เบิกความอันเป็นเท็จ

เบิกความอันเป็นเท็จในคดีแพ่ง ฎีกาที่2374/2536
การเบิกความอันเป็นเท็จ ในเรื่องนี้จำเลยได้ร่วมกันเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งของศาลชั้นต้นว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปโดยตรง โจทก์จึงเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลยโดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์ต้องเป็นคู่ความในคดีที่จำเลยเบิกความเท็จนั้นหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2374/2536

จำเลยที่ 5 ได้จ้างวานให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4เบิกความอันเป็นเท็จ และจำเลยดังกล่าวได้เบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งของศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปโดยตรง โจทก์จึงเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 5 และคำเบิกความเท็จของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 โจทก์ย่อมเป็น ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) และมีอำนาจฟ้องจำเลยดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2) โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์ต้องเป็นคู่ความในคดีที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เบิกความเท็จนั้นหรือไม่ ฟ้องโจทก์บรรยายถึงคดีที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เบิกความอันเป็นเท็จ ทำให้ศาลเชื่อว่าจำเลยที่ 1ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์จริงจึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวและการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เกิดจากจำเลยที่ 5 เป็นผู้จ้างวานหรือใช้ให้ยื่นคำร้องและเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาล ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5)
________________________________

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 17543 ร่วมกับจำเลย เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2530 จำเลยที่ 1 ได้นำข้อความอันเป็นเท็จยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอแสดงกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 17543 โดยการครอบครองปรปักษ์ซึ่งเป็นความเท็จต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันเบิกความอันเป็นความเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล นำสืบและแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อการพิจารณาคดีในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1168/2530 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยที่ 1 ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวทำให้ศาลเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองจึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าวเกิดจากจำเลยที่ 5 เป็นผู้จ้างวานหรือใช้ให้ยื่นคำร้องและเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาล จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 161/2532 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 180, 83, 84, 91 ขอให้นับโทษติดต่อกันด้วย

โจทก์ทั้งสองขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ทั้งสองขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 83 ลงโทษจำคุกคนละ 4 ปีจำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 84ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี กับให้นับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 161/2532 ของศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับโทษจำเลยที่ 1และที่ 2 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 579/2533 ของศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 5 ได้จ้างวานให้จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 เบิกความอันเป็นเท็จ และจำเลยดังกล่าวได้เบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1059/2530 ของศาลชั้นต้นนั้น เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองต้องเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 17543 ไปโดยตรง โจทก์ทั้งสองจึงเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 5 และคำเบิกความเท็จของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 โจทก์ทั้งสองย่อมเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4) และมีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2) โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์ทั้งสองต้องเป็นคู่ความในคดีที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เบิกความเท็จเท่านั้นจึงจะเป็นผู้เสียหายได้

ส่วนปัญหาว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) หรือไม่ เห็นว่าตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงคดีที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 เบิกความอันเป็นเท็จว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่โจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองปรปักษ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจนได้กรรมสิทธิ์แล้วทั้งฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงข้อความที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมาเป็นเวลา 30 ปี บิดาของจำเลยที่ 1 ไปขอออกโฉนดที่ดินแล้วขายให้กับจำเลยที่ 5 ต่อมาจำเลยที่ 5 ลงชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม จำเลยที่ 1 ได้คัดค้านและทำนาติดต่อกันมาทุกปี จึงได้ที่ดินมาโดยการครอบครองปรปักษ์และจำเลยที่ 2 และที่ 4 เบิกความเป็นพยานว่าเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงเห็นจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 กว่าปี ข้อความที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เบิกความดังกล่าวนั้นเป็นความเท็จ โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสองจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองแต่อย่างใดซึ่งข้อความเท็จที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เบิกความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ทำให้ศาลเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์จริง จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวและการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เกิดจากจำเลยที่ 5 เป็นผู้จ้างวานหรือใช้ให้ยื่นคำร้องและเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาล คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

พิพากษายืน

( บุญส่ง วรรณกลาง - สะสม สิริเจริญสุข - ประพัฒน์ อุชุภาพ )

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US