ฟ้องผู้จัดการมรดกเกินห้าปีขาดอายุความ

การจัดการมรดกจะถือว่าสิ้นสุดลงเมื่อใดนั้น ต้องพิจารณาว่า ผู้จัดการมรดกได้โอนมรดกทั้งหมดของเจ้ามรดกให้แก่ทายาทไปเมื่อใด และกฎหมายกำหนดว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง" ในคดีนี้เจ้ามรดกมีที่ดิน 1 แปลงและเงินฝากในธนาคารจำนวนหนึ่งซึ่งผู้จัดการมรดกในได้โอนที่ดินให้ตนเองในฐานะทายาทโดยธรรมและเบิกถอนเงินที่อยู่ในบัญชีของเจ้ามรดกทั้งหมดในปี 2528 โจทก์มาฟ้องผู้จัดการมรดกเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกเสร็จคดีจึงขาดอายุความ
________________________________

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5628/2538 (ผู้จัดการมรดกกระทำผิดหน้าที่อ่านต่อคลิ๊กที่นี่)


แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจะเป็นกรณีที่ศาลอาจถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังมิได้มีคำสั่งถอดถอน จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีอำนาจในการจัดการมรดกได้ เมื่อทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดินกับเงินฝากธนาคารและจำเลยที่ 1ได้โอนที่ดินดังกล่าวและถอนเงินออกมาทั้งหมดแล้วตั้งแต่ปี 2528จึงถือได้ว่าการจัดการมรดกได้สิ้นสุดแล้วตั้งแต่ปี 2528 โจทก์ฟ้องคดีนี้ในปี 2535 เกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกเสร็จคดีจึงขาดอายุความ
________________________________

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวมณี นอนโพธิ์ ตามคำสั่งศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 100/2528มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกของนางสาวมณีให้แก่โจทก์และทายาทอื่น ๆแต่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกโดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกโฉนดเลขที่ 33083 เป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียวและยักยอกเอาเงินของนางสาวมณีจำนวน 70,000 บาท ซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารไป ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่ดินมรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยทุจริตเป็นการยักยอกและเบียดบังทรัพย์มรดกเอาเป็นของตนเองมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับโดยฉ้อฉลต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และการที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สมควรในการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งกำจัดจำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ให้ได้รับมรดกของนางสาวมณีและเพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวมณี โดยตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแทนและยกเลิกการจดทะเบียนโอนรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 33083 ตามคำขอของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2528 และเพิกถอนการทำนิติกรรมยกให้ที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 99 มีนาคม 2533 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 106,836.30 บาทแก่กองมรดกของนางสาวมณี พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 70,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระคืนเสร็จสิ้น

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้แบ่งทรัพย์มรดกอย่างถูกต้องตามหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมแล้ว และคดีของโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์ไม่ฟ้องร้องภายในกำหนด 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนางสาวเปรี่ยม นอนโพธิ์จำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวมณี นอนโพธิ์และกำจัดมิให้เป็นผู้รับมรดกของนางสาวมณีกับให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 33083 ตำบลบ้านโพธิ์อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม2528 และวันที่ 9 มีนาคม 2533 โดยให้ที่ดินกลับคืนสู่กองมรดกของนางสาวมณี

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวมณี นอนโพธิ์และกำจัดมิให้เป็นผู้รับมรดกของนางสาวมณี กับให้ยกคำขอที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2528และวันที่ 9 มีนาคม 2533 เสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 นางฉ่ำ พงษ์นาคินทร์นายดัด นอนโพธิ์ และนางสาวมณี นอนโพธิ์พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โดยเป็นบุตรของนายแดง นางเอ้บ นอนโพธิ์ ส่วนจำเลยที่ 2เป็นบุตรคนโตของนางฉ่ำ เมื่อปี พ.ศ. 2528 นางสาวมณีถึงแก่ความตาย มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 1 แปลงคือที่พิพาท และเงินฝากในธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขานครราชสีมา 70,000 บาท จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนางสาวมณี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวมณีเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์2528 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 100/2528 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่11 มีนาคม 2528 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวมณีได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้จัดการมรดก และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2533 จำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนยกที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเพราะจำเลยที่ 2 เป็นหลาน ตามเอกสารหมาย จ.7 ส่วนเงินฝากในธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขานครราชสีมา จำเลยที่ 1 ได้ถอนออกมาทั้งหมดคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่าการที่จะถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วต้องปรากฏว่าผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันมรดกให้แก่ทายาททุกคนแล้วแต่จำเลยที่ 1 ยังมิได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใดคงจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นของตนแต่ผู้เดียว และจำเลยที่ 1 เพิ่งโอนที่ดินมรดกแก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2533 จึงถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2528 นั้น เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์มีทรัพย์มรดกของนางสาวมณีอยู่เพียงที่พิพาทและเงินฝากในธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขานครราชสีมา 70,000 บาท สำหรับที่พิพาทปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่11 มีนาคม 2528 และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก แต่การโอนให้แก่จำเลยที่ 2 นั้นปรากฏว่าตามเอกสารหมาย จ.7 ว่า จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเพราะจำเลยที่ 2 เป็นหลาน ส่วนเงินฝากในธนาคารนั้นคู่ความนำสืบรับกันว่าภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแล้วจำเลยที่ 1 ได้ไปถอนเงินทั้งหมดจากธนาคาร แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองจะไม่ส่งอ้างหลักฐานการเบิกเงินของจำเลยที่ 1 ก็พอคาดคะเนตามหลักเหตุผลได้ว่าการที่อ้างว่านำไปชำระค่ารักษาพยาบาลและค่าจัดงานศพของนางสาวมณีแสดงว่าจำเลยที่ 1ได้เบิกเงินจำนวนดังกล่าวในปี พ.ศ. 2528 อันเป็นปีที่นางสาวมณีรักษาตัวและถึงแก่ความตายแล้วจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกนั่นเอง ดังนั้นเมื่อปรากฏว่านางสาวมณีมีทรัพย์มรดกอยู่เพียง 2 รายการ คือ ที่พิพาทและเงินฝาก 70,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้จัดการโอนที่พิพาทเป็นของตนและถอนเงินทั้งหมดออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 แม้การกระทำดังกล่าวเป็นกรณีที่ศาลอาจถอดถอนจำเลยที่ 1 จากผู้จัดการมรดกเสียได้ ในเมื่อศาลยังมิได้ถอดถอนจำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีอำนาจในการจัดการมรดก การที่จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ทำการโอนที่ดินมรดกและถอนเงินออกมาทั้งหมดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ก็ถือได้ว่าการจัดการมรดกได้สิ้นสุดลงเมื่อปีพ.ศ. 2528 โจทก์มาฟ้องในคดีนี้ในวันที่ 4 มีนาคม 2535 เกินกว่า5 ปี นับแต่การจัดการมรดกเสร็จ คดีโจทก์จึงขาดอายุความกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน
( ปรีชา บูรณะไทย - บุญธรรม อยู่พุก - ณรงค์ ตันติเตมิท )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5628/2538 คดีฟ้องผู้จัดการมรดกต้องฟ้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกสิ้นสุดลง การจัดการมรดกจะถือว่าสิ้นสุดลงเมื่อใดนั้น ต้องพิจารณาว่า ผู้จัดการมรดกได้โอนมรดกทั้งหมดของเจ้ามรดกให้แก่ทายาทไปเมื่อใด

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US