(สัญญาเช่าซื้อรถยนต์) ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นไม่ต้องรับผิด

(สัญญาเช่าซื้อรถยนต์) ผู้ค้ำประกันหลุดพ้น
ผู้ให้เช่าซื้อยึดรถยนต์คืนและนำออกขายได้เงิน 114,018.69 บาท ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อ ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 117,091 บาท ต่อมาผู้เช่าซื้อ ทำบันทึกรับสภาพหนี้ตกลงยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 100,000 บาท บันทึกจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อเดิมจึงระงับไป ผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อตามมูลหนี้เดิมไม่ได้ตกลงในการทำบันทึกดังกล่าวด้วย จึงไม่ต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6639/2548

บันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายเป็นการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงยอมรับว่าโจทก์เสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ และยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 100,000 บาท ผ่อนชำระ 12 งวด และโจทก์ตกลงตามบันทึกดังกล่าวข้อ 4 ว่าหากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้โดยไม่ผิดนัดครบยอดเงิน 100,000 บาท โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องส่วนที่เหลือ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายยอมสละระงับสิ้นไป และได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นว่าเป็นของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมจึงระงับไป เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามมูลหนี้ในสัญญาเช่าซื้อเดิมไม่ได้ตกลงในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 120,575 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 91,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 91,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 91,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5ช-2077 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 264,852 บาท ตกลงชำระงวดละ 7,357 บาท รวม 36 งวด ทุกวันที่ 2 ของเดือน งวดแรกชำระวันที่ 2 มกราคม 2538 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ปรากฏตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 7 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 15 ซึ่งต้องชำระภายในวันที่ 2 มีนาคม 2539 โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองแล้วและยึดรถยนต์คืนได้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 โจทก์นำรถยนต์ออกขายได้เงิน 114,018.69 บาท โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 117,091 บาท ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2540 จำเลยที่ 1 ทำบันทึกรับสภาพหนี้ตกลงยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 100,000 บาท โดยผ่อนชำระให้โจทก์รวม 12 งวด งวดละเดือน ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2540 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นตกลงด้วย จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์เพียง 2 งวด เป็นเงิน 9,000 บาท แล้วผิดนัดตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมา

คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อระงับสิ้นไปเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นการแปลงหนี้ใหม่นั้น เห็นว่า บันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายดังกล่าวเป็นการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงยอมรับว่าโจทก์เสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อและยอมชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 100,000 บาท โดยผ่อนชำระ 12 งวด งวดละเดือน และโจทก์ตกลงตามบันทึกดังกล่าวข้อ 4 ว่า หากจำเลยที่ 1 ชำระโดยไม่ผิดนัดครบยอดเงิน 100,000 บาท โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องในหนี้ส่วนที่เหลืออีกต่อไป บันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมให้เสร็จโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายยอมสละระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมจึงระงับไปและได้สิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อตามมูลหนี้เดิมไม่ได้ตกลงในการทำบันทึกดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
พิพากษาแก้ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ.
( เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์ - ปัญญา ถนอมรอด - สมศักดิ์ เนตรมัย )
ศาลแพ่ง - นายประเสริฐ อยู่เจริญดี
ศาลอุทธรณ์ - นางปดารณี ลัดพลี

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 850 อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือ จะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
มาตรา 852 ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำ ให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US