สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขาย

สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขาย
เมื่อสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน การที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเลิกสัญญาได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุที่จะเลิกสัญญาได้ตามข้อตกลงในสัญญาหรือตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลิกสัญญาได้ตาม บรรพ 2 ว่าด้วยหนี้ ลักษณะ 2 เรื่องสัญญา หมวด 4 ว่าด้วยเลิกสัญญา

ตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ไม่มีข้อตกลงให้จำเลยเลิกสัญญาโดยการส่งมอบรถคืนโจทก์ การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนแก่โจทก์เป็นเจตนาที่จะเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียว ไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งมิได้มีเจตนาที่จะเลิกสัญญาด้วยนั้นจำต้องรับมอบรถยนต์คืนจากจำเลยแต่อย่างใด กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองรถยนต์คันพิพาทตลอดมา และการที่จำเลยครอบครองรถยนต์ไว้ใช้ประโยชน์นับแต่วันทำสัญญาซื้อรถยนต์ตลอดมา เมื่อจำเลยไม่ผ่อนชำระตามกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยต้องส่งมอบรถพิพาทคืนโจทก์และต้องชดใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นแก่โจทก์ด้วย โดยถือเป็นค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์คันพิพาทของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2545

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโอเปิล หมายเลขทะเบียน 8ศ-0102 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 1,958,400 บาท ตกลงผ่อนชำระราคารวม 48 งวด งวดละ40,800 บาท จำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 2 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันและจำเลยต้องคืนรถยนต์แก่โจทก์ทันที แต่จำเลยไม่ยอมคืนทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,917,600 บาท และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 370,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ10,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทน กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 370,000 บาท และต้นเงินจำนวน 1,917,600 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์และจำเลยตกลงซื้อขายรถยนต์พิพาทในราคาเงินผ่อน โดยมีเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์เมื่อจำเลยชำระราคารถยนต์ครบถ้วน โจทก์และจำเลยมิได้มีเจตนาผูกพันตามข้อความในแบบสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อที่โจทก์นำมาฟ้องไม่มีผลบังคับ โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อจากจำเลย จำเลยผ่อนชำระราคารถยนต์รวม 4 งวดเหตุที่จำเลยไม่ผ่อนชำระราคาต่อไปเพราะโจทก์ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยได้ สัญญาซื้อขายเงินผ่อนระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันตั้งแต่งวดที่ 5 จำเลยส่งคืนรถยนต์แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์เพิกเฉยไม่รับคืนจากจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระราคารถยนต์แทนการส่งมอบรถยนต์พิพาทคืน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี ถ้าส่งคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคาแทนเป็นเงิน1,958,400 บาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน102,465 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มิถุนายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนจนเสร็จแต่ไม่เกิน 12 เดือนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ถ้าจำเลยส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 1,550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ยี่ห้อโอเปิลแบบโอเมก้า จากโจทก์จำนวน 1 คัน ในราคา 1,958,400 บาท มีเงื่อนไขว่าโจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อจำเลยผ่อนชำระราคาครบถ้วนแล้ว โดยตกลงผ่อนชำระราคารวม 48 งวด งวดละ 40,800 บาท ตามสัญญาเงื่อนไขราคาเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ.1 จำเลยได้รับรถยนต์คันพิพาทไปจากโจทก์ในวันทำสัญญา ขณะทำสัญญาดังกล่าวบริษัทพระนครยนตรการ จำกัดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทและเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจากบริษัทพระนครยนตรการ จำกัดครั้งต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2541 โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทจากบริษัทดังกล่าว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะขณะยื่นฟ้องโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทและไม่ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทพระนครยนตรการจำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในขณะนั้นหรือไม่ เห็นว่า ทรัพย์สินที่ซื้อขายโดยมีเงื่อนไขจะโอนกรรมสิทธิ์กันนั้นผู้ขายอาจนำทรัพย์สินที่จะมีกรรมสิทธิ์ในอนาคตออกขายล่วงหน้าได้ ฉะนั้น เมื่อจำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทกับโจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวให้เมื่อจำเลยผ่อนชำระราคาให้แก่โจทก์ครบถ้วน แล้วจำเลยผิดสัญญาไม่ผ่อนชำระราคาให้โจทก์ตามกำหนดจนเป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญา กรณีจึงต้องบังคับตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบรถคืนโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาในข้อต่อไปว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เพราะหลังจากจำเลยผ่อนชำระเงินงวดที่ 4 แล้ว จำเลยได้ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้โจทก์ แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมรับคืนนั้น เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทโดยมีเงื่อนไขระหว่างโจทก์และจำเลยนั้นไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงให้จำเลยเลิกสัญญาโดยการส่งมอบรถคืนให้แก่โจทก์ได้การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์ โดยมีเจตนาที่จะเลิกสัญญาแต่เพียงฝ่ายเดียว จึงไม่มีผลผูกพันให้โจทก์ซึ่งมิได้มีเจตนาที่จะเลิกสัญญาด้วยนั้นจำต้องรับมอบรถยนต์คันพิพาทคืนจากจำเลยแต่อย่างใด กรณีต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองรถยนต์คันพิพาทตลอดมา และการที่จำเลยครอบครองรถยนต์คันพิพาทไว้ใช้ประโยชน์นับแต่วันทำสัญญาซื้อรถยนต์โดยมีเงื่อนไขตลอดมาเมื่อจำเลยไม่ผ่อนชำระค่างวดตามกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจำเลยต้องส่งมอบรถพิพาทคืนแก่โจทก์และต้องชดใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นแก่โจทก์ด้วย โดยถือเป็นค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์คันพิพาทของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391วรรคสาม ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินเดือนละ 5,000 บาท นั้น นับว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยสำหรับราคารถยนต์ที่ต้องใช้แทนในกรณีที่จำเลยไม่อาจส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์ทั้งที่โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวนั้น นับได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246และ 247"

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่จำต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับราคารถยนต์ที่ต้องใช้แทนในกรณีที่ไม่อาจส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์ได้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

( สุภิญโญ ชยารักษ์ - ไพศาล เจริญวุฒิ - ชวลิต ตุลยสิงห์ )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 391 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็น อยู่เดิมแต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดั่งกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้
ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้นการที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการ นั้นๆหรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทนก็ให้ใช้ตามนั้น
การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่
มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้นคือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ

คำพิพากษาฎีกาที่ 10711/2546

ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาท โจทก์ได้แจ้งด้วยวาจาให้จำเลยทราบว่าโจทก์ประสงค์จะซื้อห้องชุดพิพาทไว้ประกอบกิจการค้าขายยา จำเลยจึงได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดโดยมีข้อบังคับให้ใช้อาคารชุดพิพาทเพื่ออยู่อาศัยและขายยา ประกอบกับสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทไม่ได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่านอกจากผู้ซื้อจะใช้อยู่อาศัยแล้ว ผู้ซื้อสามารถประกอบกิจการค้าชนิดใด ๆ ก็ได้ตามใจสมัคร ดังนั้น การที่จำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทแก่โจทก์โดยมีผลทำให้โจทก์ต้องตกอยู่ภายใต้ข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดใช้ห้องชุดพิพาทเป็นที่อยู่อาศัยและขายยาเท่านั้น จึงไม่อาจถือว่าจำเลยผิดสัญญา เพราะในการจดทะเบียนก่อตั้งนิติบุคคลอาคารชุดตามที่กฎหมายบัญญัตินั้น ก็ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติว่าจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้จองหรือผู้ทำสัญญาจะซื้อห้องชุดด้วย

หมายเหตุ ตามฎีกานี้ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์แจ้งด้วยวาจาให้จำเลยทราบว่าโจทก์ซื้อห้องชุดไว้ประกอบกิจการร้านขายยา การที่จำเลยจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดที่โจทก์จะซื้อจากจำเลยโดยมีข้อบังคับให้ใช้อาคารชุดพิพาทเพื่ออยู่อาศัยและขายยา จึงตรงตามความประสงค์ของโจทก์ที่แจ้งแก่จำเลย ดังนี้ จะถือว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะเหตุจำเลยจดทะเบียนจำกัดสิทธิการใช้ห้องชุดพิพาทของโจทก์ไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 6746/2547

สัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนและล่วงเลยเวลาการชำระหนี้มาประมาณครึ่งปีแล้ว โดยโจทก์มิได้ชำระเงินดาวน์ให้ครบถ้วนตามสัญญา ส่วนจำเลยก็มิได้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จในกำหนดที่ตกลงเช่นกัน หนี้ที่จำเลยทวงถามเป็นเงินดาวน์งวดสุดท้ายเพียง 29,500 บาท ซึ่งโจทก์ชำระมาแล้วถึง 642,000 บาท คงเหลือเพียงการโอนกรรมสิทธิ์กันและชำระเงินที่เหลือทั้งหมดโดยวิธีกู้เงินจากธนาคารเท่านั้น ดังนั้น หนังสือบอกกล่าวของจำเลยที่ทวงถามให้โจทก์ชำระหนี้เงินดาวน์งวดสุดท้ายเพื่อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น จำเลยจะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ด้วยว่าจำเลยพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ด้วย โจทก์จะไม่ยอมชำระหนี้นั้นก็ได้ตามมาตรา 369 เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาภายหลังจากจำเลยบอกเลิกสัญญามาแล้วเท่ากับต่างฝ่ายต่างมีเจตนาเลิกสัญญาต่อกัน สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดเดิม จำเลยต้องคืนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามมาตรา 391

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7122/2549

คำว่า “มัดจำ” ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 คือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ไว้ในวันอื่น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 3 ระบุว่า ในวันทำสัญญาโจทก์ผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจำไว้ส่วนหนึ่งเป็นเงิน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 914,000 บาท จะชำระเป็นงวดรายเดือน จำนวน 10 เดือน ดังนั้น เงินที่วางมัดจำไว้ในวันทำสัญญาดังกล่าวจึงมีเพียง 10,000 บาท เท่านั้น ส่วนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามอีก 10 งวด เป็นเงิน 170,000 บาท นั้น แม้ตามสัญญาจะระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำ ก็ไม่ใช่เงินมัดจำตามความหมายดังกล่าว แต่เป็นเพียงการชำระราคาที่ดินบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสามบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 10,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินที่โจทก์ชำระค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าว จำเลยทั้งสามต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงกันให้ริบเงินดังกล่าวได้ตามสัญญาข้อ 13 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่านิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามเป็นโมฆะและโมฆียะ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินคืนโจทก์จำนวน 348,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 309,900 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระค่าก่อสร้างที่จำเลยทั้งสามต้องจ่ายไปเป็นเงินจำนวน 651,748 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยทั้งสาม

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสาม

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีว่า เงินจำนวน 180,000 บาท ที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.4 เป็นเงินมัดจำที่จำเลยทั้งสามมีสิทธิริบได้ทั้งหมดหรือไม่ และเงินค่าจ้างก่อสร้างบ้านจำนวน 85,000 บาท ที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างเอกสารหมาย จ.5 เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 3 ระบุว่าในวันทำสัญญาโจทก์ผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจำไว้ส่วนหนึ่งเป็นเงิน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 914,000 บาท จะชำระเป็นงวดรายเดือน จำนวน 10 เดือน เดือนละ 17,000 บาท เริ่มแต่เดือนตุลาคม 2539 เป็นต้นไป งวดสุดท้ายชำระในวันที่ 2 สิงหาคม 2540 จำนวนเงิน 744,000 บาท เห็นว่า คำว่า “มัดจำ” ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 บัญญัติว่า “เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำขึ้นแล้ว...” แสดงว่า มัดจำต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ไว้ในวันอื่น ดังนั้น เงินที่วางมัดจำไว้ในวันทำสัญญาดังกล่าวจึงมีเพียง 10,000 บาท เท่านั้น ส่วนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามอีก 10 งวด เป็นเงิน 170,000 บาท นั้น แม้ตามสัญญาข้อ 3 ระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำ ก็ไม่ใช่เงินมัดจำตามความหมายดังกล่าว แต่เป็นเพียงการชำระราคาที่ดินบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสามบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 10,000 บาท ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (2) ส่วนเงินที่โจทก์ชำระค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าวจำเลยทั้งสามต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงกันให้ริบเงินดังกล่าวได้ตามสัญญาข้อ 13 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงว่าจำเลยทั้งสามต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการดำเนินการแบ่งแยกโฉนดจนพร้อมที่จะโอนให้แก่โจทก์ และระยเวลาที่โจทก์ผ่อนชำระค่าที่ดินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2539 จนถึงก่อนวันเบิกเลิกสัญญาคือวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.18 จำเลยทั้งสามต้องเสียโอกาสในการนำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่บุคคลอื่นแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสามเป็นเงิน 40,000 บาท เมื่อรวมกับมัดจำ 10,000 บาท จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระแล้วได้จำนวน 50,000 บาท ส่วนที่เหลือ 130,000 บาท ให้จำเลยทั้งสามคืนโจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
( บุญส่ง น้อยโสภณ - ชวลิต ตุลยสิงห์ - เกษม วีรวงศ์ )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 377 เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย
มาตรา 378 มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นท่านให้เป็นไปดั่งจะกล่าวต่อไปนี้คือ
(1) ให้ส่งคืนหรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้
(2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบหรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น
(3) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ
มาตรา 379 ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดีหรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดีเมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้นได้แก่งดเว้นการอันใดอันหนึ่งหากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใดก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น
มาตรา 383 ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้วสิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป
มาตรา 391 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็น อยู่เดิมแต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดั่งกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้
ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้นการที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการ นั้นๆหรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทนก็ให้ใช้ตามนั้น
การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2548

โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ 3 ห้อง ซึ่งตามข้อตกลงเป็นการจะซื้อที่ดินพร้อมด้วยอาคารพาณิชย์มาเป็นของโจทก์แต่เพียงผุ้เดียวมิใช่จะซื้อส่วนเพื่อเข้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินเท่านั้น เพราะมีผลแตกต่างกันซึ่งต้องมีการตกลงกันเป็นพิเศษโดยชัดแจ้ง จำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลง ๆ ตามพื้นที่ของอาคารพาณิชย์ที่โจทก์จะซื้อและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่ละแปลงให้โจทก์ แต่เมื่อถึงวันนัดจดทะเบียนจำเลยมิได้แบ่งแยกที่ดินพร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ แม้โจทก์ไม่ไปตามนัดและมีเงินพอที่จะชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่จำเลยจะริบเงินที่โจทก์จ่ายแล้วทั้งหมดตามข้อตกลงในสัญญาได้ สัญญายังคงมีผลผูกพันให้โจทก์และจำเลยชำระหนี้ตอบแทนกันอยู่ เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ในเวลาต่อมา แต่จำเลยไม่ไปตามนัด ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (3) และมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้จากจำเลยได้ตามมาตรา 380 อีกด้วย

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงซื้อที่ดิน พร้อมอาคารพาณิชย์ 3 ห้องจากจำเลย ราคา 5,000,000 บาท โจทก์วางเงินมัดจำ และชำระเงินบางส่วน รวม 520,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 4,480,000 บาท จะชำระวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แต่จำเลยผิดสัญญา ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยจึงต้องคืนเงินทั้งหมดและเสียค่าปรับเป็นเงิน 1 เท่า ของเงินมัดจำแก่โจทก์ รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องคืนแก่โจทก์จำนวน 700,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 620,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2538 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 68196 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมอาคารพาณิชย์ 3 ห้อง จากจำเลยในราคา 5,000,000 บาท โจทก์ได้วางเงินมัดจำจำนวน 180,000 บาท และได้ชำระราคาบางส่วนเป็นงวด งวดละ 68,000 บาท รวม 5 งวด เป็นเงิน 340,000 บาท รวมเป็นเงินที่ชำระแก่จำเลยแล้วจำนวน 520,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 4,480,000 บาท ตกลงจะชำระเงินกันในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหลังจากจำเลยสร้างอาคารพาณิชย์เสร็จแล้วจำเลยแจ้งให้โจทก์ไปจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 แต่โจทก์ไม่ยอมไปตามกำหนดนัด โดยโจทก์อ้างว่าต้องให้จำเลยแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 68196 ซึ่งเป็นแปลงรวมแปลงใหญ่ที่สร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 3 ห้อง ที่โจทก์จะซื้อก่อนเพื่อจะได้โอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ แล้วโจทก์จะได้จดทะเบียนจำนองแก่บริษัทอเมริกันอินเตอร์แอสชัวแรนท์ จำกัด ตามวัตถุประสงค์ที่โจทก์ต้องการซื้ออาคารพาณิชย์เพื่อทำเป็นสำนักงานของบริษัทดังกล่าว ซึ่งโจทก์ไม่ต้องการถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับเจ้าของอาคารพาณิชย์แปลงอื่น และโจทก์ก็ได้แจ้งให้จำเลยทำการแบ่งแยกโฉนดให้แล้วเสร็จเสียก่อนวันนัดให้โจทก์ไปทำการรับโอน และแจ้งให้จำเลยทราบก่อนวันนัดแล้ว ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2539 โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ในวันที่ 14 มกราคม 2540 ปรากฏว่าจำเลยไม่ไปตามนัด

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ไปจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่จำเลยนัด เนื่องจากโจทก์ไม่มีเงินที่จะชำระราคาส่วนที่เหลือการที่โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปทำการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเป็นแปลง ๆ เพื่อโอนให้โจทก์เป็นเรื่องที่ไม่อาจบังคับจำเลยได้เพราะตามสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยไม่มีหน้าที่ที่จะต้องกระทำการดังกล่าว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องถูกริบเงินที่จ่ายแล้วทั้งหมดและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างข้อ 1 ระบุว่า “ผู้ขายตกลงจะขายที่ดินตามอาคารพาณิชย์ 3 ห้อง หมายเลข 7, 8, 9 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวให้กับผู้จะซื้อ และผู้จะซื้อตกลงจะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากผู้จะขาย” และข้อ 5 ระบุว่า “หากผู้จะซื้อผิดนัดผิดสัญญาไม่ไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนรับซื้อตามกำหนดในข้อ 3 ผู้จะซื้อยอมให้ผู้จะขายริบเงินมัดจำ และเงินที่ได้ผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ได้ทันที ในทางกลับกันหากผู้จะขายผิดสัญญาไม่ไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนตามกำหนดในข้อ 3 ผู้จะขายยินยอมคืนเงินมัดจำและเงินที่ได้รับไว้แล้วทั้งหมดให้กับผู้จะซื้อทันที และผู้จะขายยอมเสียค่าปรับเป็นเงินจำนวนหนึ่งเท่าของเงินมัดจำให้กับผู้จะซื้ออีกโสดหนึ่งด้วย” ตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นการจะซื้อที่ดินพร้อมด้วยอาคารพาณิชย์ 3 ห้อง มาเป็นของโจทก์แต่เพียงผู้เดียวมิใช่จะซื้อส่วนเพื่อเข้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 68196 เท่านั้น เพราะมีผลแตกต่างกันซึ่งต้องมีการตกลงกันไว้เป็นพิเศษโดยชัดแจ้ง จำเลยจึงมีหน้าที่ที่จะต้องแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นแปลง ๆ ตามพื้นที่อาคารพาณิชย์หมายเลข 7, 8, 9 ที่โจทก์จะซื้อและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่ละแปลงให้โจทก์ ดังนั้น เมื่อในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 ซึ่งเป็นวันนัดจดทะเบียน จำเลยมิได้แบ่งแยกที่ดินออกมา 3 แปลง พร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ได้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย แม้โจทก์ไม่ไปตามนัดและมีเงินพอที่จะชำระราคาส่วนที่เหลือให้จำเลยหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่จำเลยจะริบเงินที่โจทก์จ่ายแล้วทั้งหมดตามสัญญาจะซื้อจะขายข้อ 5 ได้ สัญญาจะซื้อจะขายยังคงมีผลผูกพันให้โจทก์จำเลยต้องชำระหนี้ตอบแทนกันอยู่ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2539 โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ในวันที่ 14 มกราคม 2540 ถึงวันนัดโจทก์ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ จำเลยไม่ไปตามนัด ถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จึงต้องคืนมัดจำแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (3) และโจทก์มีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ข้อ 5 จากจำเลยได้ตามมาตรา 380 อีกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
( ไพโรจน์ วายุภาพ - จิระวรรณ ศิริบุตร - เกษม เวชศิลป์ )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 369 ในสัญญาต่างตอบแทนนั้นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้ หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด

มาตรา 380 ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้วก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป

ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้นท่านก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 776/2549

ป.พ.พ. มาตรา 369 บัญญัติว่า ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้...ฯลฯ... หมายความว่า การชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาจะต้องมีความพร้อมในการชำระหนี้ทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พร้อมที่จะชำระหนี้ตอบแทนอีกฝ่ายจะไม่ยอมชำระหนี้ก็ได้ ที่ดินพิพาทถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อบังคับคดีชำระหนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2541 และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 แจ้งให้โจทก์ไปรับโฉนดที่ดินพิพาทคืนเนื่องจากมีการถอนการยึด แสดงว่าในวันที่ 10 เมษายน 2541 ที่โจทก์จำเลยนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์นั้น ที่ดินพิพาทยังถูกยึดโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะโอนให้โจทก์ เพราะการโอนทรัพย์ที่ถูกยึดภายหลังที่ได้ทำการยึดไว้แล้วไม่อาจใช้ยันแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 305 (1) เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องทำให้ที่ดินพิพาทพ้นสภาพจากการถูกยึดก่อนนำมาโอนและรับชำระราคาจากโจทก์ หากที่ดินพิพาทยังไม่พ้นจากสภาพดังกล่าว จำเลยก็มิอาจเรียกร้องให้โจทก์ชำระราคาได้ เพราะจำเลยไม่อยู่ในสภาพจะชำระหนี้ตอบแทนได้ทันที จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระราคาที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินที่โจทก์ชำระไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และถอนการยึดที่ดินพิพาทแล้วนำมาโอนให้โจทก์ได้

จำเลยไม่พร้อมที่จะโอนที่ดินพิพาทเพราะที่ดินถูกยึด โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่ยอมชำระราคาดังกล่าว และถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะที่ดินพิพาทถูกยึดไม่พร้อมจะโอนให้โจทก์อันเป็นเหตุที่เกิดจากฝ่ายจำเลย จำลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำที่โจทก์วางไว้ และเมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์

โจทก์จำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในวันที่ 10 เมษายน 2541 เมื่อจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามกำหนด ถือว่าจำเลยผิดนัดและต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2541 เป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 จึงยังไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 184,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 160,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้กับโจทก์ยึดถือโฉนดเลขที่ 4602 ตำบลขามป้อม อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น เป็นประกันไว้จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยคืนจนครบถ้วน
จำเลยให้การว่าจำเลยได้รับเงินมัดจำจากโจทก์เพียง 110,000 บาท โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือภายในกำหนด จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินมัดจำคืนขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์จำนวน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2541 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4602 ตำบลขามป้อม อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น แก่โจทก์เป็นเงิน 330,000 บาท โดยในวันทำสัญญาโจทก์วางเงินมัดจำ จำนวน 110,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงชำระในวันที่ 31 มีนาคม 2541 โดยกำหนดนัดโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 10 เมษายน 2541 ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2541 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2083/2540 ของศาลชั้นต้น และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยตามเอกสารหมาย จ.7 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 บัญญัติว่าในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้...ฯลฯ... หมายความว่า การชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาจะต้องมีความพร้อมในการชำระหนี้ทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พร้อมที่จะชำระหนี้ตอบแทนอีกฝ่ายจะไม่ยอมชำระหนี้ก็ได้ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ที่ดินพิพาทถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อบังคับชำระหนี้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2083/2540 ของศาลชั้นต้น ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2541 และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 แจ้งให้โจทก์ไปรับโฉนดที่ดินพิพาทคืน เนื่องจากมีการถอนการยึด แสดงว่าในวันที่ 10 เมษายน 2541 ที่โจทก์จำเลยนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์นั้น ที่ดินพิพาทยังถูกยึดโดยเจ้าหน้าที่บังคับคดี มิได้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะโอนให้โจทก์ เพราะการโอนทรัพย์ที่ถูกยึดภายหลังที่ทำการยึดไว้แล้วไม่อาจใช้ยันแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 305 (1) เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องทำให้ที่ดินพิพาทพ้นสภาพจากการถูกยึดก่อนนำมาโอนและรับชำระราคาจากโจทก์ หากที่ดินพิพาทยังไม่พ้นสภาพดังกล่าว จำเลยก็มิอาจเรียกร้องให้โจทก์ชำระราคาได้ เพราะจำเลยไม่อยู่ในสภาพที่จะชำระหนี้ตอบแทนได้ทันที ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระราคาที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินที่โจทก์ชำระไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและถอนการยึดที่ดินพิพาทแล้วนำมาโอนให้โจทก์ได้ในส่วนของโจทก์นั้นโจทก์เบิกความยืนยันว่า ขณะนั้นมีมีเงินเตรียมพร้อมแล้ว ข้อนี้จำเลยเบิกความว่า เมื่อวันที่ 28 นีนาคม 2541 โจทก์ไปหาจำเลยบอกว่าที่ดินพิพาทถูกยึด ไม่เป็นมงคลไม่ซื้อแล้ว แสดงว่าจำเลยไม่โต้เถียงในข้อที่ว่า โจทก์ไม่มีเงินชำระราคาที่ดินพิพาทแต่อย่างใด น่าเชื่อว่าโจทก์อยู่ในฐานะที่จะชำระราคาที่ดินพิพาทได้ ทั้งจากพยานโจทก์จำเลยบ่งชี้ว่า ภายหลังจากจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทแล้วที่ดินพิพาทจึงถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึด มิใช่โจทก์ไม่มีเงินชำระราคา เมื่อจำเลยไม่พร้อมที่จะโอนที่ดินพิพาทเพราะที่ดินถูกยึด โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่ยอมชำระราคาดังกล่าว และกรณีนี้ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะที่ดินพิพาทถูกยึดไม่พร้อมจะโอนให้โจทก์อันเป็นเหตุที่เกิดจากฝ่ายจำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำที่โจทก์วางไว้ และเมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่าโจทก์วางเงินมัดจำแก่จำเลยจำนวนเท่าใด จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้รับเงินมัดจำไว้ในวันทำสัญญาจำนวน 110,000 บาทเท่านั้น มิได้รับเงินมัดจำเพิ่มอีก 50,000 บาท ในข้อนี้โจทก์เบิกความว่า เมื่อโจทก์ทราบว่าที่ดินพิพาทถูกยึดก็ได้ไปติดต่อจำเลยแจ้งว่าโจทก์ยังประสงค์รับโอนที่ดินพิพาท แต่จำเลยให้โจทก์ชำระมัดจำเพิ่มอีก 50,000 บาท เพื่อจำเลยจะนำเงินไปถอนการบังคับคดี และสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ทันกำหนดโจทก์จึงชำระเงินให้แก่จำเลยอีก 50,000 บาท และได้มีการแก้ไขสัญญา ส่วนราคาที่ดินพิพาทที่เหลือใช้ชำระในวันที่ 10 เมษายน 2541 แต่ถึงกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์จำเลยไม่ไปถอนการบังคับคดี และโจทก์มีนายพรหมมา เป็นพยานเบิกความว่า เป็นผู้เขียนสัญญาและแก้ไขสัญญาและลงชื่อกำกับการแก้ไข กับยืนยันว่าโจทก์จ่ายเงินมัดจำเพิ่มให้จำเลย เห็นว่า จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยเคยมอบให้นายพรหมมาไปติดต่อกับโจทก์ให้โจทก์นำเงินค่าที่ดินพิพาทที่เหลือมาชำระโดยให้นายพรหมมามีอำนาจต่อรองกับโจทก์ ดังนี้แสดงว่านายพรหมมาเป็นบุคคลที่ทั้งโจทก์จำเลยให้การยอมรับ และเป็นคนกลางไม่มีประโยชน์ได้เสียกับฝ่ายใดทั้งได้รู้เห็นเรื่องนี้มาตั้งแต่แรกโดยเป็นผู้เขียนสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์จำเลยคำเบิกความของนายพรหมมาจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ นายพรหมมาเบิกความสอดคล้องกับโจทก์ว่า โจทก์ได้ชำระเงินมัดจำเพิ่มให้จำเลย และพยานเป็นผู้แก้ไขสัญญาและลงชื่อกำกับการแก้ไข แม้จำเลยจะมิได้ลงชื่อกำกับการแก้ไข แต่นายพรหมมาก็เบิกความว่าจำเลยยินยอมด้วย ซึ่งก็มีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าจำเลยยินยอมและไม่ปฏิเสธเพราะเป็นเรื่องที่โจทก์จะช่วยเหลือให้จำเลยมีเงินไปชำระหนี้เพื่อถอนการบังคับคดีและนำที่ดินพิพาทมาโอนให้โจทก์ตามสัญญา พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้จ่ายเงินมัดจำเพิ่มให้จำเลยอีก 50,000 บาท รวมเป็นเงินที่จ่ายให้จำเลยทั้งสิ้น 160,000 บาท เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงต้องคืนเงินจำนวนนี้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 นั้น ได้ความว่า โจทก์จำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในวันที่ 10 เมษายน 2541 เมื่อจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามกำหนด ถือว่าจำเลยผิดนัดและต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2541 เป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 จึงยังไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 160,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
( ประทีป เฉลิมภัทรกุล - เรวัตร อิศราภรณ์ - ศิริชัย จิระบุญศรี )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 204 ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วและภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้วลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว
ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและลูกหนี้มิได้ ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ก่อนการชำระหนี้ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว
มาตรา 369 ในสัญญาต่างตอบแทนนั้นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้ หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US