ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้ามีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มีอายุความ 1 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้อง นับแต่วันกระทำความผิดถึงวันฟ้องเกินกว่าหนึ่งปี จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป แม้ความผิดฐานดังกล่าว จะยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาได้เพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261/2552
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตาม ป.อ. มาตรา 393 ขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 แม้ความผิดฐานดังกล่าวจะยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มรตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาได้เพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2541 เวลากลางวันจำเลยที่ 1 ฝ่ายหนึ่ง และจำเลยที่ 2 ที่ 3 อีกฝ่ายหนึ่ง ต่างทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน โดยจำเลยที่ 1 ฉุดกระชากมือและแขนของจำเลยที่ 3 จนเสียหลัก แล้วใช้มือตบและข่วนที่บริเวณใบหน้าของจำเลยที่ 3 หลายครั้ง และใช้ปากกัดที่นิ้วกลางของมือข้างซ้ายของจำเลยที่ 3 ทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนฉีกขาดมีอาการบาดเจ็บที่ใบหน้ามือและตามร่างกายหลายแห่ง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัสต้องทุพพลภาพป่วยเจ็บอาการทุกขเวทนา และจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้มือชกและข่วนที่บริเวณใบหน้าของจำเลยที่ 1 หลายครั้ง ฉุดกระชากร่างกายของจำเลยที่ 1 บีบและบิดข้อมือของจำเลยที่ 1 และใช้ปากกัดที่นิ้วหัวแม่มือข้างซ้ายของจำเลยที่ 1 ทำให้ฟันหน้าของจำเลยที่ 1 หัก ทะลุโพรงประสาทและมีอาการบาดเจ็บที่ใบหน้า ข้อมือนิ้วมือ และตามร่างกายหลายแห่ง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส ต้องทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา และจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน จำเลยที่ 1 ดูหมิ่นจำเลยที่ 3 ซึ่งหน้าโดยด่าจำเลยที่ 3 ว่า "อีเหี้ย อีสัตว์" และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันดูหมิ่นจำเลยที่ 1 ซึ่งหน้าโดยร่วมกันด่าจำเลยที่ 1 ว่า "อีดอก กะหรี่พัฒพงษ์ ไอ้สัตว์" ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 297, 393
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 393 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย จำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 30,000 บาท ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ปรับคนละ 1,000 บาท รวมจำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นสามีภริยากัน และมีบ้านอยู่ติดกับบ้านของจำเลยที่ 1 ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้พบกับจำเลยที่ 1 บนถนนในซอยบริเวณหน้าบ้าน แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 3 ได้ด่าทอดูหมิ่นจำเลยที่ 1 ด้วยถ้อยคำหยาบคายแล้วทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 จนจำเลยที่ 1 ได้รับบาดเจ็บตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลกับใบความเห็นแพทย์เอกสารหมาย จ.3, จ.9 และ จ.11 ถึง จ.16 คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ถึงที่สุดไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าและฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายอนุชิต เป็นพยานเบิกความว่าขณะที่พยานยืนรอจำเลยที่ 3 อยู่ที่หน้าบ้าน จำเลยที่ 3 เดินออกจากบ้านพบกองขยะวางอยู่หน้าบ้านจึงถามพยานว่าเป็นของใคร พยานบอกว่าเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 บอกว่าหากมีเวลาว่างก็นำกองวัสดุดังกล่าวใส่ถังขยะ ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถไปจอดท้ายรถยนต์ของจำเลยที่ 3 แล้วลงจากรถเดินอ้อมไปทางท้ายรถยนต์ขณะเดียวกับจำเลยที่ 3 เดินสวนกับจำเลยที่ 1 เพื่อจะขึ้นรถ จำเลยที่ 3 พูดกับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับกองวัสดุ มีการด่าว่าและโต้เถียงกัน จากนั้นจำเลยที่ 3 หันหลังเพื่อจะขึ้นรถ จำเลยที่ 1 ใช้มือซ้ายกระชากตัวจำเลยที่ 3 หันกลับมาแล้วใช้มือขวาตบที่แก้มซ้ายของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ใช้มือปัดป้อง จำเลยที่ 2 วิ่งออกจากบ้านกระโดดเข้าไปแทรกระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 แล้วใช้มือโอบเอวจำเลยที่ 3 หันหลังให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ใช้มือทุบหลังจำเลยที่ 2 แล้ววิ่งไปขึ้นรถหลบหนีไป พยานเห็นจำเลยที่ 3 ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลที่แก้มซ้ายและนิ้งกลางซ้ายมีรอยลักษณะถูกกัด เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันได้ความจากคำเบิกความของนายอนุชิตว่า รถยนต์ของจำเลยที่ 3 จอดตรงข้ามบ้านจำเลยที่ 3 ห่างประมาณ 5 เมตร ขณะที่นายอนุชิตยืนอยู่ที่ประตูบ้านได้ยินเสียงจำเลยที่ 1 และที่ 3 โต้เถียงกัน จึงหันไปดู ดังนั้น ขณะเกิดเหตุนายอนุชิตจึงอยู่ห่างจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ประมาณ 5 เมตร นายอนุชิตย่อมเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจนแม้นายอนุชิตเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 แต่นายอนุชิตก็ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน ทั้งตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ เอกสารหมาย จ.4 ระบุว่าแพทย์รับตัวจำเลยที่ 3 ไว้เมื่อเวลา 12.37 นาฬิกา หลังเกิดเหตุประมาณ 2 ชั่วโมง โดยจำเลยที่ 3 มีบาดแผลถลอกเป็นรอยขีดยาวที่แก้มซ้าย และบาดแผลฉีกที่นิ้วกลางมือซ้าย สนับสนุนให้คำเบิกความของนายอนุชิตมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น เชื่อได้ว่า นายอนุชิตไม่ได้เบิกความช่วยเหลือจำเลยที่ 3 หรือเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 คำเบิกความของนายอนุชิตจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำเบิกความของนายวิชาญ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ก่อเหตุและทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า นายวิชาญเบิกความว่า ขณะพยานทาสีประตูบ้านของจำเลยที่ 1 อยู่นั้นเห็นจำเลยที่ 3 กับชายอีกคนหนึ่งเดินเข้าไปหาจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ด่าว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 พูดว่ารอก่อนไปทำธุระเดี๋ยวมา แล้วเดินไปที่รถยนต์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจอดอยู่หน้าบ้านจำเลยที่ 3 กับชายอีกคนหนึ่งได้เดินตามไป พยานหันกลับไปทาสีประตูต่อจนกระทั่งได้ยินเสียงจำเลยที่ 1 ร้อง จึงหันไปดู เห็นจำเลยที่ 1 และที่ 3 กำลังฉุดกระชากกันอยู่ จากนั้นไม่ถึงหนึ่งนาทีจำเลยที่ 1 ก็สะบัดตัวออกและขึ้นรถขับออกไป ดังนี้ การที่ขณะเกิดเหตุนายวิชาญอยู่ห่างจากจำเลยที่ 3 และชายคนหนึ่งประมาณ 5 ถึง 6 เมตร แต่นายวิชาญกลับเห็นเพียงการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยไม่เห็นการกระทำของชายที่อยู่กับจำเลยที่ 3 ย่อมเป็นการผิดปกติวิสัยที่นายวิชาญซึ่งพบเห็นการทะเลาะโต้เถียงกันแต่กลับไม่สนใจดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไป อีกทั้งตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.17 นายวิชาญก็ให้การว่า ขณะเกิดเหตุพยานสังเกตเห็นไม่ถนัดเนื่องจากมีรถยนต์ของจำเลยที่ 3 บังอยู่ แม้นายวิชาญจะเบิกความว่าขณะเกิดเหตุมีชายคนหนึ่งอยู่กับจำเลยที่ 3 ด้วย แต่นายวิชาญก็มิได้เบิกความยืนยันว่าเป็นจำเลยที่ 2 อีกทั้งไม่ปรากฏจากคำเบิกความของนายวิชาญว่าชายคนดังกล่าวทำร้ายจำเลยที่ 1 อย่างไร กรณีจึงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด่าว่าโต้เถียงกันแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฉุดกระชากกันเท่านั้น เมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายวิชาญดังกล่าวประกอบคำเบิกความของนายอนุชิตฟังได้ว่า เหตุวิวาทเกิดเนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด่าว่าโต้เถียงกันเรื่องต้นไม้และขยะ แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่างทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน มิใช่ว่าเหตุเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 3 แต่ฝ่ายเดียวไม่ ลำพังที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้หญิงและอายุมากกว่า ก็ไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ร่วมก่อเหตุไม่ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า บาดแผลที่แก้มซ้ายและที่นิ้วกลางของจำเลยที่ 3 มิได้เกิดจากจำเลยที่ 1 ข่วนและกัด บาดแผลตามภาพถ่ายมีลักษณะเป็นการตกแต่งบาดแผลขึ้นเองนั้น เห็นว่า โจทก์มีแพทย์หญิงพิไลวรรณ แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลของจำเลยที่ 3 เบิกความว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 มารับการตรวจรักษาโดยมีบาดแผลที่นิ้วกลางมือซ้ายและมีบาดแผลเป็นรอยขีดที่แก้มซ้ายตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.4 และเบิกความตอบคำถามค้านยืนยันว่า บาดแผนที่แก้มและนิ้วกลางของจำเลยที่ 3 ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.2 ซึ่งเหมือนกับภาพถ่ายหมาย จ.18 อีกทั้งโจทก์ยังมีร้อยตำรวจโทชัยยา พนักงานสอบสวน เบิกความตอบคำถามค้านว่าจำเลยที่ 3 ได้แสดงบาดแผลที่นิ้วมือให้พยานดูด้วย กรณีจึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 จะตกแต่งบาดแผลตามภาพถ่ายขึ้นเอง ส่วนปัญหาว่าบาดแผลดังกล่าวเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น เห็นว่า นายอนุชิตซึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า เห็นจำเลยที่ 1 ใช้มือขวาตบที่แก้มซ้ายของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 2 เห็นเหตุการณ์ได้เข้ามาแทรกกลางระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 และใช้มือโอบเอวของจำเลยที่ 3 หันหลังให้จำเลยที่ 1 แล้วเบิกความตอบคำถามค้านว่า ขณะนั้นมือของจำเลยที่ 3 พาดอยู่บนไหล่ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ใช้ปากกัดนิ้วของจำเลยที่ 3 และพยานได้ยินเสียงจำเลยที่ 3 ร้อง แม้แพทย์หญิงพิไลวรรณเบิกความตอบคำถามค้านว่า ลักษณะบาดแผลที่นิ้วกลางของจำเลยที่ 3 คล้ายถูกของมีคมบาดก็ตาม แต่พยานดังกล่าว เบิกความว่า จากการสอบถามจำเลยที่ 3 ทราบว่าบาดแผลเกิดจากการทำร้ายกัน และมิได้เบิกความอธิบายว่าบาดแผลดังกล่าวมีลักษณะต่างจากบาดแผลที่เกิดจากการถูกกัดอย่างไร แม้ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.4 จะระบุลักษณะบาดแผลแตกต่างจากใบรับรองแพทย์เอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 บ้าง ก็เป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียด ประกอบกับพยานเอกสารดังกล่าวก็ล้วนระบุเป็นอย่างเดียวกันว่าจำเลยที่ 3 มีบาดแผลที่นิ้วกลางมือซ้าย จึงมิได้เป็นพิรุธถึงกับทำให้ฟังว่าไม่ใช่บาดแผลที่เกิดจากการถูกกัดดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ดังนี้พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2541 ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดดังกล่าวจึงมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2543 นับแต่วันกระทำความผิดถึงวันฟ้องเกินกว่าหนึ่งปี คดีสำหรับความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 แม้ความผิดฐานดังกล่าว จะยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาได้เพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในข้อหาดูหมิ่นซึ่งหน้า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
( พรเพชร วิชิตชลชัย - ชัยรัตน์ เบ็ญจะมโน - อมรรัตน์ ดีศรีวงศ์ )
ป.วิ.อ. มาตรา 39, 185 ,195,213
มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้
(1) โดยความตายของผู้กระทำผิด
(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
(3) เมื่อคดีเลิกกันตาม มาตรา 37
(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
(5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิด เช่นนั้น
(6) เมื่อคดีขาดอายุความ
(7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ
มาตรา 185 ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำ ของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุ ตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยไป แต่ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่าง คดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้
เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิด และไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมายให้ศาลลงโทษแก่จำเลยตามความผิด แต่เมื่อเห็นสมควร ศาลจะปล่อยจำเลยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้
**มาตรา 195 ข้อกฎหมายทั้งปวงอันคู่ความอุทธรณ์ร้องอ้างอิงให้ แสดงไว้โดยชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์ แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นมาว่า กันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์ เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นก็ตาม
มาตรา 213 ในคดีซึ่งจำเลยผู้หนึ่งอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา ซึ่งให้ลงโทษจำเลยหลายคนในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน ถ้าศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ลงโทษหรือ ลดโทษให้จำเลย แม้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์มี อำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ให้มิต้องถูกรับโทษ หรือได้ลดโทษดุจจำเลยผู้อุทธรณ์