สัญญาเช่าซื้อกับสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง

สัญญาเช่าซื้อกับสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง
สัญญาเช่าแบบลีสซิ่ง ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะขายทรัพย์ที่เช่าเมื่อครบสัญญาเช่าผู้เช่ามีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าในราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า หากมิได้ผิดข้อตกลงหรือเงื่อนไข

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 991/2548

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งรถยนต์ 1 คัน ไปจากโจทก์ในราคา 6,393,600 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น 447,552 บาท จำเลยตกลงชำระค่าเช่าและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือน เดือนละ 142,542 บาท โดยแยกเป็นค่าเช่าเดือนละ 133,200 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนละ 9,324 บาท รวม 48 เดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 6 กรกฎาคม 2538 และทุกวันที่ 6 ของเดือนถัดไป เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าและหากจำเลยที่ 1 มิได้กระทำผิดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าในราคา 934,579.44 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์ไปแล้วในวันทำสัญญาเช่าแม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายถึงลักษณะของการเช่าแบบลิสซิ่งว่าเป็นสัญญาแบบใด มีผลใช้บังคับได้อย่างไร แต่เมื่อพิจารณาแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้อยู่แล้วว่าโจทก์นำรถยนต์ให้จำเลยที่ 1 เช่าโดยมีข้อตกลงว่าเมื่อครบกำหนดและหากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในสัญญา จำเลยที่ 1 มีสิทธิซื้อรถยนต์ที่เช่าได้ตามราคาที่ระบุไว้ในสัญญา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

สัญญาเช่าแบบลิชซิ่งตามคำฟ้องโจทก์นั้นโจทก์ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะขายทรัพย์ที่เช่าให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อครบสัญญาเช่าแล้ว โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าในราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า 934,579.44 บาท หากมิได้ผิดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในสัญญาเช่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ามิได้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าทันที สัญญานี้จึงมิใช่สัญญาเช่าซื้อตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 572 เพราะสัญญาเช่าซื้อนั้นเมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบแล้วกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อย่อมโอนไปยังผู้เช่าซื้อทันที ดังนั้น สัญญาเช่าตามคำฟ้องโจทก์จึงหาใช่สัญญาเช่าซื้อที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ไม่

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,065,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 172,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2541 อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า สัญญาเช่าแบบลิสซิ่งเป็นสัญญาที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ โจทก์ต้องบรรยายให้ชัดเจนว่าเป็นสัญญาเช่าแบบใด มีผลบังคับได้อย่างไร แต่โจทก์หาได้บรรยายไม่ ทำให้จำเลยทั้งสองไม่เข้าใจคำฟ้องของโจทก์ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ หมายเลขทะเบียน 6 ฬ ? 1999 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 6,393,600 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น 447,552 บาท จำเลยตกลงชำระค่าเช่าและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือน เดือนละ 142,542 บาท โดยแยกเป็นค่าเช่าเดือนละ 133,200 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนละ 9,324 บาท รวม 48 เดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 6 กรกฎาคม 2538 และทุกวันที่ 6 ของเดือนถัดไป เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าและหากจำเลยที่ 1 มิได้กระทำผิดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าในราคา 934,579.44 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์ไปแล้วในวันทำสัญญาเช่า ซึ่งถึงแม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายถึงลักษณะของการเช่าแบบลิสซิ่งว่าเป็นสัญญาแบบใด มีผลใช้บังคับได้อย่างไร แต่เมื่อพิจารณาแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้อยู่แล้วว่าโจทก์นำรถยนต์ให้จำเลยที่ 1 เช่าโดยมีข้อตกลงว่าเมื่อครบกำหนดและหากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในสัญญา จำเลยที่ 1 มีสิทธิซื้อรถยนต์ที่เช่าได้ตามราคาที่ระบุไว้ในสัญญาฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองข้อต่อไปว่า สัญญาเช่าแบบลิสซิ่งตามคำฟ้องโจทก์เป็นสัญญาเช่าซื้อเมื่อไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 118 จึงใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญาเช่าแบบลิสซิ่งตามคำฟ้องโจทก์นั้นโจทก์ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะขายทรัพย์ที่เช่าให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อครบสัญญาเช่าแล้ว โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าในราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า 934,579.44 บาท หากมิได้ผิดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในสัญญาเช่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ามิได้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าทันที สัญญานี้จึงมิใช่สัญญาเช่าซื้อตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ตามที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมา เพราะสัญญาเช่าซื้อนั้นเมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบแล้วกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อย่อมโอนไปยังผู้เช่าซื้อทันที ดังนั้น สัญญาเช่าตามคำฟ้องโจทก์ จึงหาใช่สัญญาเช่าซื้อที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเช่าซื้อแม้มิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานได้เพราะจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นผู้ทำสัญญาดังกล่าวแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน
( มานะ ศุภวิริยกุล - สมชาย จุลนิติ์ - ชาลี ทัพภวิมล )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้นคือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US