สัญญาโอนขายสิทธิบัตรระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญามีข้อตกลงว่าผู้ขายจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ซื้อมีหน้าที่ชำระราคา และผู้ซื้อผู้ขายตกลงหักหนี้กันวิธีชำระค่าหุ้นให้แก่ผู้ขายแล้ว ผู้ขายรับทราบแต่ไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้ซื้อ ผู้ขายไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4584/2552
สัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสี่และจำเลยเป็นสัญญาโอนขายสิทธิบัตร โดยมีข้อกำหนดว่าผู้โอนคือโจทก์ทั้งสี่ที่เป็นผู้ขายจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้รับโอนคือจำเลยด้วย จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 369 กล่าวคือ โจทก์ทั้งสี่มีหน้าที่ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่จำเลย และจำเลยมีหน้าที่ชำระราคาให้โจทก์ทั้งสี่ ดังนั้นที่โจทก์ทั้งสี่รับว่ามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยจริง และแจ้งให้จำเลยหักชำระหนี้ค่าหุ้นที่โจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้ชำระแก่จำเลย ต่อมาจำเลยส่งใบหุ้นแก่โจทก์ทั้งสี่ ย่อมแสดงว่าจำเลยยอมรับการชำระหนี้ค่าหุ้นแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ยอมรับว่ายังไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่จำเลย โจทก์ทั้งสี่จึงยังไม่ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 กรณีจึงไม่อาจถือว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยโอนสิทธิบัตรคำขอเลขที่ 023613 เลขที่สิทธิบัตร 10099 คืนให้โจทก์ทั้งสี่ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยใช้หรือหาผลประโยชน์จากสิทธิบัตรคำขอเลขที่ 023613 เลขที่สิทธิบัตร 10099 อีกต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุจำเลยมิได้ชำระค่าซื้อขายสิทธิบัตรแก่โจทก์ทั้งสี่หรือไม่ เห็นว่า สัญญาโอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ในข้อ 1 มีใจความว่า เป็นการโอนขายสิทธิบัตรแก่จำเลยในราคา 7,000,000 บาท โดยมีข้อกำหนดด้วยว่าผู้โอนซึ่งหมายถึงโจทก์ทั้งสี่ที่เป็นผู้ขายจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้รับโอนคือจำเลยด้วยจึงนับเป็นสัญญาต่างตอบแทน กล่าวคือโจทก์ทั้งสี่มีหน้าที่ต้องโอนสิทธิบัตรพร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่จำเลย และจำเลยมีหน้าที่ชำระราคาให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ซึ่งผลแห่งสัญญาคือคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 ซึ่งข้อเท็จจริงรับกันอยู่ว่าโจทก์ทั้งสี่ได้โอนสิทธิบัตรให้แก่จำเลยแล้ว จึงมีปัญหาแต่เพียงว่าจำเลยมีเจตนาไม่ชำระหนี้ตอบแทนและโจทก์ทั้งสี่ยังปฏิบัติการชำระหนี้ไม่ครบถ้วนอันจะถือว่าจำเลยยังไม่ผิดสัญญาหรือไม่ ในประการนี้ฝ่ายโจทก์ทั้งสี่รับอยู่ว่ามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยจริงและยังไม่ได้ชำระค่าหุ้น ดังนั้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2546 จึงได้มีหนังสือทวงหนี้จำเลย จำนวน 7,000,000 บาท โดยแจ้งให้จำเลยหักชำระหนี้ค่าหุ้น จำนวน 5,000,000 บาท การที่จำเลยส่งใบหุ้นแก่โจทก์ทั้งสี่ ย่อมแสดงว่าจำเลยยอมรับการชำระหนี้ค่าหุ้นตามหนังสือของโจทก์ทั้งสี่ ซึ่งแม้จำเลยจะจัดส่งใบหุ้นที่มีการชำระเต็มมูลค่าให้แก่โจทก์ทั้งสี่ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2546 อันเป็นเวลาหลังจากที่โจทก์ทั้งสี่ให้นายอุทัยมีหนังสือแจ้งต่อจำเลย ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2546 ว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ขอถือหุ้นของจำเลยอีกต่อไปก็ตาม เพราะโจทก์ทั้งสี่เมื่อเข้าถือหุ้นของจำเลยแล้ว ย่อมไม่สามารถถอนการถือหุ้นของตนเองโดยพลการ เนื่องจากขัดต่อจุดมุ่งหมายของการจัดตั้งบริษัทจำกัด ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดให้กระทำได้ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาหนังสือที่จำเลยมีถึงโจทก์ทั้งสี่ก็ได้มีคำอธิบายอยู่ในข้อ 2.1 แล้วว่า บริษัทจำเลยได้ออกใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกรายตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2546 โดยมีการแจ้งต่อสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงไม่พอที่จะรับฟังว่าจำเลยส่อเจตนาไม่สุจริต แม้จะส่งมอบใบหุ้นแก่โจทก์ทั้งสี่ห่างจากวันที่โจทก์ทั้งสี่แจ้งให้หักหนี้ถึง 2 เดือน ส่วนเรื่องการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีก็เช่นกัน แม้ขณะทำสัญญาโอนสิทธิบัตร โจทก์ที่ 1 จะอยู่ในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแทนจำเลย เป็นทำนองว่าถือว่ามีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีแล้วโดยปริยาย เพราะโจทก์ที่ 1 มีความรู้ความสามารถในการก่อสร้างติดตั้งเครื่องบำบัดน้ำเสียตามสิทธิบัตรอยู่แล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 จะได้ดำเนินการตามสิทธิบัตรในนามจำเลย ทั้งช่วงระยะเวลาที่โจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการของจำเลยหลังการรับโอนสิทธิบัตรจากโจทก์ทั้งสี่ก็มีระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน และโจทก์ที่ 1 ก็มิได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ใดในบริษัทจำเลย หลักฐานอีกประการหนึ่งคือจดหมายที่นายอุทัย มีถึงจำเลย ที่โจทก์ทั้งสี่อ้างส่ง ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2546 ก็ยอมรับอยู่ว่ายังไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่จำเลย ดังนั้นเมื่อนำมาพิจารณาประกอบตัวโจทก์ที่ 1 เบิกความตอบทนายจำเลยค้านว่า จำเลยเคยเสนอชื่อบุคคลที่จะมารับการถ่ายทอดจากโจทก์ทั้งสี่แล้วก็ดี กลุ่มใยบัวเทศ (นามสกุลของโจทก์ทั้งสี่) ไม่เคยมีหนังสือให้จำเลยตั้งบุคคลขึ้นมารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็ดี นายอุทัยพยานโจทก์เบิกความตอบทนายโจทก์ว่าคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการถ่ายทอดนั้นอย่างน้อยจะต้องจบปริญญาตรีวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบำบัดน้ำเสีย ซึ่งค้านกับที่โจทก์ที่ 1 ที่ได้รับการถ่ายทอดจากนายอุทัยด้วยคนหนึ่งเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าตนจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจการเงินไม่ได้จบวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม แสดงว่าโจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้แสดงการขอปฏิบัติการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 208 กรณีจึงไม่อาจถือว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ได้เป็นพับ
( เกรียงชัย จึงจตุรพิธ - สุวัฒน์ วรรธนะหทัย - ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช )
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง - นางสาวอัญชลี อนันต์โท
ป.พ.พ. มาตรา 208, 369