ความเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมาย

ความเดือดร้อนเกินที่ควรคิด
ศาลชั้นต้นเห็นว่า*แม้บ้านและสิ่งก่อสร้างของจำเลยทั้งสองจะปลูกสร้างรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ดังที่โจทก์อ้างหรือไม่ก็ตาม แต่โจทก์ยังสามารถใช้ทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ภายนอกได้ แม้โจทก์จะไม่ได้รับความสะดวกเพราะทางบางช่วงแคบก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษและเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337

ข้อเท็จจริงที่จะนำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่นั้นยังไม่ปรากฏจากคำฟ้องและการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบต่อไปจนสิ้นกระแสความ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยทั้งสองหลังจากสืบพยานโจทก์ได้เพียงปากเดียวแล้วพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองให้เสร็จสิ้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5204/2549

อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การฟังได้ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ โจทก์ชอบที่จะใช้สอยทางพิพาทได้ การที่จำเลยปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในทางอันเป็นการกีดขวางการเข้าออกที่ดินของโจทก์ แม้โจทก์จะเข้าออกได้แต่ก็ขาดความสะดวก จึงเป็นการใช้สิทธิของตนอันมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 421, 1337 เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์มีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนให้สิ้นไปได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทางพิพาทได้นั้น เป็นการอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงไม่ถูกต้อง ไม่ฟังข้อเท็จจริงที่ควรจะฟังอันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นและเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงว่า การที่จำเลยปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร และได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 13940 ทิศตะวันตกของที่ดินดังกล่าวติดทางสาธารณประโยชน์ กว้าง 3 เมตร ซึ่งโจทก์ใช้เข้าออกที่ดินและบ้านของโจทก์ไปสู่ทางสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นทางเข้าหมู่บ้าน จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2956 ด้านทิศตะวันออกของที่ดินดังกล่าวติดทางสาธารณประโยชน์ยาวตลอดแนวจากทิศเหนือจดทิศใต้ซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่โจทก์ใช้เข้าออกที่ดินและบ้านของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 15/2 ซึ่งปลูกลงในที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณปี 2545 ถึง 2546 จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างโรงเรือนที่ใช้เป็นร้านค้าขายของชำและห้องพักให้ผู้อื่นเช่า ผนังและชายคาด้านทิศตะวันออกรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยที่ 1 ทำความตกลงยินยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ต่อองค์การบริหารส่วนตำบลบางเดื่อ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว กลับนำเสาคอนกรีตมาปักแล้วขึงลวดหนามเป็นรั้วยาวตลอดแนวประมาณ 48 เมตร รุกล้ำในทางสาธารณประโยชน์ที่โจทก์ใช้เข้าออกที่ดินของโจทก์ ทำให้ทางบางช่วงเหลือทางเข้าออกเพียง 2.50 เมตร เมื่อปี 2535 จำเลยที่ 2 ได้ปลูกสร้างบ้านเลขที่ 15/2 ลงในที่ดินของจำเลยที่ 1 ผนังด้านทิศตะวันออกและชายคารุกล้ำเข้ามาในทางสาธารณประโยชน์ทำให้โจทก์เหลือทางเข้าออกประมาณ 1.60 เมตร โจทก์แจ้งเหตุแห่งความเสียหายและความเดือดร้อนแก่จำเลยทั้งสองเพื่อรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำทางสาธารณประโยชน์แล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้หรือได้รับประโยชน์เข้าออกทางสาธารณประโยชน์ได้โดยสะดวก อันเป็นการใช้สิทธิของจำเลยทั้งสองซึ่งมีแต่ให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ตามปกติอันถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอนให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างร้านค้าและห้องแถวอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 ห้องแถวด้านหลังติดทางสาธารณประโยชน์ และทำรั้วลวดหนามตามแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยมีหลักเขตของที่ดินบ่งบอกเป็นหลักฐานตลอดแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 ด้านที่ติดกับทางสาธารณประโยชน์ จำเลยที่ 1 มิได้บุกรุกหรือล้อมรั้วรุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์ ทางสาธารณประโยชน์พิพาทแต่เดิมเป็นทางควายเดิน ต้นทางจากคลองบางเดื่อไปสุดทางที่ที่ดินของนายทองอยู่ ทางดังกล่าวคดเคี้ยว มีความกว้างประมาณ 3 เมตร โจทก์และบุคคลอื่นไม่มีทางออก นายทองอยู่จึงอนุญาตให้ใช้ที่ดินเป็นทางออกกว้าง 3 เมตร ยาว 13.50 เมตร เมื่อปี 2547 ผู้ใช้ทางสาธารณประโยชน์ร้องเรียนต่อองค์การบริหารส่วนตำบลบางเดื่อว่าจำเลยที่ 1 ปลูกห้องแถวรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ เมื่อองค์การบริหารส่วนตำบลบางเดื่อเข้าตรวจสอบปรากฏว่าชายคาห้องแถวรุกล้ำจึงได้ทำหนังสือเป็นบันทึกลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 ให้จำเลยที่ 1 ตัดชายคาห้องแถวให้เสร็จภายในวันที่ 25 เมษายน 2547 จำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการรื้อสิ่งที่รุกล้ำทางสาธารณประโยชน์เสร็จก่อนกำหนด ทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริการส่วนตำบลบางเดื่อหากมีผู้บุกรุกหรือละเมิดการฟ้องคดีต้องให้องค์การบริหารส่วนตำบลบางเดื่อเป็นผู้ดำเนินการ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ปลูกบ้านเลขที่ 15/2 ถัดจากร้านค้าและห้องแถวของจำเลยที่ 1 ผนังบ้านด้านทิศตะวันออกติดทางสาธารณและมิได้รุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ ผนังบ้านของจำเลยที่ 2 ตลอดแนวจากผนังบ้านไปถึงรั้วฝั่งตรงข้ามมีความกว้าง 3 เมตรเศษ ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า โจทก์ขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โดยมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และมีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาพอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าแม้บ้านและสิ่งก่อสร้างของจำเลยทั้งสองจะปลูกสร้างรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ดังที่โจทก์อ้างหรือไม่ก็ตาม แต่โจทก์ยังสามารถใช้ทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ภายนอกได้ แม้โจทก์จะไม่ได้รับความสะดวกเพราะทางบางช่วงแคบก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษและเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 เมื่อฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทางพิพาทตามฟ้องได้ โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยทั้งสองฟังได้ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ โจทก์ซึ่งเป็นประชาชนคนหนึ่งชอบที่จะใช้สอยทางพิพาทได้โดยสะดวก การที่จำเลยทั้งสองใช้สิทธิของตนปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในทางสาธารณประโยชน์อันเป็นการกีดขวางการเข้าออกที่ดินของโจทก์แม้โจทก์จะเข้าออกได้ แต่โจทก์ก็ขาดความสะดวกในการใช้ทางพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการใช้สิทธิของตนอันมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421, 1337 เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์มีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนให้สิ้นไปได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทางพิพาทตามฟ้องได้นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวนั้น เป็นการอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงไม่ถูกต้อง ไม่ฟังข้อเท็จจริงที่ควรจะฟัง อันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น และเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงว่า การที่จำเลยทั้งสองปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในทางสาธารณประโยชน์อันเป็นการกีดขวางการเข้าออกที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร และได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้นจึงไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม คดีมีข้อเท็จจริงที่ยังโต้เถียงกันอยู่ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรอย่างไร มากน้อยเพียงใด แต่ข้อเท็จจริงที่จะนำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่นั้นยังไม่ปรากฏจากคำฟ้องและการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบต่อไปจนสิ้นกระแสความ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยทั้งสองหลังจากสืบพยานโจทก์ได้เพียงปากเดียวแล้วพิพากษายกฟ้อง จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในการพิจารณาคดีและการพิจารณาพยานหลักฐานเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยให้เพิกถอนคำพิพากษาและคำสั่งงดสืบพยานของศาลชั้นต้นเสียได้ แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอเช่นนั้นในอุทธรณ์ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบมาตรา 243 (2), 247”

พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองให้เสร็จสิ้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.
( มนตรี ยอดปัญญา - สบโชค สุขารมณ์ - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล )

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US