดอันหนึ่งขึ้นอันจะพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับ

มาตรา 797 อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดั่งนั้น

อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัด หรือโดย ปริยายก็ย่อมได้

มาตรา 821 บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทน ของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็น ตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 225 ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็น ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระ แก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใด ไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะ พฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความ ที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2546

เดิมจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทที่จดทะเบียนจำนองแก่ธนาคาร ก. และจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์จำนวนหนึ่ง ต่อมาธนาคาร ก. ทวงให้จำเลยชำระหนี้จำนอง จำเลยจึงตกลงทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ แล้วโจทก์นำไปจำนองธนาคาร ท. โดยมีข้อตกลงให้จำเลยผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์เมื่อชำระครบถ้วนแล้วโจทก์จะโอนที่ดินและบ้านพิพาทคืนจำเลย ดังนั้น สัญญาขายบ้านและที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทำขึ้นโดยมีเจตนาที่แท้จริง แต่มีเงื่อนไขในการโอนกลับคืนอันถือเป็นข้อตกลงที่บังคับได้ การซื้อขายบ้านและที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่การแสดงเจตนาลวง แต่เมื่อจำเลยไม่ได้ผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์ และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ประสงค์ให้จำเลยและบริวารอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทอีกต่อไป โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทได้

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2539 โจทก์ทำสัญญาซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 11048 ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยในราคา 850,000 บาท แต่จำเลยและบริวารยังคงพักอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทต่อมาโจทก์ต้องการใช้สอยทำประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาท จึงได้แจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป แต่จำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากหากโจทก์นำบ้านและที่ดินพิพาทไปให้บุคคลอื่นเช่า จะได้ค่าเช่าในอัตราเดือนละ 3,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 166 ถนนพหลโยธิน ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา และออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 11048 ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านและที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 40,000 บาท ต่อมาโจทก์ได้บอกให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ เพื่อให้โจทก์นำไปกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา โดยจำเลยเป็นผู้ผ่อนชำระเงินคืนแก่ธนาคารดังกล่าว หากจำเลยชำระเงินครบถ้วน โจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์คืนแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมานั้นสูงกว่าความเป็นจริง ค่าเช่าบ้านและที่ดินดังกล่าวหากจะนำไปให้บุคคลอื่นเช่า คงได้ค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากบ้านเลขที่ 166 และที่ดินโฉนดเลขที่ 11048 ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยาให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5กุมภาพันธ์ 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านและที่ดินดังกล่าว

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติว่าเดิมจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทที่จดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา และจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมจากโจทก์จำนวนหนึ่ง ต่อมาธนาคารดังกล่าวทวงให้จำเลยชำระหนี้จำนอง จำเลยจึงตกลงทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ แล้วโจทก์นำไปจำนองแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา เป็นเงิน 800,000 บาท คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวงของโจทก์กับจำเลยหรือไม่ ฝ่ายจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน มีตัวจำเลยและภริยาจำเลยมาเบิกความว่าเหตุที่ต้องทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ เพราะโจทก์แนะนำเนื่องจากจำเลยถูกธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา ทวงให้ชำระหนี้จำนองและเพื่อให้โจทก์นำไปเป็นหลักประกันการกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยาโดยมีข้อตกลงว่าจำเลยจะผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์ เมื่อผ่อนครบแล้วโจทก์ก็จะโอนที่ดินและบ้านพิพาทคืนแก่จำเลย หลังจากนั้นจำเลยผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์ได้เพียง 9 งวดตามใบรับชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยเอกสารหมาย ล.6 ถึง ล.13 ซึ่งเป็นหลักฐานเพียงบางส่วน แล้วไม่สามารถผ่อนชำระต่อได้อีก ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์เพียงปากเดียวมาเบิกความว่า รู้จักจำเลยและภริยาจำเลยมานานประมาณ 10 ปี จำเลยและภริยาจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์เป็นประจำ เมื่อถึงต้นปี 2539 จำเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์รวม 800,000 บาทเมื่อโจทก์ไปทวงหนี้จากจำเลย จำเลยอ้างว่าไม่มีเงินชำระ เนื่องจากจำเลยยังเป็นหนี้จำนองแก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา และธนาคารกำลังจะยึดที่ดินและบ้านพิพาทวันที่ 11 กันยายน 2539 จำเลยจึงตกลงทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ในราคา 1,800,000 บาท เมื่อหักชำระหนี้ที่จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 800,000 บาท แล้วโจทก์จ่ายเงินให้จำเลยอีกจำนวน 1,000,000 บาท โดยโจทก์นำที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา ได้ในวงเงิน 800,000 บาท กับเงินส่วนตัวอีก 200,000 บาท เหตุที่ใบรับชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยอยู่กับจำเลยเพราะจำเลยยืมไปโดยอ้างว่าเพื่อใช้ประกอบการขอกู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา เพื่อซื้อที่ดินและบ้านพิพาทคืนจากโจทก์ เห็นว่า โจทก์ประกอบอาชีพให้กู้ยืมเงินซึ่งย่อมมุ่งต่อผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ย โจทก์จำเลยทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2539แต่เพิ่งให้ทนายความทำหนังสือขับไล่จำเลยลงวันที่ 6 ตุลาคม 2540 ระยะเวลาห่างกันเกือบปี หากโจทก์ไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากจำเลยที่ยังคงอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทเรื่อยมาดูจะขัดต่ออาชีพให้กู้ยืมเงินของโจทก์ ยิ่งเมื่อพิจารณาจากที่โจทก์เป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา แต่ใบรับชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยกลับอยู่ที่จำเลย ยิ่งทำให้ข้อนำสืบของจำเลยที่อ้างว่ามีข้อตกลงให้จำเลยผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์ เมื่อชำระครบถ้วนแล้วโจทก์ จะโอนที่ดินและบ้านพิพาทคืนจำเลยมีน้ำหนักในการรับฟัง ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าจำเลยยืมใบรับชำระหนี้ดังกล่าวเพื่อนำไปใช้ประกอบการกู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา ไม่มีเหตุผลเพราะไม่มีความจำเป็นที่จำต้องกระทำเช่นนั้น กรณีจึงน่าเชื่อตามข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าว อย่างไรก็ดี การที่โจทก์นำที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองแก่ธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ โจทก์ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่ธนาคารจนครบถ้วนตามสัญญา ส่วนจำเลยหาต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อธนาคารตามกฎหมายไม่ ดังนี้ย่อมแสดงว่าจำเลยมีเจตนาขายที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์จริง แต่มีข้อตกลงให้จำเลยผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารแทนโจทก์จนครบถ้วนแล้วโจทก์จะโอนที่ดินและบ้านพิพาทคืนจำเลย ดังนั้น สัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทำขึ้นโดยมีเจตนาที่แท้จริง แต่มีเงื่อนไขในการโอนกลับคืน อันถือเป็นข้อตกลงที่บังคับได้การซื้อขายบ้านและที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการแสดงเจตนาลวง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยไม่ได้ผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์ และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ประสงค์ให้จำเลยและบริวารอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทอีกต่อไป โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 155 การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะแต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรม อื่นให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพราง มาใช้บังคับ

มาตรา 369 ในสัญญาต่างตอบแทนนั้นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้ หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด

มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย

มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 55 เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของ บุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

ข้อควรคำนึง*** เมื่อผู้ซื้อไม่มีเจตนาเข้าทำสัญญาซื้อขายมาแต่เริ่มแรก และผู้ขายรู้ถึงเจตนาอันซ่อนเร้นนั้นในเวลาที่ส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ กรณีเช่นนี้ ปัญหาว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายได้โดนไปยังผู้ซื้อแล้วหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4717/2541

ส.หลอกลวงให้โจทก์เข้าใจว่าส. เป็นตัวแทนของฝ่ายจำเลยมาสั่งซื้อเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่องจากโจทก์ให้นำไปติดตั้งที่บ้านจำเลย ในขณะเดียวกันส.ก็ทำให้จำเลยเข้าใจว่าส. เป็นเจ้าของเครื่องปรับอากาศดังกล่าวและนำพนักงานมาติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่บ้านจำเลยตามที่ได้เสนอขายให้จำเลยไว้กรณีจึงเป็นเรื่องที่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างก็ถูก ส.หลอกลวง การกระทำทั้งหลายของ ส. ที่มีต่อโจทก์ย่อมไม่เกิดเป็นสัญญาผูกพันโจทก์ แม้การกระทำของ ส.ดังกล่าวที่มีต่อโจทก์จะเข้าลักษณะซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งก็ไม่ทำให้ ส.ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในเครื่องปรับอากาศของโจทก์ อันเกิดจากการกระทำเพื่อหลอกลวงใช้โจทก์เป็นเครื่องมือดังกล่าว ส. จึงไม่มีสิทธิขายเครื่องปรับอากาศของโจทก์ให้แก่จำเลยในขณะที่เครื่องปรับอากาศทั้งสองเครื่องดังกล่าวยังอยู่ในความครอบครองของพนักงานโจทก์ซึ่งถือได้ว่ายังอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จำเลยจะอ้างเอาการซื้อเครื่องปรับอากาศ ดังกล่าวจาก ส. ขึ้นยันต่อโจทก์มิได้ เมื่อโจทก์ขอถอดเอาเครื่องปรับอากาศคืนไปแต่จำเลยกลับปฏิเสธและยึดเอาเครื่องปรับอากาศของโจทก์ไว้เป็นของตน ดังนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระราคาเครื่องปรับอากาศแก่โจทก์

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2537 จำเลยสั่งซื้อเครื่องปรับอากาศยี่ห้อมิตซูบิชิ จำนวน 2 เครื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นแบบติดผนังพร้อมการติดตั้ง ขนาด 13,000 บีทียูราคา 37,900 บาท และขนาด 17,000 บีทียู ราคา 43,500 บาทรวมเป็นเงิน 80,400 บาท วันรุ่งขึ้นโจทก์ได้นำเครื่องปรับอากาศทั้งสองเครื่องดังกล่าวของโจทก์ไปติดตั้งที่บ้านจำเลย โจทก์เรียกเก็บเงิน 80,400 บาท จากจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมชำระโจทก์จะขอถอดเครื่องปรับอากาศกลับคืน จำเลยไม่ยินยอม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 80,400 บาท นับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2537 จนถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 3,735.25 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน84,135.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน80,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้สั่งซื้อเครื่องปรับอากาศตามฟ้องจากโจทก์ แต่สั่งซื้อจากนายชัยหรือวันชัย และชำระราคาไปแล้วจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระค่าเครื่องปรับอากาศแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 80,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 3,735.25 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2537 นายสมชายหรือวันชัยหรือชัย เพิ่มพูลไปที่ห้างโจทก์สั่งซื้อเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่อง ราคารวม 81,400 บาท โดยวางเงินมัดจำ 1,000 บาท คงเหลือราคาที่ต้องชำระอีก80,400 บาท ตามที่ระบุไว้ในใบสั่งซื้อเอกสารหมาย จ.2ในวันเดียวกันนั้นนายสมชายได้โทรศัพท์ไปเสนอขายเครื่องปรับอากาศทั้งสองเครื่องดังกล่าวแก่จำเลยในราคา 40,000 บาท จำเลยตกลงซื้อวันรุ่งขึ้นนายสมชาย ได้มานำเครื่องปรับอากาศทั้งสองเครื่องพร้อมด้วยพนักงานติดตั้งของโจทก์ไปที่บ้านจำเลยในระหว่างที่พนักงานโจทก์กำลังติดตั้งเครื่องปรับอากาศในบ้านจำเลยนั้นนายสมชายได้ขอรับเงินค่าเครื่องปรับอากาศจำนวน40,000 บาท ไปจากจำเลยเมื่อพนักงานโจทก์ติดตั้งเครื่องปรับอากาศเสร็จขอรับชำระราคาส่วนที่เหลือจากจำเลย จำเลยปฏิเสธและไม่ยอมคืนเครื่องปรับอากาศแก่โจทก์

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระราคาเครื่องปรับอากาศตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่นายสมชายสั่งซื้อเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่อง จากโจทก์ในราคา 81,400 บาทในวันเดียวกันก็ได้บอกขายให้จำเลยในราคาเพียง 40,000 บาทและขณะที่พนักงานโจทก์กำลังติดตั้งเครื่องปรับอากาศอยู่ในบ้านจำเลยนายสมชายอาศัยเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในใบสั่งซื้อว่าผู้สั่งซื้อจะชำระราคาส่วนที่เหลือ 80,400 บาท แก่โจทก์ต่อเมื่อติดตั้งเครื่องปรับอากาศเสร็จ โดยขอรับเงินค่าเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่องจำนวน 40,000 บาท จากจำเลยก่อนที่พนักงานโจทก์จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศเสร็จแล้วหลบหนีไป อันเป็นพฤติการณ์เห็นได้ชัดว่านายสมชายกระทำการโดยทุจริตมาแต่ต้นโดยหลอกลวงโจทก์ให้มาเป็นเครื่องมือตามแผนเพื่อหลอกเอาเงินจากจำเลยอีกต่อหนึ่งการกระทำของนายสมชายเป็นแผนลวงให้โจทก์เข้าใจว่านายสมชายเป็นตัวแทนของฝ่ายจำเลยมาสั่งซื้อเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่องจากโจทก์ให้นำไปติดตั้งที่บ้านจำเลย ในขณะเดียวกันก็ทำให้จำเลยเข้าใจว่านายสมชายเป็นเจ้าของเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่องดังกล่าวนำพนักงานมาติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่บ้านจำเลยตามที่ได้เสนอขายให้จำเลยไว้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างก็ถูกนายสมชายหลอกลวง ดังนั้น การกระทำทั้งหลายของนายสมชายที่มีต่อโจทก์ย่อมไม่เกิดเป็นสัญญาผูกพันโจทก์ แม้การกระทำของนายสมชายดังกล่าวที่มีต่อโจทก์จะเข้าลักษณะซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งก็ไม่ทำให้นายสมชายได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่อง ของโจทก์อันเกิดจากการกระทำเพื่อหลอกลวงใช้โจทก์เป็นเครื่องมือดังกล่าว เพราะนายสมชายไม่มีเจตนาจะผูกพันตนเพื่อปฏิบัติตามสัญญาอันมีแก่โจทก์ตั้งแต่แรกนายสมชายจึงไม่มีสิทธิขายเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่อง ของโจทก์ให้แก่จำเลยในขณะที่เครื่องปรับอากาศทั้งสองเครื่องดังกล่าวยังอยู่ในความครอบครองของพนักงานโจทก์ ซึ่งถือได้ว่ายังอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จำเลยจะอ้างเอาการซื้อเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่อง ดังกล่าวจากนายสมชายขึ้นยันต่อโจทก์มิได้ เพราะโจทก์มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของนายสมชายเป็นเรื่องที่จำเลยถูกนายสมชายหลอกเอาเงินไปต่างหากไม่เกี่ยวกับโจทก์ เมื่อโจทก์และจำเลยต่อทราบถึงการกระทำของนายสมชายที่มีความมุ่งหมายเพื่อหลอกลวงเอาเงินจากจำเลยโดยหลอกใช้โจทก์เป็นเครื่องมือดังกล่าวแล้วโจทก์จะขอถอดเอาเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่อง คืนไปโดยมิได้ตำหนิหรือเอาผิดแก่จำเลยทั้งที่โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยกลับปฏิเสธและยึดเอาเครื่องปรับอากาศของโจทก์ไว้เป็นของตน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระราคาเครื่องปรับอากาศตามฟ้อง

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ตามฎีกานี้การแสดงเจตนาของ ส. ผู้ซื้อในการซื้อซึ่งในใจจริงมิได้มีเจตนาผูกพันตามที่ได้แสดงเจตนาซื้อเครื่องปรับอากาศจากโจทก์ผู้ขายนั้น โจทก์ผู้ขายเพิ่งมาทราบในเวลาที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศยังไม่ทันเสร็จ และหน้าที่ที่จะต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศถือว่าเป็นการชำระหนี้ของโจทก์ตามมาตรา 461 มาตรา 461 ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อ และ มาตรา 462 การส่งมอบนั้นจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้สุดแต่ว่าเป็นผลให้ทรัพย์สินนั้นไปอยู่ในเงื้อมมือของผู้ซื้อ อันเป็นการแสดงเจตนาอย่างหนึ่ง และโจทก์ได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้ซื้อในขณะนั้น การซื้อขายย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่มีการเคลื่อนไหวในสิทธิและหน้าที่แต่อย่างใด กรรมสิทธิ์ในเครื่องปรับอากาศจึงไม่โอนไปหเป็นของ ส. ย่อมไม่มีสิทธิขายเครืองปรับอากาศของโจทก์ให้แก่จำเลย

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US