ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเพื่อคำนวณจ่ายค่าชดเชย

ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเพื่อคำนวณจ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง ค่าจ้างจึงต้องเป็นค่าตอบแทนในการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติได้รับค่าเที่ยวจำนวนเที่ยวละ 100 บาท ถึง 650 บาท โดยนายจ้างและลูกจ้างเป็นผู้ตกลงกำหนดตามระยะทางใกล้ไกลและความยากง่ายของงานสำหรับการทำงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7287/2550

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ประกอบธุรกิจรับจ้างนำรถลากไปลากตู้คอนเทนเนอร์เพื่อนำสินค้าของลูกค้าไปส่งยังท่าเรือเพื่อส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ นายสมศักดิ์ เป็นลูกจ้างของโจทก์ ตำแหน่งพนักงานขับรถเข้าทำงานเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2541 มีหน้าที่ขับรถหัวลากตามใบสั่งงานของโจทก์ แล้วนำรถหัวลากไปลากตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจากตัวแทนของบริษัทเรือ และนำตู้คอนเทนเนอร์ไปยังที่เก็บสินค้าของลูกค้าเพื่อนำสินค้าบรรจุลงในตู้คอนเทนเนอร์ เสร็จแล้วจึงขับรถลากตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งยังท่าเรือเพื่อส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ นายสมศักดิ์ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน เดือนละ 5,500 บาท และได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเที่ยวเป็นจำนวนเที่ยวละ 100 บาท ถึง 650 บาท โดยพิจารณาจากระยะทางใกล้ไกลและความยากง่ายของงานในวันที่ 3 กรกฎาคม 2546 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา โจทก์มอบหมายให้นายสมศักดิ์ไปขนสินค้าที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม แต่นายสมศักดิ์ปฏิเสธไม่ขับรถหัวลากให้โจทก์ เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บที่แขนขวา และในวันดังกล่าวได้ปฏิบัติงานเป็นเวลาประมาณ 6 ชั่วโมงแล้ว วันที่ 15 กรกฎาคม 2546 โจทก์จึงเลิกจ้างนายสมศักดิ์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย นายสมศักดิ์ได้รับค่าเที่ยวสำหรับการทำงานในเวลาทำงาน 180 วัน ก่อนการเลิกจ้างคิดเป็นเงิน 45,750 บาท เป็นการทำงานในระหว่างเวลาทำงานปกติคิดเป็นร้อยละ 30 ของค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเที่ยวทั้งหมดและทำงานนอกเวลาทำงานปกติคิดเป็นร้อยละ 70 ของค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเที่ยวทั้งหมด ขณะเลิกจ้างนายสมศักดิ์ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างติดต่อกันเกินกว่า 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี

โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่า นายสมศักดิ์ลูกจ้างปฏิเสธไม่ขับรถหัวลากเพราะได้รับค่าเที่ยวลดน้อยลง ทั้งนายสมศักดิ์ได้แสดงใบรับรองแพทย์ ภายหลังจากโจทก์เลิกจ้างนายสมศักดิ์แล้ว นายสมศักดิ์จึงมีเจตนาฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 20 คำสั่งของโจทก์ที่เลิกจ้างนายสมศักดิ์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ชอบแล้ว เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่านายสมศักดิ์ปฏิเสธไม่ขับรถหัวลากเนื่องจากนายสมศักดิ์ประสบอุบัติเหตุตกจากรถและแขนขวาได้รับบาดเจ็บ นายสมศักดิ์ไม่ได้จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยเป็นประการสุดท้ายว่าเงินค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงที่นายสมศักดิ์ได้รับจากโจทก์เป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณเป็นค่าชดเชยหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มิได้มีเจตนาที่จะจ่ายให้เป็นค่าตอบแทนการทำงานปกติ จึงไม่ต้องนำค่าเที่ยวส่วนที่ทำในเวลางานปกติร้อยละ 30 มารวมคำนวณกับค่าจ้างปกติ และจำเลยอุทธรณ์ว่าต้องนำค่าเที่ยวส่วนที่ทำนอกเวลางานปกติร้อยละ 70 มาคำนวณรวมกับค่าเที่ยวส่วนที่ทำในเวลางานปกติร้อยละ 30 ด้วยนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า "เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้" ดังนั้น ค่าจ้างจึงต้องเป็นค่าตอบแทนในการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2547 ได้ความว่านายสมศักดิ์ได้รับค่าเที่ยวจำนวนเที่ยวละ 100 บาท ถึง 650 บาท โดยนายจ้างและลูกจ้างเป็นผู้ตกลงกำหนดตามระยะทางใกล้ไกลและความยากง่ายของงานสำหรับการทำงานในเวลาทำงาน 180 วัน ก่อนการเลิกจ้างคิดเป็นเงิน 45,750 บาท เป็นการทำงานในระหว่างเวลาทำงานปกติคิดเป็นร้อยละ 30 ของค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเที่ยวทั้งหมด และทำงานนอกเวลาทำงานปกติคิดเป็นร้อยละ 70 ของค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเที่ยวทั้งหมด ค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเที่ยวดังกล่าวจึงเป็นเงินที่โจทก์และนายสมศักดิ์ตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง และส่วนที่ตอบแทนการทำงานสำหรับระยะเวลาทำงานปกติร้อยละ 30 ตามที่คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันจึงเป็นค่าจ้างแต่ส่วนที่ตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติร้อยละ 70 ไม่เป็นค่าจ้าง ค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเที่ยวที่เป็นค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยจำนวนร้อยละ 30 ของค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเที่ยวทั้งหมดจำนวน 45,750 บาท คิดเป็นเงิน 13,725 บาท เมื่อคำนวณเป็นรายเดือนจึงเป็นเงินเดือนละ 2,287.50 บาท เมื่อรวมกับเงินเดือนที่นายสมศักดิ์ได้รับเดือนละ 5,500 บาท จึงเป็นเงินค่าจ้างเดือนละ 7,787.50 บาท นายสมศักดิ์ทำงานติดต่อกันครบสามปีแต่ไม่ครบหกปี โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายสมศักดิ์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (3) นายสมศักดิ์ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 46,725 บาท คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา 5 "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่าย เป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำ งานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะ เวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำ งานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างให้แก่ ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับ ตามพระราชบัญญัตินี้
"ค่าจ้างในวันทำงาน" หมายความว่า ค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการทำ ทำงานเต็มเวลาการทำงานปกติ
มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้
(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่ไม่ครบหนึ่งปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีแต่ไม่ครบหกปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปีแต่ไม่ครบสิบปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(5) ลูกล้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่าการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใดและหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น
การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้ สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตาม ฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้นซึ่งงานนั้นจะต้อง แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US