สัญญาซื้อขาย | สัญญาตัวแทน | ตัวแทนเชิด

สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายให้แก่ผู้ซื้อ กรรมการของบริษัทเป็นตัวแทนเชิดของบริษัทมีอำนาจดำเนินกิจการของบริษัท ตามสัญญาตัวแทน แต่สัญญาซื้อขายตาม มาตรา 453 ก็มิได้บัญญัติว่าผู้ขายจะต้องมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 699/2545

ผู้ขายกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน สัญญาซื้อขาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453 มิได้กำหนดให้ผู้ขายต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ขาย ดังนั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ขายจึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก็ดี จำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาแล้วก็ดี ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้นและเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน

จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้หนึ่งที่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 นอกจากนี้แผนผังอาคารพาณิชย์และใบเสนอราคาหัวกระดาษเอกสารดังกล่าวระบุชื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งย่อมทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเอกสารของจำเลยที่ 1 ประการสำคัญบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ระบุชัดเจนว่าโครงการสร้างอาคารพาณิชย์พิพาทเป็นโครงการของจำเลยที่ 1 แสดงว่า จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 821 จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในกิจการที่จำเลยที่ 2 ได้กระทำเสมือนว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของตน

การตั้งตัวแทนที่ต้องทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 ใช้บังคับแก่กรณีการตั้งตัวแทนตามปกติทั่ว ๆ ไป แต่การเป็นตัวแทนเชิดเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายหาจำต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453 มิได้กำหนดให้ผู้ขายต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ขาย ดังนั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ขายจึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก็ดี จำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาแล้วก็ดี ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้นและเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน

จำเลยที่ 1 ไม่โอนสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย โจทก์ย่อมมีสิทธิได้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 ประกอบมาตรา 222 โดยต้องเป็นความเสียหายที่ปกติย่อมเกิดขึ้นหรือเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษเท่านั้น ไม่จำต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ดังนั้น เมื่อขณะจำเลยที่ 2 เสนอขายอาคารพาณิชย์พิพาทมีราคาห้องละ 2,000,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ห้องละ 850,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2536 จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานตัวแทนจำเลยที่ 1 ได้ให้คำมั่นต่อโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองจะโอนสิทธิการเช่าที่ดินและขายอาคารพาณิชย์เลขที่ B 13 และ B 14 ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์โครงการก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ในราคาห้องละ 1,650,000 บาท ให้โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารพาณิชย์แล้วเสร็จ จำเลยทั้งสองไม่โอนอาคารพาณิชย์ให้โจทก์ ทำให้โจทก์ขาดกำไรจากการขายให้ผู้อื่นห้องละ 850,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารพาณิชย์ ห้องเลขที่ 729/115 และเลขที่ 729/116 ตำบลบางโพงพาง อำเภอยานนาวา กรุงเทพมหานคร ในราคาห้องละ 1,650,000 บาท ให้โจทก์ หากไม่โอนให้ชดใช้เงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของโครงการก่อสร้างไม่เคยให้คำมั่นหรือมอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนทำคำมั่นใด ๆ กับโจทก์ โจทก์เสียหายไม่เกิน 500 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารพาณิชย์เลขที่ 729/115 และเลขที่ 729/116 แขวงบางโพงพางเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ หากไม่ไปจดทะเบียนโอนให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายจำนวน 1,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2536 จำเลยที่ 2 ตกลงจะขายอาคารพาณิชย์พิพาทห้องเลขที่ B 13 และ B 14ให้โจทก์ในราคาห้องละ 1,650,000 บาท ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.5 มีปัญหาแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 ตกลงขายอาคารพาณิชย์พิพาทแก่โจทก์ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 หรือไม่โจทก์เบิกความว่าในวันทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว จำเลยที่ 2 ทำแผนผังการก่อสร้างอาคารพาณิชย์โครงการ 3 โดยทำเครื่องหมายกากบาทห้อง 13 และ 14 โครงการดังกล่าวมีชื่อว่า เจฟ้อน มินิ ออฟฟิศ ตามเอกสารหมาย จ.3 และจำเลยที่ 2 นำใบเสนอราคาตามเอกสารหมาย จ.4 มาให้โจทก์ด้วย เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้หนึ่งที่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.6 นอกจากนี้แผนผังอาคารพาณิชย์ตามเอกสารหมาย จ.3 และใบเสนอราคาตามเอกสารหมาย จ.4 หัวกระดาษเอกสารดังกล่าวระบุชื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งย่อมทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 เป็นเอกสารของจำเลยที่ 1 ประการสำคัญบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.5 ระบุชัดเจนว่าโครงการสร้างอาคารพาณิชย์พิพาทเป็นโครงการที่ 3 ของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเอกสารหมาย จ.5 เป็นนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น จำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องด้วยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวแล้วว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมต้องมีความผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในกิจการที่จำเลยที่ 2 ได้กระทำเสมือนว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของตน จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ามิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์หาได้ไม่ ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาที่สองว่า มูลพิพาทคดีนี้เป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะต้องทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การมอบอำนาจในการให้คำมั่นตามเอกสารหมาย จ.5 จึงต้องทำเป็นหนังสือด้วย จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 นั้นเห็นว่า การตั้งตัวแทนที่ต้องทำเป็นหนังสือตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้นเป็นบทบังคับกรณีการตั้งตัวแทนตามปกติทั่ว ๆ ไป แต่การเป็นตัวแทนเชิดเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายหาจำต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือไม่ ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาที่สามว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์พิพาทเพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะซื้อขาย มาตรา 453 มิได้กำหนดให้ผู้ขายต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ขาย ดังนั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก็ดี จำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาแล้วก็ดี ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้นและเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

จำเลยที่ 1 ฎีกาประเด็นสุดท้ายว่า ในเรื่องโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดนั้น โจทก์เพียงแต่นำสืบว่า หากโจทก์ได้รับโอนอาคารพาณิชย์พิพาทแล้วโจทก์จะนำไปขายมีผลต่างกำไรเท่านั้นซึ่งเป็นการคาดคะเน ความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องเป็นความเสียหายจริง แต่ขณะบอกเลิกสัญญาโจทก์ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้ตกลงจะซื้อขายกับบุคคลภายนอกแล้ว ทั้งความเสียหายดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นในตัวเอง เห็นว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่อาจโอนสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิได้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 215 ประกอบมาตรา 222 อันได้แก่ความเสียหายที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ นอกจากนี้ยังมีสิทธิได้ค่าเสียหายอันเกิดแก่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว แสดงว่าค่าเสียหายดังกล่าวให้พิจารณาเพียงเป็นความเสียหายที่ปกติย่อมเกิดขึ้นหรือเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษเท่านั้น ไม่จำต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ดังจำเลยที่ 1อ้างเมื่อได้ความจากใบเสนอราคาตามเอกสารหมาย จ.4 ว่า ขณะจำเลยที่ 2 เสนอขายอาคารพาณิชย์พิพาทมีราคาห้องละ 2,000,000 บาทประกอบกับจำเลยที่ 2 เบิกความรับว่า ขณะเบิกความอาคารพาณิชย์พิพาทมีราคาประมาณ 3,000,000 บาท ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ห้องละ 850,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,700,000บาท จึงเหมาะสมแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"
พิพากษายืน
( พูนศักดิ์ จงกลนี - วิชา มหาคุณ - ปัญญา สุทธิบดี )

ป.พ.พ. มาตรา 222, 453, 798, 821
ป.วิ.พ. มาตรา 249

มาตรา 222 การเรียกเอาค่าเสียหายนั้นได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น
เจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ แม้กระทั่งเพื่อความเสียหาย อันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือ ควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว

มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
มาตรา 798 กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็น หนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การ ตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย
มาตรา 821 บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทน ของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็น ตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
249 ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่น ฎีกานั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา และต้องเป็นข้อที่ ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้ง จะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วยการวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีข้อใดไม่ควรได้รับการ วินิจฉัยจากศาลฎีกา ให้กระทำโดยความเห็นชอบของรองประธาน ศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงอำนาจ ของประธานศาลฎีกาตาม มาตรา 140 วรรคสอง
ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวน พิจารณาชั้นฎีกา คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้าง ซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US