ฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยรู้ว่าคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ก็ตาม แต่ฟ้องระบุว่าจำเลยได้บังอาจช่วยเหลือซ่อนเร้นคนต่างด้าวย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยรู้ว่าคนต่างด้าวนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2552

พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาคร โจทก์

โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยรู้ว่าคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 แต่การที่ฟ้องโจทก์ระบุว่า จำเลยได้บังอาจช่วยเหลือซ่อนเร้นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 อันเป็นการช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวพ้นจากการจับกุมก็ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยรู้ว่าคนต่างด้าวนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง และเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม (น่าจะปี 2550) เวลากลางวันจำเลยได้บังอาจช่วยเหลือ ซ่อนเร้นนายชัช ไม่มีชื่อสกุล กับพวกรวม 15 คน ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติพม่า สัญชาติพม่า ที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 โดยซ่อนเร้นและรับคนต่างด้าวดังกล่าวขึ้นรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ออ 8692 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยเป็นผู้ขับ จากตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ไปตามถนนเดิมบาง-บ้านขอม มุ่งหน้าไปตำบลคอกกระบือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวพ้นจากการจับกุม ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64
จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 (ที่ถูก มาตรา 64 วรรคหนึ่ง) จำคุก 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจช่วยเหลือ ซ่อนเร้น นายชัช ไม่มีชื่อสกุล กับพวกรวม 15 คน ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติพม่า สัญชาติพม่า ที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ได้บังอาจซ่อนเร้นและรับคนต่างด้าวขึ้นรถยนต์ที่จำเลยเป็นผู้ขับ ไปตามถนนเดิมบาง-บ้านขอม อันเป็นการช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวพ้นจากการจับกุม เห็นว่า แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยรู้ว่าคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ก็ตาม แต่การที่ฟ้องโจทก์ระบุว่า จำเลยได้บังอาจช่วยเหลือซ่อนเร้นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 อันเป็นการช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวพ้นจากการจับกุมก็ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยรู้ว่าคนต่างด้าวนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง และเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ ทั้งเป็นคดีที่หากศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยแล้ว อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิในการฎีกาของคู่ความได้ จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

( ศุภชัย สมเจริญ - เฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์ - สนอง เล่าศรีวรกต )
ป.วิ.อ. มาตรา 158
มาตรา 158 ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี
(1) ชื่อศาลและวันเดือนปี
(2) คดีระหว่างผู้ใดโจทก์ ผู้ใดจำเลย และฐานความผิด
(3) ตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ ถ้าราษฎรเป็นโจทก์ ให้ใส่ชื่อตัว นามสกุล อายุ ที่อยู่ ชาติและบังคับ
(4) ชื่อตัว นามสกุล ที่อยู่ ชาติและบังคับของจำเลย
(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลย เข้าใจข้อหาได้ดี
ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียนหรือสิ่งอื่น อันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง
(6) อ้าง มาตรา กฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็น ความผิด
(7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US