การส่งคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี

การส่งคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หากมีผู้รับแทนต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278/1 และมาตรา 76 กล่าวคือผู้รับแทนนั้นต้องมีอายุเกิน 20 ปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือสำนักทำการงานของผู้รับคำสั่งอายัดนั้น มิฉะนั้นถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งคำสั่งอายัดให้แก่ผู้รับไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5421/2552

การส่งคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278/1 และมาตรา 76 เจ้าพนักงานบังคับคดีแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าได้ส่งคำสั่งอายัดให้แก่ผู้ร้องโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ในหนังสือรับรอง มีผู้รับแทนตามเอกสารท้ายหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 14 มีนาคม 2549 โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่าบุคคลผู้รับแทนนั้นมีอายุเกิน 20 ปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือสำนักทำการงานของผู้ร้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงย่อมไม่เป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าได้มีการส่งคำสั่งอายัดให้แก่ผู้ร้องถูกต้องตามกฎหมาย


คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2546 ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 32,625 บาท แก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 1,000 บาท ทุกวันที่ 20 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 20 พฤศจิกายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากผิดนัดจำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัด โจทก์ขอออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 จากผู้ร้องได้แก่ เงินค่าจ้าง เงินเดือน ร้อยละ 30 ต่อเดือน เงินโบนัสประจำปีร้อยละ 30 และเงินตอบแทนกรณีจำเลยที่ 1 ออกจากงาน เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา

เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 14 มีนาคม 2549 ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกกรรมการผู้จัดการของผู้ร้องมาทำการไต่สวนและมีคำสั่งต่อไป

ในชั้นไต่สวน ทนายผู้ร้องแถลงว่า จำเลยที่ 1 เดิมเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง แต่ได้โอนไปปฏิบัติงานที่บริษัทฐานการพิมพ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือผู้ร้อง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 ต่อมาในวันนัดพร้อมวันที่ 1 สิงหาคม 2549 เจ้าพนักงานบังคับคดีแถลงว่า ได้มีการแจ้งคำสั่งอายัดไปยังผู้ร้อง 2 ครั้ง ครั้งแรกส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ในหนังสือรับรอง มีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 ครั้งที่สองเป็นหมายอายัดของสำนักงานบังคับคดี ไม่มีบุคคลใดรับหมายแทน จึงทำการปิดหมายเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 ผู้ร้องทราบคำสั่งอายัดหลังจากมีการปิดหมาย ซึ่งจำเลยที่ 1 พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของบริษัทตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 แล้ว

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เจ้าพนักงานแจ้งการอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ให้แก่ผู้ร้องทราบโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับโดยชอบแล้ว ให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีนับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2547 อันเป็นวันที่ได้รับแจ้งการอายัดโดยชอบ จนถึงวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของผู้ร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องฎีกาว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 278/1 วรรคแรก บัญญัติว่า “ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจส่งเอกสารเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามลักษณะ 2 แห่งภาคนี้ และให้รายงานการส่งเอกสารนั้นรวมไว้ในสำนวนการบังคับคดีด้วย ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 73 มาตรา 74 มาตรา 76 มาตรา 77 มาตรา 78 และมาตรา 80 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ความในวรรคสองบัญญัติว่า “นอกจากการส่งเอกสารตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยให้ผู้มีหน้าที่นำส่งเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมไปรษณียากร กรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าเอกสารที่ส่งโดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์มีผลเสมือนเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ส่งและให้นำบทบัญญัติมาตรา 74 มาตรา 76 และมาตรา 77 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” มาตรา 76 บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานศาลไม่พบคู่ความหรือบุคคลที่จะส่งคำคู่ความหรือเอกสาร ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลนั้น ๆ ถ้าได้ส่งคำคู่ความหรือเอกสารให้แก่บุคคลใด ๆ ที่มีอายุเกิน 20 ปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือที่สำนักทำการงานที่ปรากฏว่าเป็นของคู่ความหรือบุคคลนั้น หรือได้ส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นตามข้อความในคำสั่งของศาล ให้ถือว่าเป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าได้มีการส่งคำคู่ความหรือเอกสารถูกต้องตามกฎหมายแล้ว” คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีแถลงต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2549 ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งคำสั่งอายัดให้แก่ผู้ร้องโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ในหนังสือรับรอง มีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 ตามเอกสารท้ายหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 14 มีนาคม 2549 ซึ่งคำแถลงของเจ้าพนักงานบังคับคดีประกอบเอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏรายละเอียดว่าบุคคลผู้ลงชื่อรับแทนนั้นมีอายุเกิน 20 ปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือที่สำนักทำการงานของผู้ร้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงย่อมไม่เป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าได้มีการส่งคำสั่งอายัดให้แก่ผู้ร้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะไต่สวนให้ได้ความจริงเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย


พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนให้ได้ความจริงตามที่กล่าวมา แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
( อิศเรศ ชัยรัตน์ - ชัยวุฒิ โลหชิตรานนท์ - ไมตรี ศรีอรุณ
ศาลแขวงนนทบุรี - นางรัชนีกร บุญพิทักษ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายสุทธิโชค เทพไตรรัตน์

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US