การจับกุมมิชอบกับการฟ้องคดีอาญา
ตำรวจไม่ได้อ่านข้อความในบันทึกการจับกุมให้จำเลยฟังเป็นการจับกุมโดยชอบหรือไม่? และให้จำเลยลงชื่อโดยไม่แจ้งสิทธิแก่จำเลยทราบชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? การจับกุมมิชอบด้วยกฎหมายประการใดหรือไม่ก็ตามเป็นคนละขั้นตอนกับการสอบสวน หากจับกุมไม่ชอบก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวต่อกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่กระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีอาญา การสอบสวนที่มิได้ทำการสอบสวนต่อหน้าทนายความหรือให้โอกาสแก่จำเลยได้พบและปรึกษากับทนายความก่อนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 99/2541
พนักงานอัยการ จังหวัด ราชบุรี โจทก์
แม้การจับกุมจะมิชอบด้วยกฎหมายประการใดหรือไม่ก็ตามก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวต่อกันอีกส่วนหนึ่งต่างหากไม่กระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 จำเลยจะยกขึ้นฎีกาในปัญหาข้อนี้มิได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาตอนหนึ่งว่าการ สอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้ทำต่อหน้าทนายความหรือให้โอกาสแก่จำเลยได้พบและปรึกษากับทนายความก่อนนั้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่มีปัญหาเข้าสู่การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 เนื่องจากจำเลยไม่เคยยกปัญหานี้ขึ้นโต้แย้งในศาลดังกล่าว ฎีกาของจำเลยจึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 วรรคหนึ่งนอกจากนี้แม้จำเลยจะอ้างว่าประสงค์จะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแต่ในเมื่อจำเลยต้องอ้างอิงถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งศาลจะวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายได้ก็ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่านี้เสียก่อนว่าเป็นประการใดเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นฎีกา ฎีกาของจำเลยในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเพียงแต่แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า คำขอที่ให้บวกโทษของจำเลยให้ยกเสีย เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยมาศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
________________________________
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 2 เม็ด หนัก 0.14 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อขายและจำเลยได้ขายเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่ออันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6, 13 ทวิ, 59, 62, 89, 106 และบวกโทษจำคุกจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1258/2537 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษในคดีนี้ คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีก่อนที่ศาลรอการลงโทษไว้ตามฟ้องจริง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 จำคุก 6 ปี คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน บวกโทษจำคุกจำเลย 4 ปี 6 เดือน บวกโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1258/2537ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษในคดีนี้ รวมจำคุก 4 ปี 12 เดือนคืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า คำขอของโจทก์ที่ให้นำโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1258/2537ของศาลชั้นต้นบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ให้ยกเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ฎีกาของจำเลยตอนแรกอ้างว่า เจ้าพนักงานตำรวจจัดทำบันทึกการจับกุมโดยไม่ได้อ่านข้อความให้จำเลยฟัง และให้จำเลยลงชื่อโดยไม่แจ้งสิทธิแก่จำเลยทราบอันเป็นคนละตอนกับการสอบสวนซึ่งผู้จับกุมจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 77 ถึงมาตรา 86 เห็นว่า ถึงแม้การจับกุมจะมิชอบด้วยกฎหมายประการใดหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวต่อกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่กระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 จำเลยจะยกขึ้นฎีกาในปัญหาข้อนี้มิได้ ส่วนฎีกาของจำเลยตอนหนึ่งที่ว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้ทำการสอบสวนต่อหน้าทนายความหรือให้โอกาสแก่จำเลยได้พบและปรึกษากับทนายความก่อนนั้น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่มีปัญหาเข้าสู่การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 เนื่องจากจำเลยไม่เคยยกปัญหานี้ขึ้นโต้แย้งในศาลดังกล่าว ฎีกาของจำเลยจึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง อีกโสดหนึ่ง นอกจากนี้แม้จำเลยจะอ้างว่าประสงค์จะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแต่ในเมื่อจำเลยต้องอ้างอิงถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งศาลจะวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายได้ก็ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่านี้เสียก่อนว่าเป็นประการใด เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นฎีกา ฎีกาของจำเลยในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเพียงแต่แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า คำขอที่ให้บวกโทษของจำเลยให้ยกเสีย เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งแม้ศาลชั้นต้นจะสั่ง รับฎีกาของจำเลยมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้"
พิพากษายกฎีกาจำเลย
( ระพิณ บุญสิทธิ์ - สุชาติ ถาวรวงษ์ - สมศักดิ์ วงศ์ยืน )