การจัดการทำศพ | สามีนอกกฎหมาย

สามีมิได้จดทะเบียนสมรสหรือสามีนอกกฎหมายไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพภริยาผู้ตาย สามีมิได้จดทะเบียนสมรสจึงมิได้เป็นทายาทของภริยาผู้ตายและไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพภริยาผู้ตาย แต่สามีอยู่กินเป็นสามีภริยากับผู้ตายมานานกว่า 10 ปี นับได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการทำศพผู้ตายได้
ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ หรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวน มากที่สุดเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อบุคคล ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2696/2548

จำเลยที่ 1 มิได้เป็นทายาทของผู้ตายและไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพผู้ตาย แต่จำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายมานานกว่า 10 ปี โดยผู้ตายนั้นมานับถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 นับได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการทำศพผู้ตายได้ หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกมากที่สุด อันมีอำนาจหน้าที่จัดการทำศพของผู้ตายไม่สมควรเป็นผู้จัดการทำศพตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การต่อสู้คดีพอถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศพผู้ตายได้มีการจัดการฝังแล้วตามหลักศาสนาอิสลามที่ผู้ตายนับถือจึงหมดความจำเป็นที่จะนำศพผู้ตายขึ้นมาจัดการทำศพ โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกให้ส่งมอบศพผู้ตายให้แก่โจทก์เพื่อจัดการทำศพอีก

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบศพของนางถนอมให้แก่โจทก์และพนักงานสอบสวนเพื่อนำส่งโรงพยาบาลนิติเวชทำการตรวจชันสูตรพลิกศพหาสาเหตุแห่งการตายและเพื่อโจทก์จะได้นำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถส่งมอบได้ขอให้ศาลสั่งให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการแทน โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบศพนางถนอมผู้ตายให้แก่โจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมนั้นเห็นสมควรให้เป็นพับและคำขออื่นให้ยกเสีย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นบุตรของผู้ตาย ภายหลังจากผู้ตายแยกทางกับบิดาโจทก์แล้ว ต่อมาผู้ตายได้มาอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 10 กว่าปีจนถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 1 นับถือศาสนาอิสลามได้ประกอบพิธีศพผู้ตายตามศาสนาอิสลามและนำไปฝังไว้ที่สุสานมัสยิดของจำเลยที่ 2 ซึ่งจะต้องจัดการศพและฝังภายในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมงนับแต่เสียชีวิตตามบทบัญญัติของศาสนา และตามหลักศาสนาอิสลามผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะสมรสกับคนที่นับถือศาสนาอื่นไม่ได้ ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นอยู่จะต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามก่อนจึงจะสมรสกับคนที่นับถือศาสนาอิสลามได้ ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจเรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบศพผู้ตายให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ผู้ตายได้อยู่กินเป็นภริยาจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 10 กว่าปี ผู้ตายมีชื่อในทะเบียนสัปบุรุษประจำมัสยิดจำเลยที่ 2 ประกอบการแต่งกายของผู้ตายที่โพกผ้าคลุมศีรษะอย่างประเพณีหญิงที่นับถือศาสนาอิสลามที่ปรากฏตามภาพถ่ายในหนังสือเดินทางเมื่อปลายปี 2539 แสดงว่าผู้ตายได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามนับแต่มาอยู่กินเป็นภริยาจำเลยที่ 1 จนถึงแก่ความตายเมื่อกลางปี 2540 ขณะมีอายุ 65 ปี ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ทำพิธีศพของผู้ตายตามแบบประเพณีที่ผู้ตายนับถืออยู่ขณะถึงแก่ความตายนับว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องสมควรแก่จารีตประเพณีท้องถิ่นที่ดีงาม ที่บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับผู้ตายจำเป็นต้องเป็นธุระจัดการศพหลังการตายให้และเพื่อสุขอนามัยของชุมชน คดีนี้แม้จำเลยที่ 1 มิได้เป็นทายาทของผู้ตายและไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพผู้ตาย แต่จำเลยที่ 1 อยู่กินเป็นสามีภริยากับผู้ตายมานานกว่า 10 ปี นับได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการทำศพผู้ตายได้ หากเห็นว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกมากที่สุดอันมีอำนาจหน้าที่จัดการทำศพของผู้ตายไม่สมควรเป็นผู้จัดการทำศพได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การต่อสู้คดีพอถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศพผู้ตายได้มีการจัดการฝังแล้วตามหลักศาสนาอิสลามที่ผู้ตายนับถือ จึงหมดความจำเป็นที่จะนำศพผู้ตายขึ้นมาจัดการทำศพ โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกให้ส่งมอบศพผู้ตายให้แก่โจทก์เพื่อจัดการทำศพอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยไม่ได้สั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นด้วยนั้น เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสีย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
( ชุติมา จงสงวน - ปัญญา ถนอมรอด - วรนาถ ภูมิถาวร )
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1649 ผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ใน อันที่จะจัดการทำศพของผู้ตาย เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดย เฉพาะให้จัดการดั่งว่านั้น
ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ หรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวน มากที่สุดเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อบุคคล ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US