การฟ้องขอให้ลูกหนี้ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อ อำนาจฟ้อง การจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้

การฟ้องขอให้ลูกหนี้ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อ อำนาจฟ้อง การจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้
เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน แต่การฟ้องขอให้จำเลยซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนเป็นหนี้ที่มิอาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2550

แม้ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 จะบัญญัติว่าเมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ ฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ และห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน แต่การฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยมิได้เรียกร้องค่าเสียหายอื่น เป็นการขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง และเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนเป็นหนี้ที่มิอาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 26

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่โจทก์ฟ้องว่า ก่อนฟ้องคดีนี้จำเลยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดกรณีจึงเป็นไปตามมาตรา 15 และ 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยคดีนี้ได้ จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง จำหน่ายคดีออกจากสารบบความคืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ทั้งหมด
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 บัญญัติว่า “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้” เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์คืน แต่จำเลยไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ ถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อติดตามทรัพย์สินของโจทก์คืนได้แม้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ 24 จะบัญญัติว่าเมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ ฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ และห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตนดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก็ตาม แต่มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ก็บัญญัติว่า “ตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้จะฟ้องคดีแพ่งอันเกี่ยวกับหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้...” ดังนี้ จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นคดีเฉพาะหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเท่านั้น เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์คืน โดยมิได้เรียกร้องค่าเสียหายอื่นจากจำเลย เป็นการขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งและเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนเป็นหนี้ที่มิอาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีต่อศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 26 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่.
( สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์ - รัตน กองแก้ว - สุรศักดิ์ สุวรรณประกร )

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 55 เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งหรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลบุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
มาตรา 22 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดั่งต่อไปนี้
(1) จัดการจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป
(2) เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น
(3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

มาตรา 24 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US