ของกลางที่พนักงานสอบสวนยึดไว้ | คดีถึงที่สุด

ของกลางที่พนักงานสอบสวนยึดไว้ | คดีถึงที่สุด
พนักงานสอบสวนมีอำนาจค้นและยึดสิ่งของซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ การยึดทรัพย์ของกลาง เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย และมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วต้องคืนแก่ผู้ต้องหาหรือผู้อื่นซึ่งมีสิทธิการที่ศาลฎีกาพิพากษายืนให้คืนของกลางแก่จำเลยเป็นเพียงการวินิจฉัยเรื่องของกลางที่พนักงานสอบสวนยึดไว้นั้นให้ดำเนินการคืนแก่ผู้เป็นเจ้าของ แต่จำเลยไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขอให้ศาลบังคับคดีแก่โจทก์ร่วมผู้เก็บรักษาของกลางไว้ พนักงานสอบสวนผู้ยึดทรัพย์ของกลางนี้ไว้เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาและคืนของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3666/2553

พนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา โจทก์

เจ้าพนักงานตำรวจยึดทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องรวม 7 รายการ เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน ต่อมาพนักงานสอบสวนให้โจทก์ร่วมรับมอบทรัพย์ดังกล่าวไปเก็บรักษาไว้ในระหว่างดำเนินคดี เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้คืนทรัพย์ของกลางแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยในเรื่องของกลางตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) อันเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนผู้ยึดทรัพย์ของกลางไว้มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวนั่นเอง ทั้งมิใช่คดีที่มีข้อหาหรือข้อพิพาทกันว่า โจทก์ร่วมยึดถือหรือครอบครองทรัพย์ของกลางของจำเลยที่ 1 ไว้โดยมิชอบที่จะบังคับให้โจทก์ร่วมคืนให้แก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ย่อมไม่ตกอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขอให้ศาลบังคับคดีเพื่อให้โจทก์ร่วมคืนทรัพย์ของกลางแก่จำเลยที่ 1 ได้
________________________________

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันลักทรัพย์รวม 14 รายการ ของบริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด ผู้เสียหาย ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2528 และวันที่ 18 มกราคม 2529 เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้รถเกรด 2 คัน รถแทรกเตอร์ รถบดสั่นสะเทือน 2 คัน รถบดล้อยาง และรถน้ำ 2 คัน รวม 7 รายการ ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับที่ 7 ถึง 14 เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 , 83 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 1 ถึง 6 แก่ผู้เสียหาย ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสาม และให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 1 ถึงที่ 6 แก่โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง และให้คืนทรัพย์ของกลางตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับที่ 7 ถึง 14 แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของ โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน

ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์และโจทก์ร่วมคืนทรัพย์ของกลางตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับที่ 7 ถึง 14 ให้จำเลยที่ 1 แต่โจทก์และโจทก์ร่วมไม่ยอมคืนทรัพย์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับ ศาลชั้นต้นได้ออกคำบังคับแล้ว แต่โจทก์และโจทก์ร่วมก็ยังไม่ยอมส่งคืนทรัพย์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ซึ่งศาลชั้นต้นก็ออกหมายบังคับคดีให้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าโจทก์ร่วมจงใจไม่คืนทรัพย์ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมมาเพื่อบังคับคดีให้คืนทรัพย์แก่โจทก์ร่วม

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายจับนายจำนงค์ กรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมมากักขังเพื่อบังคับคดี
โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิขอให้ศาลบังคับคดีแก่โจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 วรรคหนึ่ง และ 132 (4) พนักงานสอบสวนมีอำนาจค้นและยึดสิ่งของซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนยึดทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องของโจทก์อันดับที่ 7 ถึง 14 ไว้เป็นของกลาง จึงเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 85 วรรคหนึ่ง และ 132 (4) ดังกล่าว และพนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ต้องคืนแก่ผู้ต้องหาหรือผู้อื่นซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 วรรคสาม จึงเห็นได้ว่า เมื่อทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์ของกลางที่พนักงานสอบสวนยึดไว้เพื่อการสอบสวนและดำเนินคดีจนคดีถึงที่สุด การที่ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้คืนทรัพย์เหล่านี้แก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นเพียงการวินิจฉัยและพิพากษาในเรื่องของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) ซึ่งในคดีนี้ย่อมหมายถึงการพิพากษาถึงทรัพย์ของกลางที่พนักงานสอบสวนยึดไว้นั้นให้ดำเนินการโดยให้คืนแก่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของ อันเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนผู้ยึดทรัพย์ของกลางนี้ไว้เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวนั่นเอง โดยที่คดีนี้มิใช่คดีที่มีข้อหาหรือข้อกล่าวอ้างที่พิพาทกันว่า โจทก์ร่วมยึดถือหรือครอบครองทรัพย์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายในอันที่จะพิจารณาและพิพากษาบังคับให้โจทก์ร่วมคืนทรัพย์นี้แก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด คำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้คืนทรัพย์ของกลางตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องของโจทก์อันดับที่ 7 ถึง 14 จึงไม่ใช่คำพิพากษาบังคับในลักษณะให้โจทก์ร่วมเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาด้วยการคืนทรัพย์ของกลางนี้แก่จำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขอให้ศาลบังคับคดีแก่โจทก์ร่วมเพื่อให้ โจทก์ร่วมคืนทรัพย์ของกลางนี้แก่จำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 249 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการบังคับคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำร้องของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
( ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร - ยงยุทธ สุเรนทร์รังสิกุล - ชัยยันต์ ศุขโชติ )
ศาลจังหวัดนครราชสีมา - นายวิวุฒิ มณีนิล
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US