เจ้าของรวมจำหน่ายส่วนของตน | ความยินยอมจากภริยา

เจ้าของรวม - จำหน่ายส่วนของตน - ความยินยอมจากภริยา
ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายกับผู้ตาย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกัน ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนของตนให้บุตรและกำหนดให้บุตรเป็นผู้จัดการมรดก การที่ผู้ตายยกที่ดินส่วนของตนให้บุตรโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยานั้นศาลฎีกาเห็นว่าการทำพินัยกรรมเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินที่จะมีผลเมื่อตายและเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ทำพินัยกรรมซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 บัญญัติว่า "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้" และ มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติว่า"เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายทรัพย์สินส่วนของตนหรือ... ก็ได้" ผู้ตายย่อมมีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนของผู้ตายให้แก่บุตรได้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากภริยา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3921/2546

ผู้ตายกับผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน ผู้ตายย่อมมีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้านได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361และมาตรา 1646 โดยไม่จำต้องรับความยินยอมจากผู้ร้อง

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นภริยานายรวย เล็กกุล ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 8 คนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2542 ผู้ตายถึงแก่ความตาย มีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 8372โดยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ร้อง ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรม และไม่ได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก จึงมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ผู้ร้องมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามกฎหมายขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายกับผู้ร้อง ก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้านและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องขอและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางสำราญ ไกรกิจราษฎร์ ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายรวย เล็กกุล ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติเบื้องต้นว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ร้องกับผู้ตาย ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมีมรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 8372 ตำบลท่าตาล อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก โดยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ร้อง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินเฉพาะส่วนของผู้ตายดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่... ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินเฉพาะส่วนของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้านและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์ดังกล่าว ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้คัดค้านเบิกความว่า ผู้ตายลงชื่อในพินัยกรรมไม่ได้เพราะไม่ได้นำแว่นตาไป นางสาวส้มลิ้มเบิกความว่า ผู้ตายสายตาไม่ดีมือสั่นลงชื่อไม่ได้ จึงขอพิมพ์หัวแม่มือในพินัยกรรม นางผ่องพรรณเบิกความว่า ผู้ตายอ่านหนังสือออกและเขียนได้ แต่วันทำพินัยกรรมลงชื่อไม่ได้ไม่ทราบเพราะเหตุใด และนางปรานอมเบิกความว่า ผู้ตายลงลายพิมพ์นิ้วมือในคำร้องขอทำพินัยกรรม แต่ไม่มีบันทึกในพินัยกรรมว่าเหตุใดผู้ตายจึงลงลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรมซึ่งแตกต่างกันจึงน่าเชื่อว่าผู้ตายไม่ได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือโดยสมัครใจ เห็นว่า ผู้คัดค้านกับนางสาวส้มลิ้มเบิกความแตกต่างกันในพลความ ส่วนนางผ่องพรรณและนางปรานอมไม่ทราบว่าเหตุใดผู้ตายไม่ลงชื่อในพินัยกรรมและไม่มีบันทึกในพินัยกรรมว่าเหตุใดผู้ตายจึงลงลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรม คำเบิกความจึงไม่แตกต่างกับผู้คัดค้านและนางส้มลิ้ม ดังนั้นจึงไม่ทำให้พยานหลักฐานผู้คัดค้านมีน้ำหนักลดน้อยลง ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนของตนซึ่งมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ร้องให้แก่ผู้คัดค้านโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงไร้ผลนั้น แม้ปัญหานี้ไม่ได้ว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็ตามแต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ซึ่งปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่า การทำพินัยกรรมเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินที่จะมีผลเมื่อตายและเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ทำพินัยกรรมซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 บัญญัติว่า "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้"นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติว่า"เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายทรัพย์สินส่วนของตนหรือ... ก็ได้" แม้ผู้ตายและผู้ร้องจะมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 8372 ก็ตาม ผู้ตายย่อมมีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้านได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว โดยไม่จำต้องรับความยินยอมจากผู้ร้อง ดังนี้ ข้อกำหนดแห่งพินัยกรรมในส่วนนี้จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
( สำรวจ อุดมทวี - วิชัย วิวิตเสวี - เกรียงชัย จึงจตุรพิธ )

มาตรา 1361 เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือ จำนอง หรือก่อให้เกิดภารติดพันก็ได้
แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภารติดพันได้ ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน
ถ้าเจ้าของรวมคนใดจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภารติดพัน ทรัพย์สินโดยมิได้รับความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน แต่ภายหลังเจ้าของ รวมคนนั้นได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินแต่ผู้เดียวไซร้ ท่านว่านิติกรรมนั้นเป็นอัน สมบูรณ์

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US