พิพากษาเกินคำขอไม่ได้ | การบรรยายฟ้อง

พิพากษาเกินคำขอไม่ได้ | การบรรยายฟ้อง
การพิพากษาต้องพิพากษาตามคำขอของโจทก์ หากโจทก์ประสงค์จะให้หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดเนื่องจากสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างจะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯอย่างไร แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญ แม้นำสืบว่า จำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานก็เป็นการนำสืบนอกเหนือไปจากคำฟ้อง ศาลพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ได้

จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วน จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าที่ดินของโจทก์มีกำหนดเวลา 1 ปี อัตราค่าเช่าปีละ 320,000 บาท เมื่อครบกำหนดเวลาเช่าแล้วไม่มีการต่ออายุสัญญาเช่า โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่และบริวารออกจากที่ดินของโจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตาม โจทก์ได้นำสืบแล้วว่าจำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 อย่างไร จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์นั้น คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น และห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง....ดังนั้น หากโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 3 ที่เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดซึ่งตามปกติจะจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนที่ตนรับจะลงหุ้น ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวน เนื่องจากสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้าง โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 แต่คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ 1 โดยมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญที่ทำให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิด จึงถือไม่ได้ว่าตามคำฟ้องของโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิด แม้นำสืบว่า จำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 ก็เป็นการนำสืบนอกเหนือไปจากคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 28/2549

โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โดยมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญที่ทำให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิด จึงถือไม่ได้ว่าตามคำฟ้องของโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเนื่องจากสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จำสืบว่าจำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 ก็เป็นการนำสืบนอกเหนือไปจากคำฟ้อง ศาลไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2431 จำเลขที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลขที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเช่าที่บางส่วนประมาณ 21 ตารางวา ของโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจากโจทก์แทนที่ 1 มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 1 ปี สิ้นสุดสัญญาเช่าในวันที่ 1 มิถุนายน 2541 เพื่อก่อสร้างโครงเหล็กใช้ในการติดตั้งป้ายโฆษณากลางแจ้งและสร้างเป็นอาคารสำนักงานตกลงค่าเช่าในอัตราปีละ 320,000 บาท ต่อมาหลังจากสัญญาเช่าครบกำหนด โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่และบริวารออกจากที่ดินดังกล่าวพร้อมทั้งทำการรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้าง วัสดุต่าง ๆ และปรับสภาพที่ดินให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยเหมือนเดิม แต่จำเลยทั้งสี่และบริวารไม่ยอมออก โจทก์จึงมอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินของโจทก์และชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดิน โจทก์อาจให้เช่าได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 320,000 บาท หรือเดือนละ 26,667 บาท นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี 7 เดือน 15 วัน คิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 519,995 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2431 เลขที่ดิน 54 แขวงสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) เขตพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 519,995 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำชำระเสร็จ และให้ชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 26,667 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่และบริวารจะออกจากที่ดินและส่งมอบที่ดินคืนโจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เช่าที่ดินดังกล่าวจากโจทก์เพื่อติดตั้งป้ายโฆษณา แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถติดตั้งป้ายโฆษณาได้เพราะมีป้ายของบุคคลอื่นบังขวางอยู่ เรื่องอยู่ระหว่างการเจรจาย้ายป้ายที่บังขวางอยู่ออกไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ผิดสัญญา จำเลยที่ 3 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายของโจทก์หากมีก็ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวจำเลยที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่และบริวารขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2431 เลขที่ดิน 54 แขวงสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) เขตพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 519,995 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนชำระเสร็จ (วันฟ้อง 16 กุมภาพันธ์ 2543) และให้ชำระค่าเสียหายเดือนละ 26,667 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและส่งมอบคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย กับให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วน มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าที่ดินของโจทก์มีกำหนดเวลา 1 ปี อัตราค่าเช่าปีละ 320,000 บาท เมื่อครบกำหนดเวลาเช่าแล้วไม่มีการต่ออายุสัญญาเช่า โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่และบริวารออกจากที่ดินของโจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตาม มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า โจทก์ได้นำสืบแล้วว่าจำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 อย่างไร จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า " คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น" และมาตรา 142 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง...." ดังนั้น หากโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 3 ที่เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดซึ่งตามปกติจะจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนที่ตนรับจะลงหุ้น ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวน เนื่องจากสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้าง โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 แต่คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ 1 โดยมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญที่ทำให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิด จึงถือไม่ได้ว่าตามคำฟ้องของโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเนื่องจากสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 แม้นำสืบว่า จำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 ก็เป็นการนำสืบนอกเหนือไปจากคำฟ้อง กรณีไม่อาจให้จำเลยที่ 3 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 วรรคหนึ่งได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 172 ภายใต้บังคับบทบัญญัติ มาตรา 57 ให้โจทก์เสนอ ข้อหาของตนโดยทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้น
คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และ คำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น
ให้ศาลตรวจคำฟ้องนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้ยกเสีย หรือ ให้คืนไปตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 18

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1088 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดได้เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิด รวมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน
แต่การออกความเห็นและแนะนำก็ดี ออกเสียงเป็นคะแนนนับในการตั้งและถอดถอนผู้จัดการตามกรณีที่มีบังคับไว้ในสัญญาหุ้นส่วนนั้นก็ดี ท่านหานับว่าเป็นสอดเข้าเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US