ฟ้องรวมกันใช้สิทธิเฉพาะตัวต้องแยกทุนทรัพย์

ฟ้องรวมกันใช้สิทธิเฉพาะตัวต้องแยกทุนทรัพย์
แม้โจทก์ทั้งสี่จะฟ้องรวมกันมาแต่ก็เป็นการที่โจทก์ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัว ดังนั้นทุนทรัพย์ของโจทก์จึงต้องถือเอาทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเป็นราย ๆ ไปและไม่ทำให้สิทธิในการฎีกาเปลี่ยนไปแต่อย่างใด ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดแก่โจทก์แต่ละคนไม่เกินสองแสนบาท(200,000 บาท) จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้จำเลยเป็นฝ่ายฎีกาแต่ฝ่ายเดียวก็แยกคิดทุนทรัพย์ระหว่างจำเลยกับโจทก์แต่ละคนเช่นเดียวกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4784/2539


โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องให้จำเลยที่ 4 กับพวก ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดให้แก่โจทก์ทั้งสี่แม้จะฟ้องรวมกันมา ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเป็นราย ๆ ไป โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าปลงศพ 20,000 บาท และฟ้อง เรียกค่าขาดไร้อุปการะโดยโจทก์ที่ 1 เรียกมา 50,000 บาท โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เรียกมา 400,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แต่ละคนเรียกร้องจำนวนเท่าใด แต่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ต่างก็เป็น บุตรผู้เยาว์ของผู้ตาย ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แต่ละคนคงไม่แตกต่างกันมาก จึงพออนุมานได้ว่าค่าขาดไร้อุปการะ ที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เรียกร้องมารวมกับค่าปลงศพ ที่แต่ละคนเรียกร้องมามีจำนวนไม่เกินคนละสองแสนบาทและค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องมาไม่เกินสองแสนบาทเช่นกัน
________________________________

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสุบรรณ์ ผู้ตาย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 และผู้ตาย เมื่อวันที่14 กันยายน 2532 ผู้ตายเข้ารับการทำคลอดโดยการใช้ยาสลบให้หมดสติที่โรงพยาบาลตำรวจ หลังจากนั้นได้พักฟื้นที่ห้องผู้ป่วยจนกระทั่งวันที่ 15 กันยายน 2532 เวลาประมาณ 13 นาฬิกาผู้ตายมีอาการปวดปัสสาวะแต่ไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้เนื่องจากสุขภาพร่างกายอ่อนเพลียจึงขอให้ญาติที่มาเยี่ยมแจ้งแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่พยาบาลอยู่ในขณะนั้นช่วยเหลือเป็นเวลาเดียวกับที่หมดเวลาเยี่ยมผู้ป่วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงให้ญาติของผู้ตายออกจากห้องผู้ป่วย และจำเลยที่ 1 พยุงผู้ตายลงจากเตียงพาเดินไปห้องสุขา ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังอย่างผู้ประกอบวิชาชีพ ทำให้ผู้ตายเป็นลมหมดสติ ล้มลงศีรษะกระแทกพื้นบริเวณหน้าห้องสุขาถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 470,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติงานในหน้าที่ของจำเลยที่ 1แต่หาได้ใช้ความระมัดระวังไม่ ปล่อยปละละเลยมิได้ใช้อำนาจหน้าที่สั่งการควบคุมการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่อโจทก์ทั้งสี่ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินจำนวน 470,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 35,250 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่

จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จากรายงานการตรวจศพของสถาบันนิติเวชวิทยาพบว่าผู้ตายมีกล้ามเนื้อหัวใจวายตายเก่าเป็นบางส่วนกรวยไตฝ่อตัวเล็กน้อย ทำให้มีโอกาสหน้ามืดและเป็นลมได้สูงกว่าคนปกติที่ได้รับการผ่าตัดเช่นผู้ตาย ซึ่งข้อบกพร่องนี้ทั้งแพทย์พยาบาลและจำเลยที่ 1 ไม่มีโอกาสรู้มาก่อนการตายของผู้ตายเป็นเพราะความบกพร่องของอวัยวะสำคัญของผู้ตายเอง หาใช่เกิดจากการบกพร่องของอวัยวะสำคัญของผู้ตายเอง หาใช่เกิดจากการบกพร่องต่อหน้าที่หรือความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสี่แต่อย่างใดไม่ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าใช้จ่ายในการปลงศพ ทั้งค่าเสียหายที่เรียกร้องมาสูงเกินกว่าสภาพปกติ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 15 กันยายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3

จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องให้จำเลยที่ 4 กับพวกร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดให้แก่โจทก์แต่ละคน แม้โจทก์ทั้งสี่จะฟ้องรวมกันมา ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละแยกกันเป็นราย ๆ ไปจากคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพร่วมกันมาเป็นเงิน 20,000 บาท และโจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะโดยโจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกมาเป็นเงิน 50,000 บาทโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ฟ้องเรียกรวมกันมาเป็นเงิน 400,000 บาทโดยไม่ปรากฏว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แต่ละคนเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงินจำนวนเท่าใด แต่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ต่างก็เป็นบุตรผู้เยาว์ของผู้ตาย ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 2ถึงที่ 4 แต่ละคนคงไม่แตกต่างกันมาก จึงพออนุมานได้ว่าค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เรียกร้องมารวมกับค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ ที่แต่ละคนเรียกร้องมามีจำนวนไม่เกินคนละสองแสนบาท และค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องมาไม่เกินสองแสนบาทเช่นกัน ซึ่งเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ทั้งสี่นี้ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าปลงศพค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพและค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 4ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระตามฟ้องส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 4ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดเป็นเงิน 30,000 บาท โดยศาลอุทธรณ์ฟังว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นผลมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 4 ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่ตามฟ้อง โดยอ้างว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตายมิได้เกิดจากการกระทำโดยละเมิดของจำเลยที่ 1และโจทก์ทั้งสี่มิได้รับความเสียหายตามจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ฎีกาของจำเลยที่ 4 จึงเป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเมื่อจำนวนทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 4 ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 4 ขึ้นมานั้นเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย"

พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 4

( ณรงค์ ตันติเตมิท - บุญธรรม อยู่พุก - ปรีชา บูรณะไทย )

หมายเหตุ

คดีที่โจทก์หลายคนใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนฟ้องรวมกันมาในคดีเดียวกันนั้นต้องแยกคิดทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกออกจากกัน ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 6483/2538ประชุมใหญ่

คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะรวมกันมาเป็นเงินทั้งสิ้น470,000 บาท แม้ไม่ได้แยกรายละเอียดว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการปลงศพเท่าไร ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์แต่ละคนเป็นเงินเท่าไร แต่เมื่อเป็นการฟ้องโดยใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนก็ไม่ทำให้สิทธิในการฎีกาเปลี่ยนไปแต่อย่างใดศาลฎีกาจึงคำนวณแยกคิดทุนทรัพย์ที่เรียกร้องของโจทก์แต่ละคนออกจากกัน และแม้จำเลยที่ 4 เป็นฝ่ายฎีกาแต่ฝ่ายเดียวก็แยกคิดทุนทรัพย์ระหว่างจำเลยที่ 4 กับโจทก์แต่ละคนเช่นเดียวกัน

ไพโรจน์ วายุภาพ

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US